ผนึกพลังเด็กไทย ปลูกสำนึกสร้างนิสัย “ความปลอดภัยทางถนน”
ข้อมูลจาก : แถลงข่าวเปิดตัวโครงการ “เสริมพลังเด็กและเยาวชนเพื่อความปลอดภัยทางถนน ผ่านกลไกสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย”
ภาพโดย: Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ
แม้บ้านเราจะมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยานพาหนะบนท้องถนน ได้แก่ พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 และพ.ศ. 2565 ฉบับปรับปรุงล่าสุด เป็นกฎกติกาของผู้ใช้ยานพาหนะบนท้องถนนร่วมกันในสังคม
หากแต่คนไทยส่วนใหญ่กลับไม่สามารถปฏิบัติตามกฎจราจรได้ ด้วยเรามักขาดการสร้าง “นิสัย” มีวินัยในการปฏิบัติตามกฎจราจร จึงทำให้ตัวเลขอุบัติเหตุยังคงสูงต่อเนื่องในแต่ละปี
ปัจจุบันประเทศไทยกำลังถูกเอ่ยถึงบ่อยครั้งในแง่ลบ ด้วยมีสถิติในเรื่องอุบัติเหตุบนท้องถนนติดอันดับโลกหลายปีต่อเนื่อง ซึ่งต้นเหตุของปัญหานั้นส่วนใหญ่เกิดจากการขาดระเบียบวินัย และความประมาทของผู้ใช้ยวดยานพาหนะที่ไม่เคารพกฎกติกาจราจรของคนส่วนใหญ่ในสังคม
จากข้อมูลอัพเดทล่าสุดในปี 2566 ที่ผ่านมา ไทยยังคงพบผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนมากถึง17,498 คน ในส่วนของเยาวชนอายุ 15-24 ปี นั้นพบว่าเกิดอุบัติเหตุทางถนนในปีเดียวกันถึง 181,922 คน และต้องเสียชีวิตไปถึง 3,004 คน กล่าวได้ว่า ลูกหลานของเราต้องเสียชีวิตก่อนวัยอันควรไปอย่างน่าเสียดาย
วินัยจราจร สะท้อนวินัยคนในชาติ
การปฏิบัติตามกฎวินัยจราจรนั้น ไม่ได้เป็นเพียงเรื่องจิตสำนึกความรับผิดชอบของผู้ขับขี่และผู้ใช้รถใช้ถนน หากยังเป็นความรับผิดชอบต่อสังคมที่ควรปลูกฝังจนให้เกิดเป็น “จิตสำนึก” ตั้งแต่วัยเด็ก
เพื่อส่งเสริมแนวคิดดังกล่าว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงร่วมกับ กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย สภาเด็กและเยาวชนจังหวัด แผนงานความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับองค์การอนามัยโลกด้านความปลอดภัยทางถนน และภาคีเครือข่ายด้านความปลอดภัยทางถนน จับมือกัน ภายใต้โครงการ “เสริมพลังเด็กและเยาวชนเพื่อความปลอดภัยทางถนน ผ่านกลไกสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย” ขึ้น ด้วยหวังผลักดันให้เกิดการปลูกจิตสำนึกตั้งแต่วัยเด็ก เพื่อส่งเสริมนิสัยความมีวินัยติดตัวไปจนกลายเป็นอุปนิสัยถาวรอย่างยั่งยืน
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการ สสส. เอ่ยเปิดประเด็นว่า เพราะการบังคับใช้กฎหมายและการปลูกฝังค่านิยมคนในสังคมให้เคารพต่อกฎกติกาบนท้องถนนนั้น เป็นสิ่งที่ต้องทำควบคู่กัน
โดยในวัยผู้ใหญ่เราจำเป็นต้องใช้กฎหมายในการกำกับควบคุม แต่เนื่องจากที่ผ่านมา สังคมไทยละเลยไม่มีรากฐานในการสร้างพฤติกรรมคนให้มีวินัยอย่างเคร่งครัดตั้งแต่ต้น จึงทำให้คนทำผิดกฎหมายมีเยอะกว่าคนทำถูกกฎหมาย
“ในความเป็นจริงบทลงโทษต้องเกิดจากคนส่วนน้อยที่ทำผิด ไม่ใช่คนส่วนใหญ่ทำผิด ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราจะจับคนที่ไม่สวมหมวกนิรภัยของประเทศนี้ กลายเป็นเกินครึ่งที่ไม่สวมหมวกนิรภัย เท่ากับว่าเราจะต้องบังคับใช้กฎหมายกับคนมากกว่าครึ่งของประเทศนี้ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ แต่หากเราเริ่มที่การปลูกฝังสร้างนิสัยเขาก่อน อาจจะมีเพียง 5-10% ที่จำเป็นต้องใช้กฎหมายควบคุมบังคับ” ผู้จัดการ สสส. สะท้อนให้เห็นตัวอย่าง
