ป่าสมบูรณ์อาหารมั่นคงที่ชุมชนเขาราวเทียน

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ 


ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต


ป่าสมบูรณ์อาหารมั่นคงที่ชุมชนเขาราวเทียน thaihealth


ป่าสงวนแห่งชาติเขาราวเทียนทอง ถือเป็นผืนป่าใหญ่ที่สุดของจังหวัดชัยนาทที่หลงเหลืออยู่ ในขณะนี้ มีพื้นที่มากกว่า 22,000 ไร่  เป็นป่าเบญจพรรณมีความอุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านจาก 2 อำเภอ ทั้ง 4 ตำบล  14 หมู่บ้านที่อยู่ติดกับเขาราวเทียนทอง ได้แก่ อ.เนินขาม และ อ.หันคา ได้อาศัยผืนป่าแห่งนี้เป็นแหล่งอาหารสำคัญที่ หล่อเลี้ยงชุมชนมาเนิ่นนาน


บ้านบุทางรถ หมู่ 5 ต.เด่นใหญ่ อ.หันคา จ.ชัยนาท เป็นหนึ่งใน  14 หมู่บ้านที่ได้ใช้ประโยชน์จากป่าเขา ราวเทียนทองมีจำนวนประชากร 772 คน 269 ครัวเรือน ผืนป่าที่ชาวบ้านบุทางรถช่วยกันดูแลมีเนื้อที่ 1,443 ไร่ ชาวบ้านส่วนใหญ่ได้พึ่งพาด้วยการเก็บของป่า มากินทั้งหน่อไม้ ผักหวาน ผักอีนูน  เห็ดโคน เห็ดเผาะ เห็ดระโงก หากกินเหลือก็จะนำไปขายแบบพออยู่พอกิน หรือจะเป็นการเก็บไม้ไผ่มาใช้ในการ ต่อเติมที่อยู่อาศัยหรือประดิษฐ์ของใช้ ในครัวเรือน 


นอกจากนี้ยังมีพืชสมุนไพรอีก หลายชนิด เช่น ปลาไหลเผือก ที่พบเห็นมากที่สุดให้ชาวบ้านได้นำไปเป็นยาแก้ไขแทบจะทุกชนิด หรือ ต้นหนอนตายยาก ที่สามารถแก้โรคผิวหนังได้ แต่ด้วยความเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคม จากที่เคยหาเพื่อกิน ก็เปลี่ยนเป็นหาเพื่อขาย ขณะเดียวกันก็มี คนนอกพื้นที่เข้ามาตักตวงประโยชน์ จากป่าของหมู่บ้าน โดยไม่คำนึงถึง ความเสียหายที่เกิดขึ้น เพียงไม่กี่ปี  ป่าที่เคยอุดมสมบูรณ์ก็เสื่อมโทรม อย่างรวดเร็ว


ในปี 2543 กลุ่มผู้นำชุมชนจึง เกิดแนวคิดที่จะฟื้นฟูพื้นที่เขาราวเทียน โดยตั้งคณะกรรมทำงานเครือข่าย เขาราวเทียนขึ้นมา 1 ชุด เพื่อสร้างกฎและระเบียบขึ้นมาในการดูแลรักษาป่าชุมชนเขาราวเทียน และดึงคนชุมชนร่วมกันรักษาป่ามาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ป่าชุมชนเขาราวเทียนเริ่มกลับมาสมบูรณ์อีกครั้ง


มานัส ม่วงเกิด ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 5 บ้านบุทางรถ เล่าถึงจุดเริ่มต้นของ การรักษาป่าว่า ได้ตั้งคณะกรรมการ ขึ้นมาดูแล พร้อมทั้งตั้งกฎระเบียบ การใช้ป่าขึ้น 6 ข้อ ประกอบด้วย 1.ห้ามตัดต้นไม้โดยไม่ได้รับความเห็นชอบ จากคณะกรรมการ 2.ห้ามขุดต้นไม้ ออกจากพื้นที่ 3.ห้ามล่าสัตว์ทุกชนิด 4.ห้ามนำรถตั้งแต่ 4 ล้อขึ้นไปเข้ามาบริเวณป่า 5.ห้ามเผาหรือทิ้งก้นบุหรี่ท  ซึ่งอาจก่อให้เกิดไฟป่า และ 6. ห้ามบุกรุกและยึดครองผืนป่า หากฝ่าฝืนจะถูก ตักเตือน หากยังทำผิดซ้ำก็จะถูกปรับตั้งแต่ 500-3,000 บาท และนำส่ง เจ้าหน้าที่ดำเนินคดีตามกฎหมาย


