ป้องกันระวังโรค’ปอดบวม’
ที่มา : หนังสือพิมพ์สยามรัฐ
แฟ้มภาพ
แพทย์แนะป้องกันโรคปอดบวม แนะเลี่ยงเข้าไปอยู่ในที่คนแออัด ผู้ที่ป่วยเป็นไข้หรือมีอาการของระบบทางเดินหายใจ ควรปิดปากเวลาไอ จาม สวมหน้ากากอนามัยล้างมือบ่อยๆ เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อโรค
รศ.นพ.ชิษณุ พันธุ์เจริญ หน.สาขาวิชาโรคติดเชื้อเด็ก ระบุเกิดจากการติดเชื้อโรค โดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส ซึ่งเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุสำคัญคือ เชื้อนิวโมคอคคัส ส่วนเชื้อไวรัสที่สำคัญคือ เชื้อไข้หวัดใหญ่ คนกลุ่มเสี่ยงที่จะป่วยและอาจมีอาการรุนแรงและพบภาวะแทรกซ้อนได้บ่อย ได้แก่ เด็กอายุ 5 ขวบปีแรก คนวัย 50 ปีขึ้นไป และผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ เบาหวานตับ ปอด ไต ภูมิคุ้มกันบกพร่อง ฯลฯ
นอกจากนี้ อาการ มีไข้ ไอมีเสมหะ หายใจเหนื่อยหอบ เจ็บแน่นหน้าอก ซึ่งแพทย์สามารถวินิจฉัยโรคจากอาการและตรวจร่างกายผู้ป่วย เอกซเรย์ปอดและตรวจเสมหะ การรักษาจะมีการให้ยาปฏิชีวนะ (โรคปอดบวมจากเชื้อแบคทีเรีย) หรือยาต้านไวรัส (โรคปอดบวมจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่) ให้ออกซิเจน และให้สารน้ำทางหลอดเลือด
ทั้งนี้ โรคนี้ป้องกันได้โดยหลีกเลี่ยงเข้าไปอยู่ในที่คนแออัด ผู้ที่ป่วยเป็นไข้หรือมีอาการของระบบทางเดินหายใจ ควรปิดปากเวลาไอจาม สวมหน้ากากอนามัยล้างมือบ่อยๆ เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อโรค ที่สำคัญควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรงและทำให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันในการป้องกันโรคด้วยการฉีดวัคซีน คือ วัคซีนไอพีดีและวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เด็กอายุ 2 เดือน-5 ปี แนะนำให้ฉีดวัคซีนไอพีดีชนิด 10 หรือ 13 สายพันธุ์1-4 ครั้ง แล้วแต่อายุเด็ก ผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัวบางอย่างแนะให้ฉีดวัคซีนไอพีดีชนิด 13 สายพันธุ์ และตามด้วยวัคซีนไอพีดีชนิด 23 สายพันธุ์
ส่วนวัคซีนไข้หวัดใหญ่แนะนำให้ฉีดปีละครั้งสำหรับเด็กเล็ก ผู้สูงวัย หญิงตั้งครรภ์ คนอ้วน บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หรือแม้แต่สำหรับคนที่มีสุขภาพแข็งแรง