ผนึกกำลังต้านน้ำเมา ยั้งคนไปตายช่วงสงกรานต์

บทเรียนดีๆ ที่ต้องบอกต่อ

 ผนึกกำลังต้านน้ำเมา ยั้งคนไปตายช่วงสงกรานต์

          เทศกาลกลับบ้านเกิด กลับบ้านเก่าใกล้จะหมดเวลาครบ 7 วันอันตรายแล้ว แต่สิ่งที่ต้องมองต่อไปในภายภาคหน้าคือ การทำให้เป็นถนนปลอดเหล้า ปลอดคนเมา เพื่อความปลอดภัยตลอด 365 วันนั่นเอง

 

          เนื่องจากสถิติการเกิดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2550 พบว่า รถมอเตอร์ไซด์ทำให้เจ็บตายมากที่สุด เป็นอันดับ 1 คิดเป็น 85% ตามด้วยรถปิคอัพ 8%, รถนั่งส่วนบุคคล 3% โดยพฤติกรรมความเสี่ยงที่สำคัญอันดับ 1 คือ ไม่สวมหมวกนิรภัย ประกอบกับมีอาการเมาสุรา และขับรถเร็วกว่ากำหนด บางครั้งมีอาการเสี่ยงทั้งหมดรวมอยู่ด้วยกัน

 

          มูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 300 คน บาดเจ็บ 4,000 กว่าคน และช่วงระยะเวลาสั้นๆ นี้มีความเสียหายสูงถึง 2,706 ล้านบาท ความเสียหายทางด้านทรัพยากรบุคคลและเม็ดเงินที่ต้องสูญเสียไปโดยใช่เหตุราวกับช่วงดังกล่าวเป็นช่วงสงครามของประเทศที่มีคนเจ็บคนตายและความสูญเสียมากมายถึงเพียงนี้

 

          แม้ว่าช่วงวันหยุดยาวที่ผ่านมานี้ หลายหน่วยงานช่วยกันคนละมือในการรณรงค์ป้องกันไม่ให้เกิดการสูญเสียโดยไม่จำเป็น หน่วยงานหลักอย่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ฯลฯ ได้จัดกิจกรรมทั้ง 4 พื้นที่กิจกรรมในการนำร่องเป็นพื้นที่ปลอดแอลกอฮอล์ ภายใต้กิจกรรม “ท้องถิ่นร่วมใจ ประเพณีไทย ลดอุบัติเหตุ” ได้แก่ บริเวณถนนข้าวเหนียว จ.ขอนแก่น ถนนรอบคูเมือง จ.เชียงใหม่ ชุมชนบางลำพู และชุมชนวัดอรุณ ร่วมด้วย 13 อบต.ทั่วประเทศ ได้ร่วมกันรณรงค์การจัดงานประเพณีสงกรานต์ สนุก ปลอดภัย ไร้แอลกอฮอล์

 

          เน้นการป้องกันไปถึงท้องถิ่น โดยให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมมากขึ้น ซึ่งมี 5 มาตรการในการดำเนินการ คือ

 

          1.สนับสนุนการทำงานของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนทั้ง 69 จังหวัด 2.กำหนดให้มี 9 จังหวัดนำร่องให้ท้องถิ่นและชุมชนจัดกิจกรรมปลอดเหล้า ที่เป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุโดยตรง 3.รณรงค์ให้ประชาชนเห็นความสำคัญและผลเสียจากการดื่มภายใต้สโลแกน “ไม่ซ้อนคนดื่ม ตั้งสติก่อนสตาร์ท” 4.ประสานงานกับอาสาสมัครภาคประชาสังคม เฝ้าระวังในถนนสายหลักและสายรองทั่วประเทศ และ 5.ให้การสนับสนุนพื้นที่นำร่องที่รณรงค์ “สงกรานต์ สนุก ปลอดภัย ไร้แอลกอฮอล์” อาทิถนนข้าวเหนียว ชุมชนบางลำภู เป็นต้น

 

          ขณะเดียวกันมาตรการรณรงค์ลดอุบัติเหตุในช่วง 7 วันอันตรายช่วงสงกรานต์ ระหว่างวันที่ 11-17 เมษายน ก็เน้นหนักในกลุ่มรถมอเตอร์ไซด์และรถนั่งส่วนบุคคลเป็นหลัก เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุที่ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย โดยมาตรการที่ได้ดำเนินการมาตลอดในช่วงวันหยุดยาวนี้มี 3 มาตรการที่สำคัญ คือ