“ดังนั้น สสส.มองว่า จะต้องเปลี่ยนให้คนกลุ่มใหญ่ทำตามกติกาก่อน ด้วยการสร้างนิสัยตั้งแต่ในกลุ่มวัยเด็กและเยาวชน”
นำร่อง เด็กคิด เด็กทำ เด็กนำ ผู้ใหญ่หนุน
สำหรับโครงการขับเคลื่อน “ความปลอดภัยบนท้องถนน” มุ่งสร้างนิสัย “มีวินัยและเคารพกฎกติกา” โดยเป็นความร่วมมือกันของภาคีเครือข่าย และสภาเด็กและเยาวชนทั้ง 8 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ นครปฐม สระแก้ว ศรีสะเกษ หนองคาย น่าน ตาก และนครศรีธรรมราช ร่วมกันขับเคลื่อนประเด็นความปลอดภัยทางถนน โดยเข้าไปมีส่วนร่วมทำงานทั้งระดับนโยบาย และระดับพื้นที่ ในการสะท้อนข้อมูลปัญหาการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนของเด็กและเยาวชน ร่วมคิดวางแผน สื่อสารความเสี่ยง แก้ไขสภาพแวดล้อมเสี่ยง และเสนอแนวทางแก้ไขเพื่อลดความสูญเสียในเด็กและเยาวชน ตามแนวคิด “เด็กคิด เด็กทำ เด็กนำ ผู้ใหญ่หนุน” เพื่อลดปัญหาอุบัติเหตุทางถนนอย่างยั่งยืน
โดยการขับเคลื่อนครั้งนี้ สสส. และภาคีเครือข่ายมุ่งหวังให้รูปธรรมใน 3 ประเด็น คือ 1.เกิดเครือข่ายเด็กและเยาวชนต้นแบบที่จะเป็นแกนนำหลักในการขับเคลื่อนงานด้านประเด็นความปลอดภัยทางถนนในระดับพื้นที่ เกิดการพูดหรือสะท้อนประเด็นความปลอดภัยทางถนนในระดับพื้นที่และทำให้สังคมให้ความสำคัญและตระหนักมากขึ้น 2. เด็กและเยาวชนที่สามารถเป็นนักสร้างสรรค์นโยบายสาธารณะ (Policy Maker) ในประเด็นความปลอดภัยทางถนนในระดับพื้นที่ที่สามารถผลักดันให้เกิดข้อสั่งการเพื่อแก้ไขสภาพแวดล้อมเสี่ยงหน้าโรงเรียนหรือชุมชน และ 3. เด็กและเยาวชนสามารถเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนประเด็นความปลอดภัยทางถนนได้อย่างต่อเนื่องให้กับประเทศในรุ่นต่อไป และสำคัญที่สุด เด็กและเยาวชนต้องปลอดภัยทุกครั้งที่เดินทาง
ผู้จัดการ สสส.กล่าวว่า สภาเด็กฯ ที่เข้มแข็งจะเป็นแกนหลักสำคัญในระดับจังหวัด สามารถเป็นพลังต่อการส่งเสียงที่สะท้อนสังคม หรือความต้องการของเขา
“เราคาดหวังว่าเด็กจะสามารถวิเคราะห์ เข้าใจปัญหาของเด็ก และสามารถมีส่วนในการสร้างรณรงค์ที่ตรงกับวัยกับรุ่นของเขา และจังหวัดเองก็จะสามารถวิเคราะห์ข้อมูลได้ว่าปัญหาอยู่ที่พฤติกรรรม นิสัย หรือที่สภาพแวดล้อม หรือปัจจัยอื่น ซึ่งตรงนี้เด็กสามารถส่งเสียง (Voice) ออกมาว่าเขาอยากให้ผู้ใหญ่ในจังหวัด อำเภอ หรือตำบลที่จะได้ดูแลความปลอดภัยทางถนนให้กับเขาอย่างไร”
หนุนเสริมสู่เครือข่ายเยาวชนระดับโลก
Olufunke Afesojaye ผู้แทนจาก Global Youth Coalition for road safety ซึ่งเป็นเครือข่ายความปลอดภัยทางถนนที่มีเยาวชนกว่า 2,400 คนจาก 129 ประเทศทั่วโลกเป็นสมาชิก ตอกย้ำถึงความสำคัญในเรื่อง “เสียง”ของเด็กที่ผู้ใหญ่ไม่อาจมองข้าม
โดยร่วมสนับสนุนถึงพลังของเด็กและเยาวชน ผ่านบทเรียนในการขับเคลื่อนบทบาทเยาวชนเพื่อกำหนดนโยบายความปลอดภัยทางถนน ที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) พร้อมกับมีการพัฒนาเครื่องมือและทักษะในการมีส่วนร่วมของเยาวชน ซึ่งในการประชุมสมัชชาเยาวชนโลกครั้งที่ 3 ที่จะเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568 ณ ประเทศโมร็อคโค Global Youth Coalition for road safety และเครือข่าย ยังมีเป้าสำคัญในการเรียกร้องให้เพิ่มการลงทุน ความร่วมมือและความรับผิดชอบจากหลายภาคส่วนอย่างจริงจัง เพื่อลดจำนวนผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2573
