ผนึกกำลังฟื้นคืนแหล่งน้ำ ได้ปุ๋ยหมักจากผักตบชวา

          หากชาวบ้านและผู้นำละเลยจัดการปัญหาแหล่งน้ำของตัวเอง ต่อไปคนในชุมชนก็จะขาดน้ำกินน้ำใช้ แต่เมื่อร่วมแรงร่วมใจแก้ไขปัญหาแล้ว นอกจากจะได้แหล่งน้ำกลับคืนมา ก็ยังได้ปุ๋ยชีวภาพชั้นดี ไว้ใช้ในราคาถูกๆ ด้วย 


/data/content/25418/cms/e_abfklprtvz16.jpg


          ที่บ้านทุ่งสีเสียด หมู่ 8 ต.ทรายทอง อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ มีอ่างเก็บน้ำในหมู่บ้าน ชื่อ อ่างเก็บน้ำคลองตารวน มีเนื้อที่ประมาณ 40 ไร่ เดิมเป็นอ่างเก็บน้ำที่สะอาด ชาวบ้านในหมู่บ้านส่วนใหญ่ใช้น้ำทำการเกษตร และที่สำคัญเป็นแหล่งน้ำจืดใช้ทำประปาหมู่บ้าน ให้ชาวบ้านได้ใช้อุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน


          แต่เมื่อเวลาผ่านไป อ่างเก็บน้ำคลองตารวนมีวัชพืชปกคลุมจนเต็มอ่างทำให้มีสภาพน้ำเน่าเสีย ทำให้ชาวบ้านในชุมชนไม่มีน้ำที่สะอาดไว้ใช้ในชีวิตประจำวันได้ หากปล่อยไว้ ชุมชนอาจต้องสูญเสียแหล่งน้ำที่มีคุณภาพ เพราะมีน้ำแต่ไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ นานวันเข้าสภาพน้ำก็จะยิ่งยากต่อการฟื้นฟูให้กลับมามีคุณภาพที่ใช้ได้ หรืออาจต้องใช้ระยะเวลานานกว่าน้ำจะมีคุณภาพดีดังเดิม


          เหตุนี้ชาวบ้านทุ่งสีเสียด โดยการนำของ พรทิพย์ คงดี ผู้ใหญ่บ้าน จึงได้ทำโครงการฟื้นฟูแหล่งน้ำบ้านทุ่งสีเสียด ขึ้นมา โดยขอรับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งในการดำเนินโครงการนั้น ผู้ใหญ่บ้านพรทิพย์ บอกว่า ได้ใช้รูปแบบสภาผู้นำ โดยให้มีตัวแทนจากกลุ่มต่าง ๆ มาร่วมคิดและวางแผนการแก้ไขปัญหา และประสานหน่วยงานภาคีภายนอกมาร่วมกันหาทางแก้ไข


          “ตอนที่เราคิดทำโครงการนี้ขึ้นมา ก็เพราะสภาพน้ำมันไม่ไหวแล้ว ส่งกลิ่นเหม็น พอเอามาอาบก็คันไปทั้งตัว ที่สำคัญน้ำในอ่างเก็บน้ำคลองตารวนนี้ เป็นแหล่งน้ำดิบใช้สำหรับทำประปาหมู่บ้านด้วย หากปล่อยไว้ชาวบ้านก็จะไม่มีน้ำกินด้วย” ผู้ใหญ่พรทิพย์ เล่า


          เมื่อมีการหารือและวางแผนร่วมกันในสภาผู้นำชุมชนแล้ว จึงเริ่มดำเนินกิจกรรมลอกวัชพืชเมื่อวันที่ 10-14 พฤศจิกายน 2556 โดยมีภาคีหลายส่วนที่เข้ามาให้การสนับสนุน เช่น สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสนับสนุนเรือ 2 ลำ กำนันตำบลทรายทองสนับสนุนเรือ 1 ลำ นายก อบต.ทรายทองสนับสนุนน้ำมันใส่เรือ 1 แกลนลอน 20 ลิตร เทศบาลตำบลบางสะพานสนับสนุนรถกระเช้า เป็นต้น


