ผนึกพลัง’คลองเตยโมเดล’
เป็นความร่วมแรงร่วมใจกันเพื่อจัดทำ โครงการพัฒนากลไกการบริการเพื่อคุณภาพ ชีวิตเด็กและเยาวชนด้อยโอกาส หรือโครงการคลองเตยโมเดล จัดประชุมถอดบทเรียนเพื่อกำหนดทิศทางการดำเนินงานต่อไปเพื่อร่วมพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชนใน ชุมชนคลองเตย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส.
งานนี้คณะทำงานด้านเด็ก ร่วมกับมูลนิธิดวงประทีปมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัมฯ และอีกหลายมูลนิธิ โดย คุณกอบกาญจน์ ตระกูลวารี ผู้จัดการโครงการฯ กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของโครงการคลองเตยโมเดลว่า เกิดจากคณะทำงานด้านเด็ก ซึ่งเป็นเครือข่ายที่เกิดจากการรวมตัวขององค์กรสวัสดิการเด็กและครอบครัวจำนวน 21องค์กรพบว่าสถานการณ์ปัญหาเด็กมีเพิ่มมากขึ้นทุกพื้นที่ โดยเฉพาะ ในชุมชนแออัดคลองเตย ซึ่งมีประชากรมากกว่า 87,000 คนมีครัวเรือนมากกว่า 18,000 ครัวเรือน บนพื้นที่ 816 ไร่ ประกอบด้วย 42 ชุมชนย่อยถือเป็นชุมชนแออัดที่ใหญ่ที่สุดของประเทศในปัจจุบัน
และได้ชื่อว่าเป็นชุมชนที่มีปัญหาเด็ก และเยาวชนทุกรูปแบบ แม้ว่าจะมีองค์กรเอกชนด้านเด็กและเยาวชนมากถึง 8 แห่งที่อยู่ในพื้นที่ชุมชนคลองเตย แต่สถานการณ์ปัญหาเด็กและเยาวชนก็ยังไม่ลดลง ซ้ำยังมีความรุนแรง ซับซ้อนมากขึ้นตามความเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคม การทำงานต้องมุ่งเร่งแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้น ตลอดจนลักษณะการทำงานเป็นแบบเฉพาะงาน เฉพาะหน่วย ขาดการทำงานเชิงเครือข่ายขององค์กรเอกชนในพื้นที่ดังนั้น จึงเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่องค์กรทำงานด้านเด็กทั้งภาครัฐ เอกชน และ NGO หันหน้ามาร่วมมือช่วยกันแก้ไขปัญหา แลกเปลี่ยนเรียนรู้ พัฒนาแนวคิด แนวทาง การทำงาน เชื่อมประสานกลไกทั้งระบบครบวงจร และต่อเนื่อง เป็นผลให้ 10 องค์กร ขอจับมือร่วมเป็นเครือข่ายจัดทำโครงการพัฒนากลไกการบริการเพื่อคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชนด้อยโอกาส
“หัวใจสำคัญของการทำงาน คือ การป้องกันปัญหา ให้การคุ้มครอง ป้องกัน แก้ไข ฟื้นฟูและพัฒนาเด็กให้ได้ตามสภาวะความต้องการขั้นพื้นฐาน เริ่มแรกเห็นปัญหาหลายอย่าง แต่เมื่อเห็นต้นแบบการทำงานในหลายภาคส่วนก็ทำให้เกิดความคิดรวมกลุ่มเพื่อทำให้งานดีขึ้น ซึ่งเมื่อชวนบุคลากรในชุมชนในหน่วยงาน/องค์กรพัฒนาเอกชนที่เกี่ยวข้องมาระดมความคิดเห็นเริ่มแรกก็เกิดข้อ ถกเถียงเนื่องจากความคิดเห็นไม่เหมือนกัน คิดต่างกันและมีความกังวลค่อนข้างมาก เพราะพื้นที่คลองเตยมีความเสี่ยง แต่ละองค์กรก็ มีงานล้นมือ
แต่ด้วยความที่อยากจะพัฒนาวิธีการ ทำงานใหม่ๆ จึงได้ร่วมมือกัน จนในที่สุดก็เกิดความสำเร็จจนมีคนรู้จักในชื่อคลองเตยโมเดล โดยมีวัตถุประสงค์ 3 เรื่อง คือ 1.เพื่อพัฒนากลไกบริการ สำหรับเด็กและครอบครัวด้อยโอกาสในชุมชน 2.พัฒนาศักยภาพบุคลากรที่ปฏิบัติงานด้านเด็กและครอบครัวในการทำงานร่วมกันแบบบูรณาการและ 3.ศึกษารูปแบบบริการที่เหมาะสมสำหรับเด็กและครอบครัวด้อยโอกาสในชุมชนแออัด
