ป้องกันและฟื้นฟู สูงวัย
ที่มา : เดลินิวส์
แฟ้มภาพ
เวชศาสตร์ฟื้นฟู สำหรับผู้สูงวัย อาจไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป เพราะจริง ๆ แล้ว แนวคิดการฟื้นฟู ควรครอบคลุมถึงการป้องกัน เพื่อทำให้เป็นผู้สูงวัยสุขภาพดี และห่างไกลจากภาวะอันตรายของโรคต่างๆ ที่ผู้สูงวัย ควรรู้ หาแนวทางป้องกันได้อย่างถูกต้อง
รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง กฤษณา พิรเวช ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า โรคที่มักพบบ่อยในผู้สูงวัย และจำเป็นต้องทำการฟื้นฟูคือ โรคหลอดเลือดสมอง เนื่องจากเมื่อเป็นโรคนี้แล้วผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีภาวะอ่อนแรงครึ่งซีก หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าอัมพาตครึ่งซีก เนื่องจากเซลส์สมองขาดเลือดไปหล่อเลี้ยง ทำให้การทำงานของสมองผิดปกติ
ผลที่ตามมาคือผู้ป่วยมีอาการ แขนขาอ่อนแรง สูญเสียการทรงตัว พูดไม่ได้ ปากเบี้ยว เห็นภาพซ้อน มีปัญหาเรื่องการสื่อสารและการรับรู้ บางรายอาจหมดสติ อาการดังกล่าวเป็นแบบเฉียบพลัน และอาจมีสัญญาณเตือนนำมาก่อน เช่นมีอาการอ่อนแรงช่วงสั้น ๆ แล้วหายเป็นปกติ ผู้ป่วยที่มีภาวะเสี่ยง เช่น มีโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคไต โรคไขมันในเลือดสูง เป็นต้น ควรรีบไปโรงพยาบาลพบแพทย์ โดยด่วน เมื่อมีอาการดังกล่าว
ภาวะข้อเสื่อม ก็เป็นอีกปัญหาที่พบมากในผู้สูงวัย เพราะเมื่อคนเรามีอายุมากขึ้น อวัยวะต่างๆ ในร่างกายก็เริ่มมีภาวะเสื่อมถอย ประสิทธิภาพการทำงานลดลง ภาวะข้อเสื่อมที่พบบ่อย คือ ข้อเข่า โดยในผู้สูงวัยเพศหญิง และมีน้ำหนักตัวเกิน
นอกจากนี้ยังพบภาวะข้อเสื่อมได้บริเวณกระดูกข้อต่อต่าง ๆ เช่น บริเวณ คอ หลัง ไหล่ บางรายมีอาการปวดเรื้อรัง ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน บางรายเป็นมากอาจมีอาการเส้นประสาทถูกกดทับ ดังนั้นผู้สูงวัยจึงควรรู้วิธีชะลอภาวะข้อเสื่อม และเรียนรู้วิธีการฟื้นฟูเมื่อมีอาการข้อเสื่อม
ทั้งนี้ เวชศาสตร์ฟื้นฟู ไม่ใช่แค่การกายภาพบำบัดอย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่รวมถึงการตรวจวินิจฉัยโดยแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู ตั้งแต่การซักประวัติ ตรวจร่างกาย วินิจฉัยแยกโรค ประเมินปัญหาของโรค ภาวะแทรกซ้อน รวมทั้งวิเคราะห์หาสาเหตุ และปัจจัยที่ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้เหมือนปกติ แล้วจึงวางแผนการรักษา บำบัด และฟื้นฟู โดยการใช้ยา หรือการรักษาโดยวิธีต่างๆทางกายภาพบำบัด การออกกำลังกายที่เหมาะสม ตลอดจนการฟื้นฟูโดยทีมสหสาขาวิชาชีพ เช่น กิจกรรมบำบัด อรรถบำบัด จิตบำบัด ดนตรีบำบัด เป็นต้น
นอกจากการฟื้นฟูผู้ป่วยแล้ว ยังต้องมีการพูดคุยกับญาติและครอบครัว เพื่อให้เกิดความเข้าใจในกระบวนการฟื้นฟู การตั้งเป้าหมายร่วมกัน และร่วมมือกันไปให้ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ เพื่อให้ผู้ป่วยและญาติสามารถกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดของการฟื้นฟู.