          การลอกวัชพืชในครั้งแรกมีผู้เข้าร่วมกว่า 70 คน แต่เพราะวัชพืชจำพวก จอก แหน ผักตบชวา ทับถมกันหนามาก จึงไม่แล้วเสร็จในวันเดียว ทางทางสภาผู้นำและสมาชิกโครงการได้ดำเนินกิจกรรมร่วมกันลอกวัชพืชขึ้นจากแหล่งน้ำถึง 4 ครั้งด้วยกันในช่วงที่ผ่านมา ได้ปริมาณผักตบจำนวนมหาศาล จึงช่วยกันขนไปกองรวมกันไว้ เพื่อนำไปทำปุ๋ยหมัก


          ขณะเดียวกันเมื่ออ่างเก็บน้ำไม่มีวัชพืชแล้ว ชาวบ้านและสภาผู้นำชุมชนจึงได้ร่วมกันกำหนดมาตรการในการดูแลรักษาอ่างเก็บน้ำ เพื่อให้คงสภาพ สะอาด ปราศจากวัชพืชตลอดไป โดยมีการเฝ้าระวังกำจัดผักตบวัชพืชอย่างต่อเนื่อง เพราะมีการเกิดวัชพืชและผักตบแตกขึ้นมาใหม่ (ตามระยะเวลา)


           “ทางสภาผู้นำจะมีการลอกวัชพืชผักตบในครั้งต่อไปช่วงหลังสงกรานต์ และจะมีการตรวจวัดคุณภาพน้ำเพื่อนำ/data/content/25418/cms/e_cfmopuvwy289.jpgมาเปรียบเทียบผลการเปลี่ยนแปลงในการดำเนินกิจกรรมดังกล่าวภายในเดือนนี้ด้วย” ผู้ใหญ่บ้านพรทิพย์ บอก


           ส่วนผักตบชวาที่ได้จากการลอกออกมาเมื่อเดือนพฤศจิกายน และนำมากองถมไว้ ทางผู้ใหญ่บ้านพรทิพย์ได้ร่วมกับสมาชิกกลุ่มปุ๋ยหมัก ร่วมกันนำเอาผักตบชวามาทำปุ๋ยหมักเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2557 ที่ผ่านมา ซึ่งปุ๋ยหมักที่ได้นี้ จะนำไปแจกจ่ายให้กับสมาชิกที่ทำสวนปาล์มน้ำมัน และพืชเศรษฐกิจอื่นๆ ในชุมชน แต่ต้องรอประมาณ 6 เดือน ถึง 1 ปีจึงจะได้ใช้


            “วิธีการดูว่าปุ๋ยเริ่มใช้ได้ง่ายๆ โดยการสังเกต คือมีหญ้าขึ้นบนกองปุ๋ย หรือใช้มือล้วงลงไปสุดแขนถ้าไม่ร้อนใช้ได้ และสมาชิกได้มีการประชุมลงมติกันว่าขายในราคากระสอบละ 20 บาทเพื่อจัดตั้งเป็นกองทุน และคนที่ไม่เข้าร่วมแต่จะซื้อปุ๋ยก็จะขายอีกราคาหนึ่ง เพื่อจะได้มีทุนผลิตปุ๋ยต่อไป” ผู้ใหญ่บ้านพรทิพย์ กล่าว


           นี่คือผลพลอยได้ของการริเริ่ม เพื่อให้ชุมชนของตัวเองน่าอยู่ ตัวอย่างของบ้านทุ่งสีเสียด หากชาวบ้านและผู้นำละเลยจัดการปัญหาแหล่งน้ำของตัวเอง ต่อไปคนในชุมชนก็จะขาดน้ำกินน้ำใช้ แต่เมื่อร่วมแรงร่วมใจแก้ไขปัญหาแล้ว นอกจากจะได้แหล่งน้ำกลับคืนมา ก็ยังได้ปุ๋ยชีวภาพชั้นดี ไว้ใช้ในราคาถูกๆ ด้วย


 


         


             ที่มา : เว็บไซต์โกทูโน

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