นอกจากนี้ ยังมีการประกาศปิดป่าตั้งแต่เดือนกันยายน-พฤษภาคม  ให้ป่าได้มีเวลาพักฟื้นฟู พร้อมให้ ชาวบ้านได้เข้าไปหากินต่อไปเมื่อ ถึงช่วงเปิดป่า และทำแนวกันไฟ  ปลูกป่าเป็นประจำทุกๆ ปี


ผู้ใหญ่ฯมานัส บอกว่า ช่วงแรก ชาวบ้านยังไม่เข้าใจว่าจะปิดป่าไปทำไม ทางคณะกรรมดูแลรักษาป่าหมู่บ้าน  บุทางรถจึงได้จัดเวทีอธิบาย ปลูกฝัง และสร้างจิตสำนึกเรื่อยมา กว่าจะเห็นผล ต้องใช้เวลา 4-5 ปี เพราะเขาเริ่มเห็น การเปลี่ยนแปลง ได้เรียนรู้การใช้ประโยชน์จากป่าอย่างถูกวิธี คือ เก็บไว้ ให้เหลือหน่อเหลือเชื้อให้สามารถขึ้นใหม่ในปีต่อๆ ไปได้ ไม่ใช่ไปขุดรากถอนโคน จนทุกคนเริ่มเห็นดีเห็นชอบและช่วยกันดูแลป่า ป่าเริ่มสมบูรณ์ขึ้น เกิดฝาย ชะลอน้ำ ดินมีความชุ่มชื้น ของป่าหาได้เยอะขึ้น เขาก็มีกินมีรายได้ดีขึ้น


"ถ้าเราไม่รักษาไว้ ป่าก็จะไม่เหลือ ทั้งคนในคนนอกเข้ามากอบโกยกัน อย่างผิดวิธี ทั้งใช้รถมาขนมาลอบตัดไม้ หน่อไม้ที่แก่แล้วก็ยังถูกหัก ถูกขุดไปก็มี  คนเป็นร้อยเป็นพันกรูกันเข้าไป เหยียบย่ำผืนป่า สารพัดวิธี ป่าแทบไม่มีเวลาได้พักฟื้นคืนสภาพ ดังนั้นเราจึงต้องลุกขึ้นปกป้องผืนป่า ซึ่งเป็นทรัพยากร ที่มีค่าต่อการดำรงชีวิต และเป็นซูเปอร์มาเก็ตใหญ่ให้ชาวบ้านได้หยิบจับ" ผู้ใหญ่ฯมานัส เน้นย้ำจุดยืน เพื่อสร้างแหล่งอาหารในที่ทำกินของตัวเอง และลดการใช้ป่าส่วนร่วมเพื่อไม่ให้ทรุดโทรมเร็ว ผู้ใหญ่ฯมานัส จึงได้น้อมนำพระราชดำรัส "ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง" ของพระบาทสมเด็จ พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาปรับใช้ ซึ่งเป็นแนวคิดของการ ผสมผสานการอนุรักษ์ดิน น้ำ และ การฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ ควบคู่กับ ความต้องการด้านเศรษฐกิจ เพื่อให้คนและป่าอาศัยพึ่งพาซึ่งกันและกันด้วย การจำแนกป่า 3 อย่าง ได้แก่ 1.ป่าไม้ใช้สอย คือ ไม้โตเร็ว สำหรับใช้ใน ครัวเรือน 2.ป่าไม้กินได้ คือ ไม้ผล  3.ป่าไม้เศรษฐกิจ คือ ไม้ที่ปลูกไว้ขายหรือไม้เศรษฐกิจ


ส่วนประโยชน์ 4 อย่าง จำแนกประโยชน์แต่ละอย่างออกเป็น 1.ป่าไม้ใช้สอย 2.ป่าไม้กินได้นำมาเป็นอาหารทั้งพืชกินใบกินผลกินหัวและเป็นยาสมุนไพร 3.ป่าไม้เศรษฐกิจเป็นแหล่ง รายได้ของครัวเรือน ซึ่งควรปลูกพืชหลากหลายชนิดเพื่อลดความเสี่ยงเรื่องราคาตกต่ำและไม่แน่นอน และ 4.ประโยชน์ในการช่วยอนุรักษ์ดินและน้ำ การปลูกพืชที่หลากหลายอย่างเป็นระบบ จะช่วยสร้างสมดุลของระบบนิเวศในสวน


ปี 2559 นี้คณะทำงานเครือข่าย เขาราวเทียนได้พัฒนาโครงการ "แหล่งอาหารชุมชนเพื่อความมั่นคงทางอาหารของชุมชนเขาราวเทียน" โดยได้รับ การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อพัฒนาป่าชุมชนเขาราวเทียนให้เป็นแหล่งอาหารที่มีความมั่นคงและยั่งยืน ตลอดจนเป็นแหล่งอาหารปลอดภัยดี ต่อสุขภาพให้กับชาวบ้านต่อไป