โดยตั้งเป้าหมายการทำงาน ในปีแรกว่าจะมีการเชื่อมประสานขององค์กร 10 องค์กร เพื่อเชื่อมไปยังภาครัฐ สร้างกลไกให้เด็กมีสุขภาวะที่ดี ซึ่งถือเป็นเรื่องยากในปีที่ผ่านมาโครงการได้เน้นที่การพัฒนาศักยภาพบุคลากรผ่านการอบรมและการทดลองปฏิบัติงานร่วมกันอย่างต่อเนื่องผ่านแผนอายุ 0-5 ปี, 6-11 ปี, 12-18 ปี และแผนพิการ” กอบกาญจน์ กล่าว
ด้าน สุธาทิพย์ ธัชยพงษ์ ประธานคณะทำงานด้านเด็ก และคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ กล่าวว่า ชุมชนคลองเตยแม้ว่าเด็กมีปัญหามาก เนื่องจากพื้นที่ไม่เอื้อต่อสุขภาวะที่ดีของเด็ก แต่พบว่าพ่อ แม่ ผู้ปกครองมีความรักในบุตรหลานของตนเองมาก และอยากให้มีคนหรือองค์กรเข้ามาพัฒนาคุณภาพชีวิต ที่ผ่านมามีเด็กที่ได้รับการพัฒนาแล้วบางส่วน แต่ด้วยสภาพแวดล้อมปริมาณของปัญหาที่มีมาก จึงเกิดการรวมกลุ่มการทำงานแต่ละด้านขึ้นซึ่งมีหลายกลุ่ม ฉะนั้นจะทำอย่างไรให้กลุ่มเหล่านี้ได้หันมาทำงานร่วมกัน
“จึงเกิดโครงการคลองเตยโมเดลขึ้น ใน 15 เดือนแรกของการทำงานต้องปรับให้ ทั้ง 10 มูลนิธิหันหน้าร่วมมือเชื่อมโยงประสานข้อมูลทำงานร่วมกัน โดยบุคลากรที่มีความรู้ เข้มแข็งสามารถถ่ายทอดงานได้เป็นอย่างดีทำให้เกิดความเชื่อมั่นในการทำงานมากขึ้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายการที่ต่างคน ต่างทำตามบทบาทหน้าที่ขององค์กรตนเอง แต่เมื่อต้องมาร่วมกันทำงานและเกิดผลลัพธ์ที่ดี จึงเป็นสิ่งที่ น่ามหัศจรรย์มาก โดยโครงการนี้จะดำเนินการ ในระยะเวลา 3 ปี เพื่อให้เห็นกลไกการทำงานที่เกิดผลสำเร็จชัดเจน สามารถนำองค์ความรู้ไปช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้พ่อแม่ ผู้ปกครองมีความเข้าใจจนพัฒนาเด็กให้เติบโตได้อย่างเข้มแข็งและมีพลัง”
ประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ เลขาธิการมูลนิธิดวงประทีป กล่าวว่า เมื่อเจ้าหน้าที่ ทั้ง 10 องค์กรทำงานร่วมกันมากกว่า 1 ปี เห็นความเปลี่ยนแปลงของเจ้าหน้าที่เกิดความรัก ความสามัคคีกันมากขึ้น และได้กลุ่มพ่อแม่ ผู้ปกครองแต่ละพื้นที่มาทำงานร่วมกันด้วย แต่พบปัญหา เจ้าหน้าที่เมื่อได้รับการพัฒนาแล้วย้ายหนีหรือลาออกไป ส่งผลให้ขาดบุคลากร จึงเกิดความคิดว่าต้องพัฒนาผู้ปกครอง เพราะผู้ปกครองเป็นคน ในครอบครัว ชุมชนที่อยู่ตลอดเวลาไม่หนีไปไหน
“ดังนั้นจะทำอย่างไรให้ผู้ปกครองในชุมชนมีการกระจายความรู้ไปมากๆ แล้วรวบรวมทำให้เป็น Learning by doing คือเกิดการเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติ ทั้งนี้ เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในชุมชนคลองเตยจะก่อให้เกิดความสามัคคีคนในพื้นที่การทำงานแน่นอน”
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