ผจก.กองทุน สสส. รับรางวัล World No Tobacco Day Award 2017
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี ฯ เสด็จทรงเปิดงานวันงดสูบบุหรี่โลก ประจำปี 2560 ดร.สุปรีดา ผจก.กองทุน สสส. ได้รับรางวัล World No Tobacco Day Award 2017 ผู้อุทิศตนดำเนินกิจกรรมส่งเสริมสนับสนุนการควบคุมการบริโภคยาสูบอย่างเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ ใช้ยุทธศาสตร์ไตรพลัง ควบคุมปัญหายาสูบ ขับเคลื่อนนโยบายตามแผนยุทธศาสตร์ควบคุมยาสูบแห่งชาติ-พัฒนาข้อมูลวิชาการ-รณรงค์สังคม ส่งผลอันตรการสูบบุหรี่คนไทยลดลงต่ำกว่า 20% เป็นครั้งแรกของไทย
วันที่ 31 พฤษภาคม เวลา 14.30 น. พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จ ณ ศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ค อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ทรงเปิดงาน “วันงดสูบบุหรี่โลก ประจำปี 2560” จัดโดย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชน โดยมี นพ.เจษฎา โชคดํารงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค ผู้บริหารระดับสูง และข้าราชการ เฝ้ารับเสด็จ โดยในปีนี้องค์การอนามัยโลกได้กำหนดประเด็นรณรงค์ว่า “Tobacco – a threat to development” หรือ “บุหรี่ : ตัวร้ายทำลายการพัฒนา” เพื่อแสดงความห่วงใยประชาชนการปกป้องการคุกคามจากภัยยาสูบ
โดยพระองค์เจ้าโสมสวลีฯ ได้ประทานรางวัลขององค์การอนามัยโลก หรือ เวิร์ล โน โทแบคโค เดย์ อวอร์ด ประจำปี 2560 (World No Tobacco Day Award 2017) ซึ่งเป็นรางวัลอันทรงเกียรติระดับนานาชาติ ในการรณรงค์การควบคุมการบริโภคยาสูบ องค์การอนามัยโลกจะมอบให้แก่บุคคลที่อุทิศตนดำเนินกิจกรรมส่งเสริมสนับสนุนการควบคุมการบริโภคยาสูบอย่างเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ ผู้ได้รับรางวัลปีนี้ ได้แก่ ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการผลักดัน และสนับสนุนการสร้างเครือข่ายเพื่อการดำเนินงานควบคุมการบริโภคยาสูบ การสร้างสุขภาวะที่ดี รวมถึงลดปัจจัยเสี่ยงหลักจากโรคที่เกิดจากการเสพยาสูบ โดยมีการทำงานตามยุทธศาสตร์ไตรพลังในการควบคุมปัญหายาสูบ คือ 1.สนับสนุนการพัฒนานโยบายตามแผนยุทธศาสตร์การควบคุมยาสูบแห่งชาติ 2.สนับสนุนการสร้างองค์ความรู้การควบคุมการบริโภคยาสูบ จากระดับองค์กรสู่ชุมชน เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติส่งเสริมตนให้มีสุขภาพที่ดี ไม่ริ เริ่ม ลองการบริโภคยาสูบ และ 3.สนับสนุนการขับเคลื่อนสังคม โดยการสร้างเครือข่ายการดำเนินงานควบคุมการบริโภคยาสูบ เพื่อลดปัญหาและป้องกันผลกระทบจากบุหรี่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งผลจากการทำงานอย่างเข้มข้น ส่งผลให้อัตราการสูบบุหรี่ของประชากรไทยลดลงจาก ร้อยละ 25.7 ในปี 2544 อยู่ที่ตำกว่า ร้อยละ 20 ในปี 2558 ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของไทยที่อัตราการสูบหรี่ลดลงในระดับนี้ นอกจากนี้ยังได้นำแนวทางการทำงานควบคุมยาสูบมาปรับใช้กับการจัดการปัญหาปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพด้านอื่นๆ ด้วย