ผู้ใหญ่ฯ มานัส กล่าวถึงโครงการฯ ว่า หลังจากที่ป่าชุมชนเขาราวเทียนทองเริ่มกลับมาอุดมสมบูรณ์ขึ้น จึงมอง ความต่อเนื่องของการอนุรักษ์ป่า เพื่อให้ป่าชุมชนเป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหาร และสมุนไพรรักษาโรค ตลอดจนเป็นแหล่งอาหารปลอดภัยให้ชุมชน เพราะของป่าที่หาได้ถือเป็นอาหารที่ได้จากธรรมชาติปลอดสารเคมีจึงดีต่อสุขภาพ และช่วยลดรายจ่ายค่าอาหารในครัวเรือนได้อีกด้วย โดยชุมชนจะร่วมกัน "จัดทำแผนที่แหล่งอาหาร" โดยจัดเก็บข้อมูลด้วยการ วางแปลงสำรวจ ชนิดพันธุ์ และความหลากหลายของชนิดพันธุ์ เพื่อวิเคราะห์การกระจายตัวของพืชอาหาร และ เก็บรวบรวมข้อมูลช่วงฤดูกาล  การให้ผลผลิตโดยออกแบบเป็นแผนที่เดินดินของชุมชน "อบรมการถนอมและแปรรูปผลผลิตจากป่า" ให้ความรู้เกี่ยวกับการถนอมอาหารและการแปรรูปอาหารป่าที่ถูกต้องตามหลักโภชนาการ เพื่อใช้เป็นแหล่งอาหารของชุมชนในช่วงนอกฤดูกาล และยังมีการ "อบรมการใช้ พืชสมุนไพรเพื่อเป็นยารักษาโรค" ให้ความรู้เกี่ยวกับชนิดพืชสมุนไพรที่พบ ในป่าชุมชนเขาราวเทียนสาธิตวิธี การปรุงยา และข้อควรระวังในการใช้ พืชสมุนไพรพร้อม "พัฒนาอาสาสมัคร" เข้าร่วมเป็นเครือข่ายเฝ้าระวังด้วย  คนในชุมชนอย่างน้อย 20 คนครอบคลุมทุกหมู่บ้านและการส่งเสริมให้เยาวชน เข้ามามีส่วนร่วมเพื่อเป็นเครือข่าย คณะทำงาน ซึ่งจะเป็นอนาคตที่ช่วย รักษาป่าชุมชนเขาราวเทียนให้มี ความอุดมสมบูรณ์เป็นแหล่งอาหารให้ชุมชนได้อย่างยั่งยืนต่อไป


ผศ.ดร.กิติชัย รัตนะ ภาควิชา อนุรักษวิทยา คณะวนศาสตร์ ในฐานะผู้จัดการโครงการสนับสนุนวิชาการและเสริมสร้างศักยภาพภาคีเครือข่ายภาคกลาง สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สสส. กล่าวเสริมว่า  การอนุรักษ์ป่ายุคใหม่ ต้องมองเป็น ฐานทรัพยากรเชื่อมโยงกับวิถีชีวิต ให้มากขึ้น ตราบใดที่ทำให้ชุมชน เห็นคุณค่าป่า ก็จะเกิดการดูแลรักษา เครือข่ายป่าชุมชนเขาราวเทียนทอง ถือว่ามีกระบวนการเรียนรู้ของชุมชนมากขึ้นและสามารถตอบโจทย์กับวิถีชีวิตมากขึ้น จนเล็งเห็นว่าการจัดการป่านั้นต้องมี การวางแผนพัฒนาป่าแบบองค์รวม ทำให้ชุมชนได้ใช้ป่าเป็นเครื่องมือ สู่การเรียนรู้พัฒนาตนเองและชุมชน ซึ่งจะทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็งและ ยืนได้ด้วยตัวเอง


เครือข่ายป่าชุมชนเขาราวเทียนทอง คือ ชุมชนตัวอย่างซึ่งมีบทเรียนที่ดีในการดูแลรักษาป่าจากความสำเร็จของความทุ่มเท และความร่วมมือ ของชุมชน จึงสามารถเป็นพื้นที่ศึกษาดูงาน และเป็นพื้นที่ถอดแบบแนวคิดการจัดการป่าชุมชนไปใช้กับพื้นที่อื่นๆ ได้เป็นอย่างดี

Shares:
QR Code :
QR Code