ป้องกันท้องวัยรุ่น แม่วัยใสได้เรียนต่อ
ที่มา : ผู้จัดการรายวัน
ภาพประกอบจากเว็บไซต์ MGR Online
กรมอนามัยเผย กม.ป้องกันท้องวัยรุ่น กำหนดชัด ห้าม "โรงเรียน" ไล่ นร.ตั้งครรภ์ออก คุ้มครองให้ได้เรียนต่อ พร้อมรับสวัสดิการสังคม ตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัดแก้ปัญหาเฉพาะพื้นที่ ยก "โคราช" ต้นแบบบูรณาการทุกภาคส่วน ลดท้องวัยรุ่นสำเร็จ
เมื่อวันที่ 19 ก.ย. ที่ผ่านมา ในเวทีแลกเปลี่ยน "นครราชสีมา : ต้นแบบการจัดการและการแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น" จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ จ.นครราชสีมา
สมหมาย วิเชียรฉันท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ในปี 2552 จ.นครราชสีมา มีหญิงอายุ 15-19 ปี มาคลอดเฉลี่ยสูงถึงวันละ 13 คน หรือคิดเป็น 58 คนต่อวัยรุ่นพันคน ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ ที่น่าห่วงคือ 80% ยังอยู่ในระบบการศึกษา จึงปรับการทำงานจากการแก้ไขปัญหาเป็นยุติปัญหา ภายใต้กลยุทธ์การจับคู่ทำงานระหว่างสถานศึกษากับสถานบริการสุขภาพ 400 โรงเรียน 400 โรงพยาบาล ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. เพื่อสอนให้นักเรียนมีทักษะชีวิต รู้จักปฏิเสธ มีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย ซึ่งที่ผ่านมาสามารถทำได้ดี จึงได้ขยายกิจกรรมไปในโรงเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาทุกแห่งของจังหวัด รวมไปถึงกลุ่มอาชีวะและราชภัฏด้วย ทำให้สามารถลดอัตราหญิงอายุ 15-19 ปีที่มาคลอดบุตรเหลือ 48 คนต่อวัยรุ่นพันคน ซึ่งทิศทางในอีก 10 ปีข้างหน้าภายใต้ พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น จ.นครราชสีมาตั้งเป้าหมายในการลดอัตราการคลอดในหญิงอายุ 15-19 ปีให้เหลือ 25 คนต่อวัยรุ่นพันคน และจะขยายรูปแบบการทำงานดังกล่าวไปในเขตสุขภาพที่ 9 "นครชัยบุรินทร์" คือใน จ.ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ด้วย
นพ.กิตติพงศ์ แซ่เจ็ง ผู้อำนวยการสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย สธ. กล่าวว่า ขณะนี้ พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 มีผลบังคับใช้แล้วเมื่อ วันที่ 29 ก.ค.ที่ผ่านมา ครอบคลุมการดูแลวัยรุ่นคือ อายุตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป แต่ถึง 20 ปี สาระหลักสำคัญของ พ.ร.บ.ฉบับนี้คือ 1. สถานศึกษาต้องจัดให้มีการสอนเพศวิถีศึกษาอย่างเหมาะสม จัดหา และพัฒนาผู้สอนวิถีเพศศึกษา ให้คำปรึกษาช่วยเหลือและคุ้มครองวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ให้ได้รับการศึกษาต่ออย่างเหมาะสม และส่งต่อให้ได้รับสวัสดิการสังคม 2. สถานบริการสุขภาพต้องให้ข้อมูลความรู้และจัดบริการอนามัยเจริญพันธุ์ รวมทั้งส่งต่อให้ได้รับสวัสดิการสังคม 3. สถานประกอบกิจการที่มี วัยรุ่นทำงานอยู่ต้องให้ข้อมูลความรู้และส่งเสริมให้เข้าถึงบริการอนามัยเจริญพันธุ์ รวมทั้งส่งต่อให้ได้รับสวัสดิการสังคม 4. หน่วยงานด้านสวัสดิการสังคมต้องจัดสวัสดิการสังคมให้กับวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์จนถึงหลังคลอด ได้รับการฝึกอาชีพ การรับบุตรบุญธรรม เป็นต้น และ 5. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจออกข้อบัญญัติท้องถิ่นเพื่อคุ้มครองสิทธิและสนับสนุนการเข้าถึงบริการต่างๆ ตามสิทธิของวัยรุ่น โดยกฎหมายกำหนดให้ 5 กระทรวงหลักคือ สธ. กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) การะทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ทำงานร่วมกัน และแต่ละกระทรวงต้องไปออกกฎกระทรวงเพื่อให้หน่วยงานนำไปปฏิบัติ
