‘ป้ามล’ ครูต้นแบบ ครูผู้กล้าเปลี่ยน

/data/content/27061/cms/e_aegnqstuxy46.jpg


          สคล.-สสส.จัดกิจกรรมเชิดชูครู “ป้ามล” ต้นแบบครูผู้กล้าเปลี่ยน ดึงเด็กก้าวพลาดกลับคืนสู่สังคม “อดีตเด็กบ้านกาญฯ” เผยได้ชีวิตใหม่กลับใจเป็นคนดีเพราะแง่คิดคำสอนจากป้ามล ด้าน“รองผู้ว่ากทม.”หวังช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้ครู นักเรียน บุคคลทั่วไปในการใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า


          วันนี้ (11 ม.ค.) ที่โรงแรมเอบีน่าเฮ้าส์ เมื่อเวลา10.00น. นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานกล่าวเปิดกิจกรรมเนื่องในโอกาสวันครู และเชิดชูต้นแบบครูผู้กล้าเปลี่ยน “ป้ามล” ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย)บ้านกาญจนาภิเษก จัดโดย สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.) มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล มูลนิธิสื่อเพื่อเยาวชน เครือข่ายเด็กรุ่นใหม่ไม่พนัน เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ภายในงานมีการร่วมร้องเพลงจุดเปลี่ยน การอ่านบทกวี “ครูคือใคร” และพิธีไหว้ครูที่เคารพ จากกลุ่มนักเรียน นักศึกษาที่เข้าร่วมกว่า150 คน


          นางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “เพื่ออนาคตลูกหลานไทย (ผู้ใหญ่) ควรทำอย่างไรดี” ว่า ตนต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะทำให้ทุกคนเห็นว่าความพิการทั้งกายและจิตใจของเด็กๆนั้นมาจากเชื้อโรคที่เรียกว่า“คนทำ”การที่สังคมวางเฉยต่อเรื่องเหล่านี้จึงไม่ต่างอะไรจากการเป็นผู้เพาะเชื้อ และขอให้เชื่อว่าความผิดพลาดในชีวิตของเด็กไม่ได้เกิดจาการไม่มีทักษะอาชีพ แต่เป็นเพราะเด็กยังไม่มีทักษะในการจัดการกับความทุกข์ ความรัก ความจน ความคับแค้นในชีวิต แม้สถานพินิจฯจะเป็นสถานที่ที่สามารถบำบัดฟื้นฟูเยาวชนและคืนคนดีกลับสู่สังคม ขณะเดียวกันต้องไม่ลืมว่าเด็กที่ถูกกระทำด้วยความรุนแรงของผู้คุม จะหมดศรัทธาในระบบความยุติธรรม ไม่ศรัทธาในผู้ใหญ่ ไร้ศรัทธาในเจ้าหน้าที่และที่เลวร้ายที่สุดคือเขาจะยอมแพ้ที่จะศรัทธาในความดีที่เหลืออยู่ในตัวเอง


          “กระบวนการที่บ้านกาญฯใช้คือจะให้เด็กๆมองที่ตัวเอง ว่าเขามีอะไรที่หายไป มีอะไรที่เหลืออยู่ อย่าให้ปัญหาต่างๆมาปิดกั้นแสงสว่างและโอกาสในชีวิต ซึ่งผู้ใหญ่ไม่ต้องกังวลว่าเด็กจะไม่รู้ว่าอะไรดีอะไรไม่ดี เพราะเด็กเหมือนต้นไม้พวกเขาโตเข้าหาแสงเสมอ จึงอยากให้ผู้ใหญ่ช่วยทำตัวเป็นแหล่งกำเนิดแสงให้เด็ก เพราะการไปด่าไปว่าเด็กซ้ำๆไม่ได้ทำให้อะไรๆดีขึ้น ผลคือเด็กจะจำไม่ได้อีกต่อไปว่าตัวเองก็มีด้านดีอยู่ เมื่อเด็กเชื่ออย่างนั้นแล้วก็ยากที่จะแก้ไขได้ ดังนั้นเราต้องช่วยกันเป็นครู คอยหล่อหลอมเด็ก สร้างเด็กด้วยความเข้าใจ อย่าลืมว่าเด็กทุกคนต้องการความรักในปริมาณที่มากและจะต้องการมากที่สุดในวันที่เขาทำเรื่องไม่ดีทำเรื่องเลวร้ายที่สุด วันที่เขาโดนจับ วันที่เด็กหญิงคนหนึ่งตั้งท้อง วันที่เขาเป็นผู้แพ้ ทุกวันนี้สังคมไทย มีพื้นที่ดีๆ ที่ให้โอกาส เด็ก เยาวชน ทำสิ่งดีๆ สร้างสรรค์ น้อยมาก แต่กลับปล่อยให้ผู้ใหญ่บางกลุ่มบางพวกเห็นเด็ก เยาวชนเป็นเหยื่อ หาผลประโยชน์แม้จะทำลายชีวิต อนาคตของเยาวชน เช่น บรรดาอบายมุข สิ่งเสพติดทั้งหลาย ผู้มีอำนาจในสังคมไทยจึงต้องตระหนักถึงปัญหานี้ให้มาก” นางทิชา กล่าว