นอกจากนี้ ยังได้ประทานรางวัลได้ประทานรางวัลให้แก่บุคคลหรือหน่วยงานที่อุทิศตนดำเนินกิจกรรม ส่งเสริม สนับสนุนการควบคุมการบริโภคยาสูบอย่างเข้มแข็ง มีประสิทธิภาพและมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ในสังคม โดยประทานรางวัลนี้เป็นประจำทุกปี ในปี 2560 นี้ กระทรวงสาธารณสุข และคณะกรรมการได้ร่วมกันพิจารณาคัดเลือกบุคคลและหน่วยงาน เข้ารับโล่ประกาศเกียรติคุณ จำนวนทั้งสิ้น 36 ราย แยกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ประเภทที่ 1 คือ จังหวัดที่มีการขับเคลื่อนการดำเนินงานควบคุมยาสูบดีเด่นตามแผนยุทธศาสตร์การควบคุมยาสูบแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2559-2562 จำนวน 11 ราย ประเภทที่ 2 คือ บุคคล/หน่วยงานที่ให้ความร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินงานควบคุมยาสูบของเครือข่ายด้วยดีตลอดมา จำนวน 20 ราย ประเภทที่ 3 คือ บุคคล/หน่วยงานที่ให้ความร่วมมือในกิจกรรมรณรงค์วันงดสูบบุหรี่โลก ประจำปี 2560 และสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อสังคมปลอดบุหรี่ด้วยดีตลอดมาจำนวน 5 ราย
นพ.เจษฎา โชคดํารงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค กราบทูลรายงานว่า องค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้ วันที่ 31 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันงดสูบบุหรี่โลก และขอความร่วมมือไปยังนานาประเทศในการร่วมรณรงค์ หรือจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากบุหรี่เป็นผลิตภัณฑ์ที่เสพติดและสามารถทำให้ผู้บริโภคถึงแก่ชีวิตได้ เพราะในควันบุหรี่มีสารเคมีมากกว่า 7,000 ชนิด เป็นสารพิษ 250 ชนิด และกว่า 70 ชนิดเป็นสารก่อมะเร็ง บุหรี่ยังเป็นสาเหตุของการเกิดโรคร้ายแรง รวมทั้งโรคมะเร็ง โดยผู้สูบบุหรี่จะมีอายุสั้นลงเฉลี่ย 12 ปี และป่วยหนักเป็นเวลา 2 ปีก่อนเสียชีวิต โดยผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ล่าสุดปี 2558 พบว่า ประชากรไทย 15 ปีขึ้นไป สูบบุหรี่ 10.9 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 19.9 นอกจากนี้ ยังพบปัญหาเด็กไทยที่สูบบุหรี่ 7 ใน 10 คน จะเสพติดบุหรี่ไปตลอดชีวิต ไม่สามารถเลิกสูบได้ ส่งผลให้สูญเสียทรัพยากรบุคคลของชาติ
โดยในปีนี้องค์การอนามัยโลกได้กำหนดประเด็นรณรงค์ว่า “Tobacco – a threat to development” หรือ “บุหรี่ : ตัวร้ายทำลายการพัฒนา” เพื่อเป็นการแสดงความห่วงใยของภาครัฐถึงประชาชน การปกป้องการคุกคามจากภัยยาสูบ จึงเป็นอีกภารกิจที่มีความสำคัญเร่งด่วน เพื่อลดการสูญเสียจากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ และลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจของประเทศในการบำบัดรักษาสุขภาพผู้ป่วยจากการเสพติดยาสูบผ่านมาตรการต่างๆ โดยเฉพาะมาตรการด้านกฎหมาย ซึ่งมีการออกพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 และจะมีผลใช้บังคับในวันที่ 4 กรกฎาคมนี้ รวมถึงมาตรการขึ้นภาษียาสูบ ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยตัดวงจรการบริโภคยาสูบในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย และยังทำให้รัฐบาลมีรายได้เพิ่มขึ้นมาเป็นงบประมาณสนับสนุนการให้บริการสุขภาพถ้วนหน้า และสนับสนุนโครงการด้านสุขภาพอื่นๆ