"พ.ร.บ.ฉบับนี้กำหนดให้มีการตั้งคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ ในวัยรุ่น ซึ่งเป็นคณะกรรมการระดับชาติ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ในการจัดทำนโยบายยุทธศาสตร์ และให้มีการตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และมีหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาร่วมเป็นกรรมการ เนื่องจากแต่ละพื้นที่แต่ละจังหวัดมีสภาพปัญหาและสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน เมื่อมีคณะกรรมการระดับจังหวัดก็จะช่วยให้ทราบปัญหาที่แท้จริงในพื้นที่ และหากแนวทางที่เหมาะสมกับพื้นที่ของตัวเองได้ เช่น พ่อแม่ยังไม่เข้าใจเรื่องการสอนเพศวิถีที่ถูกต้อง การมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย หรือการเข้าถึงบริการอนามัยเจริญพันธุ์ คณะกรรมการระดับจังหวัด ก็ต้องหาแนวทางในการประชาสัมพันธ์หรือปรับทัศนคติให้พ่อแม่เข้าใจให้ได้ หรือการให้โอกาสเรียนต่อแก่นักเรียนที่ตั้งครรภ์ ก็ต้องไปทำความเข้าใจกับโรงเรียนว่าไม่สามารถไล่ออกได้ และหากมีแรงกดดันในโรงเรียน โรงเรียนก็ต้องเข้าไปแก้ปัญหา เพื่อไม่ให้เด็กลาออก เป็นต้น ซึ่งการทำงานของ จ.นครราชสีมาที่มีการทำงานร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถือเป็นตัวอย่างที่ดีที่สามารถลดปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นลงได้" นพ.กิตติพงศ์ กล่าว
ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผอ.สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่า จากสถิติการคลอดบุตรของแม่วัยรุ่นประเทศไทย ปี 2558 พบว่า มีวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปี มาคลอดบุตรรวม 104,289 คน เท่ากับแต่ละวันมีเด็กเกิดจากแม่วัยรุ่นถึง 286 คน ที่ผ่านมา สสส.สนับสนุนกลไกการทำงานร่วมกันของภาคส่วนหลักใน 20 จังหวัด ซึ่งนครราชสีมาเป็นหนึ่งในจังหวัดดังกล่าว โดยอาศัยมาตรการ 9 ภารกิจ ซึ่งพัฒนามาจากกรณีศึกษาจากประเทศอังกฤษที่องค์การอนามัยโลกยกย่องให้เป็นโมเดลความสำเร็จในการทำงานเรื่องนี้ ร่วมกับบทเรียนในไทย โดย 9 ภารกิจประกอบด้วย
1. มีกลไกประสานการทำงานระดับจังหวัด
2. การทำงานร่วมกับผู้ปกครองให้มีทักษะการคุยเรื่องเพศกับลูก
3. มีกลไกสนับสนุนให้สถานศึกษาสอนเรื่องทักษะชีวิตและเพศวิถีศึกษารอบด้าน
4. การทำงานกับกลุ่มเสี่ยงเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหา
5. รณรงค์สื่อสารเพื่อสร้างความตระหนักถึงความรับผิดชอบ เพื่อชะลอการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก
6. มีหน่วยงานสุขภาพที่เป็นมิตรกับวัยรุ่น 7. ระบบบริการที่เชื่อมโยงระหว่างสุขภาพ การศึกษา และสังคม
8. การจัดให้มีพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็กและเยาวชน และ
9. มีระบบข้อมูล เพื่อติดตามความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยมาตรการสำคัญที่ส่งผลต่อความสำเร็จคือ การสร้างการเรียนรู้เรื่องเพศวิถีที่เหมาะสมแต่ละช่วงวัย ทั้งพัฒนาการทางเพศ สัมพันธภาพ ความเท่าเทียมทางเพศ การเคารพสิทธิ การคุมกำเนิด เพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย และการจัดบริการอนามัยเจริญพันธุ์ที่เป็นมิตรกับวัยรุ่น
บุญช่วย นาสูงเนิน ผู้จัดการโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น จ.นครราชสีมา กล่าวว่า หลักสูตรเพศศึกษาในโรงเรียนต้นแบบทำได้ผลเป็นอย่างดี แต่ต้องเปลี่ยนวิธีทำงานให้ได้ผลถึงเด็กและเยาวชนทั้งจังหวั 150,000 คน จึงเป็นที่มาของการจับคู่ระหว่างโรงเรียนและโรงพยาบาล เพื่อจัดการเรียนรู้ทักษะชีวิต อนามัยเจริญพันธุ์วัยรุ่นและเพศศึกษา การวางระบบให้คำปรึกษา ระบบส่งต่อเพื่อรับบริการทางสุขภาพ พร้อมกับทำงานร่วมกับเครือข่ายสื่อมวลชน เพื่อสร้างแรงสนับสนุนให้ผู้บริหารประกาศเป็นนโยบายของทั้งจังหวัด และขยายผลไปสู่ผู้ปกครองในกลุ่มเด็กเปราะบางที่อยู่เป็นคู่หรือเคยมีเพศสัมพันธ์แล้ว เพื่อให้คำแนะนำปรึกษารับบริการฝังยาคุมกำเนิด โดย สสส.เข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนงานจังหวัด ทั้งด้านข้อมูล ความรู้ และงบประมาณ รวมถึงเชื่อมประสานภาคส่วนต่างๆ