          นายเอ (นามสมมติ) อายุ27ปี อดีตเยาวชนที่เคยใช้ชีวิตในศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก กล่าวว่า เคยต้องโทษคดีชิงทรัพย์ตอนอายุ16ปี และอยู่ที่บ้านเมตตาได้ไม่นานขอทำเรื่องย้ายไปอยู่ที่บ้านกาญฯ แรกๆไม่เคยเชื่อว่ากระบวนการจากบ้านกาญฯจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้ แต่เมื่อได้เจอป้ามล ทำให้เรียนรู้อะไรจาก/data/content/27061/cms/e_dfghklnrtv59.jpgที่นั่นมากมาย ป้ามลเป็นทั้งแม่ทั้งครู สอนให้รู้จักการให้เกียรติเคารพผู้อื่น ที่ผ่านมาได้รับโอกาสจากป้ามลเยอะมาก ไม่คิดว่านอกจากพ่อแม่จะมีใครที่หวังดีกับเรา แม้จะเคยทำผิดลาดบ่อยครั้ง เช่น แสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ก้าวร้าว ไม่เคารพกฎในบ้าน และที่ร้ายแรงคือ มีเรื่องชกต่อยกับครู่อริในบ้านกาญฯ จนต้องถูกส่งไปดำเนินคดีหลายครั้ง แต่ป้ามลก็ให้โอกาส ไม่เคยโกรธหรือแสดงความไม่พอใจ ขณะเรียกให้ไปพบก็คอยอบรมสั่งสอน มีคำแนะนำในสิ่งดีๆทำให้ฉุกคิดจนตั้งสติได้เห็นถึงอนาคต


          “กว่า8เดือนที่ผมได้อยู่ที่บ้านกาญฯ ทำให้รู้ว่านี้คือบ้านที่อบอุ่น และป้ามลเป็นครูคนแรกที่ให้โอกาส สอนผมทุกอย่างทำให้ผมคิดได้และเลิกต่อต้าน เลิกเอาแต่ใจเลิกเอาความคิดตัวเองเป็นใหญ่ ป้ามลเป็นครูที่ให้ชีวิตใหม่ หากเปรียบก็คงเป็นเหมือนไม้พายเรือที่คอยช่วยให้เด็กคนนี้ไปถึงฝั่ง จนปัจจุบันนี้ผมได้นำสิ่งดีๆที่ป้ามลและกระบวนการจากบ้านกาญฯมาใช้ในการดำเนินชีวิตและการทำงานของผม” นายเอ กล่าว


          ขณะที่ ดร.ผุสดี ตามไท รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวในฐานะเพื่อนที่ร่วมทำงานและสนับสนุนส่งเสริมกิจกรรมต่างๆร่วมกัน ว่า ป้ามลเป็นคนที่มีลักษณะพิเศษ4อย่าง คือ1.เชื่อมั่นและศรัทธาในความดีของทุกคน 2.มีความอดทนสูง ติดตามและแก้ไขปัญหาต่อสิ่งที่ท้าทายเสมอ 3.เป็นนักสู้ที่ยืนหยัดบนความถูกต้อง กล้าเผชิญต่อสิ่งต่างๆเพื่อเด็กเยาวชน และ4.รักคนอื่นโดยไม่มีเงื่อนไข ที่ผ่านมาป้ามลสามารถดึงเด็กที่ก้าวพลาด กล่อมเกลา ให้โอกาสจนคืนกลับสู่สังคมอย่างมีคุณภาพ โดยมองที่หลักการไม่มองที่ตัวบุคคล สิ่งต่างๆเหล่านี้จึงเป็นเหมือนการสร้างแรงบันดาลใจให้กับครู นักเรียน และบุคคลทั่วไปในการใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า ป้ามลเป็นผู้หญิงธรรมดาที่มีพลังยิ่งใหญ่ กล้าคิด กล้าทำ นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงได้ อย่างก็ตาม ขอฝากให้กำลังใจและชื่นชมครูทุกท่านที่ร่วมกันทำงานหนักบ่มเพาะเด็กๆเพื่อเป็นอนาคตของชาติต่อไป


 


 


           ที่มา : หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการ


           ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code