ด้าน สิงโต – สุธี ชุดชา รองประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย เป็นตัวแทนจากเด็กร่วมส่งเสียงสะท้อน โดยเผยว่า
“ผมมองว่าโครงการนี้ค่อนข้างมีประโยชน์ การนำร่องกับสภาเด็กฯ ใน 8 จังหวัด จะทำให้เขาได้มีโอกาสคิดหรือมีบทบาทในการรณรงค์อุบัติเหตุท้องถนนในแบบที่พวกเขาต้องการ และจะเป็นสารตั้งต้นทำให้เด็กเยาวชนเป็นแกนนำและใช้บทบาทตรงนี้ทำงานในพื้นที่ได้ด้วย”
ทั้งนี้ จากการสำรวจเครือข่ายสภาเด็กฯ ที่เข้าร่วมโครงการ เห็นว่าอุบัติเหตุทางถนนเป็นเรื่องใกล้ตัว โดยเคยพบเห็นอุบัติเหตุขณะเดินทาง 80% มีคนในครอบครัวหรือเพื่อนเคยเกิดอุบัติเหตุ 85% และตัวเองเคยเกิดอุบัติ 59% ทั้งนี้กว่า 93% ระบุว่า อยากมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการป้องกัน ลดอุบัติเหตุทางถนน
สิงโตเสริมกล่าวแสดงความเชื่อมั่นในศักยภาพและพลังของเครือข่ายสภาเด็กฯ ว่าจะสามารถร่วมพัฒนาเครื่องมือและกลไกใหม่ ๆ ในการส่งเสริมความปลอดภัยให้กลุ่มเด็กและเยาวชนได้
“แต่ถ้าเราทำงานตรงนี้เพียงคนเดียวยังไม่เพียงพอ ต้องอาศัยความร่วมมือภาคีเครือข่าย รวมถึงพลังน้อง ๆ เยาวชน ในการพัฒนากลไก โดยเริ่มจากน้อง ๆ ที่เขาจะบอกความต้องการว่าอยากขับเคลื่อนประเด็นไหน แต่ทั้งนี้ ต้องมีผู้ใหญ่สนับสนุน มีหน่วยงานที่หนุนเสริม”
สนับสนุนด้วยเสียงจากผู้ใหญ่ฝั่งภาครัฐ นิกร จำนง ประธานคณะที่ปรึกษาฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า หนึ่งในภารกิจของกระทรวงพม. โดยกรมกิจการเด็ก และเยาวชน คือการส่งเสริมสนับสนุนให้มีการจัดตั้งสภาเด็ก และเยาวชนทุกระดับในทุกจังหวัด ตั้งแต่ สภาเด็กและเยาวชนตำบล/เทศบาล สภาเด็กและเยาวชนอำเภอ สภาเด็กและเยาวชนจังหวัด สภาเด็กและเยาวชนเขต(กรุงเทพมหานคร) สภาเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานคร และสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย โดยได้หนุนเสริมบทบาทของเด็ก และเยาวชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการส่งเสริมความปลอดภัยบนท้องถนน สะท้อนถึงปัญหาที่พบ และร่วมแก้ไขปัญหาในอนาคตต่อไป
โดยนอกเหนือจากการหนุนเสริมบทบาทของเด็กและเยาวชนแล้ว ทาง พม.ยังให้ความสำคัญกับการป้องกันและการส่งเสริมมาตรการต่าง ๆ เพื่อสร้างความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนในเด็กและเยาวชน
“เราต้องทำให้เขามีความปลอดภัยก่อน ไม่ว่าจะเป็น การสร้างสภาวะแวดล้อมที่ปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนของเด็กและเยาวชน พร้อมด้วยการส่งเสริมและพยายามประสานกลไกดังกล่าวกับเครือข่ายความปลอดภัยทางถนนไปสู่ระดับโลก”
ปิดท้ายด้วย นพ.วิวัฒน์ ศีตมโนชญ์ ผู้จัดการแผนงานความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับองค์การอนามัยโลกด้านความปลอดภัยทางถนน กล่าวว่า การดำเนินโครงการฯ ครั้งนี้มุ่งเน้นให้เกิดการขับเคลื่อนทั้งในระดับนโยบายและระดับพื้นที่ เพื่อให้เกิดนโยบายและแนวทางปฏิบัติงานที่เอื้อให้เด็กและเยาวชนมีส่วนร่วมในการสร้างความปลอดภัยทางถนน ผ่านเครือข่ายสภาเด็กและเยาวชน ตลอดจนผลักดันให้เรื่องความปลอดภัยทางถนนเป็น 1 ในประเด็นสำคัญของเยาวชนที่ต้องให้ความสำคัญ โดยเฉพาะการสร้างเสียงสะท้อนจากเด็กและเยาวชนในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้