 

          1.มาตรการรณรงค์ในถนนสายหลัก โดยกลุ่มเยาวชนกว่า 1,600 คน ตั้งศูนย์บริการแก้ง่วงกระจายตามสถานีบริการน้ำมัน เพื่อให้ผู้ขับขี่ได้พักและเฝ้าระวังคนมึนเมา โดยจัดกาแฟ ผ้าเย็นแจกตามจุดรับบริการ 2.มาตรการรณรงค์ในส่วนกลาง โดยสมาชิกสหกรณ์สามล้อเอื้ออาทรเพื่อคนจน จำกัด และสหกรณ์สามล้อเอื้ออาทร จำนวน 200 คน จะร่วมกันให้บริการรับส่งฟรีอย่างปลอดภัยไร้แอลกอฮอล์ จำนวน 100 คัน ที่สถานีรถไฟฟ้าจตุจักร เพื่อรับส่งไปยังสถานีขนส่งหมอชิต

 

          และที่สำคัญคือ 3 มาตรการเชิงรุกในพื้นที่ต่างจังหวัด โดยสมาคมหมออนามัย ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลและชุมชน ตั้งจุดตรวจความปลอดภัยท้องถิ่น ใน 75 จังหวัดทั่วประเทศ และสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย ได้เตรียมแผนจัดทำข้อบังคับท้องถิ่นว่าด้วยความปลอดภัยทางท้องถนน ใน 9 จังหวัดนำร่อง เพื่อขยายผลทั่วประเทศต่อไป

 

          ตัวอย่างจากบทเรียนที่ทำให้น่าชื่นใจ คือ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในขอนแก่น ดำเนินการรณรงค์เรื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในงานประเพณีสำคัญอย่างสงกรานต์อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2547 ทำให้ผู้มาเที่ยวงานสงกรานต์มีการดื่มแอลกอฮอล์ถึง 43.8% และเมื่อมีโครงการรณรงค์ต่อเนื่อง จนถึงปี 2550 ที่ผ่านมา มีผู้เที่ยวงานดื่มแอลกอฮอล์เหลือ 24.3% เท่านั้น

 

          เช่นเดียวกับภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้สังเกตนับจำนวนพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม พบว่าพฤติกรรมไม่เหมาะสมในภาพรวมลดลงโดยปี 2549 พบเหตุการณ์ไม่เหมาะสม 248 ครั้งใน 1 ชั่วโมง ในขณะที่ปี 2550 ที่ผ่านมาพบลดลง 224 ครั้งใน 1 ชั่วโมง

 

          ซึ่งผลการดำเนินงานของปี 2551 สรุปผลเมื่อใด คงจะมีการถอดเป็นบทเรียน ทำข้อเสนอเชิงนโยบาย เสนอแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้ว่าราชการจังหวัดทุกแห่ง ให้ทดลองนำแนวทางปฏิบัติดังกล่าวไปใช้ในพื้นที่ โดยหวังว่า จะพลิกฟื้นคุณค่าความหมายของประเพณีสงกรานต์ ที่ถูกมอมเมาจากบริษัทเครืองดื่มแอลกอฮอล์มาหลายปี อีกทั้งจะป้องกันความสูญเสียจากความเมาของเครื่องดื่มมัจจุราชเหล่านี้

 

          แม้ว่าประสิทธิผลของความร่วมมือร่วมใจในการช่วยเหลือไม่ให้ชีวิตและทรัพย์สินต้องมลายไปกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงวันปีใหม่ไทยจะไม่ทำให้ยอดลดลงมากจนเหลือคนเจ็บคนตายเป็นแค่หลักหน่วย แต่ก็เป็นจุดริเริ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ลุกขึ้นมาดำเนินการในเรื่องนี้ ได้เห็นความสำคัญของการป้องกันพิษภัยของน้ำเมา จนนำไปสู่การถอดแบบสร้างบทเรียน

 

 

 

 

 

เรื่องโดย : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ที่มา : หนังสือพิมพ์บ้านเมือง

ภาพประกอบ : อินเตอร์เน็ต

 

 

 

 

Update : 27-08-51

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code