ปูนแดง นวัตกรรมแห่งอดีตกาล
รายงานของสำนักโรคติดต่อโดยแมลง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ระบุว่า สถานการณ์โรคไข้เลือดออกปี 2556 ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 6 สิงหาคม ที่ผ่านมา มีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสะสมรวม 93,034 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 144.76 ต่อประชากรหนึ่งแสนคน โดยจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจากปี 2555 ณ ช่วงเวลาเดียวกันร้อยละ 215.48 กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยสูงสุด คือ 15-24 ปี คิดเป็นร้อยละ 28.96 ส่วนใหญ่เป็นนักเรียน ซึ่งขณะนี้มีจำนวนผู้ป่วยตายด้วยโรคไข้เลือดออกแล้ว 86 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.09
ตัวเลขจำนวนผู้ป่วยดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงการควบคุมโรคไข้เลือดออกว่าทำได้ยาก แม้ผู้คนจะรู้ว่า พาหะของโรคคือยุงลายก็ตามที แต่ก็มีเหตุปัจจัยหลายประการที่ทำให้การควบคุมนั้นบกพร่อง ด้วยการรับมือนั้น อาจต้องอาศัยความสามัคคี ควบคู่ไปกับนวัตกรรมที่ช่วยป้องกันลูกน้ำยุงลายได้ ตำบลไกรนอก อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย ครั้งหนึ่งก็ประสบกับการระบาดของโรค หากแต่วันนี้ โรคไข้เลือดออกไม่แผ้วพานคนที่นี่มานานแล้ว ด้วยมีนวัตกรรมจากอดีตที่ถูกนำมาปรับใช้เพื่อป้องกันการระบาดของลูกน้ำยุงลายในพื้นที่
ในปี 2546 – 2547 บ้านหมู่ที่ 1 ตำบลไกรนอก มีการระบาดของโรคไข้เลือดออกมาก มีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกในหลายครอบครัว ในเวลานั้นชาวบ้านต่างเลือกวิธีการป้องกันด้วยตัวเอง กระทั่งในปี 2548 – 2551 จึงมีการรวมกลุ่มเพื่อหาทางป้องกันโรคไข้เลือดออก ซึ่งลงเอยที่การใช้ทรายเคมีใส่ลงถังน้ำเพื่อฆ่าและป้องกันลูกน้ำยุงลาย
ลูกจันทร์ ม่วงป่า อาสาสมัครประจำชุมชน เล่าให้ฟังว่า เริ่มแรก ทางกลุ่มและทางผู้บริหารชุมชนมีความเห็นร่วมกันให้ใช้ทรายเคมีในการกำจัดและป้องกันลูกน้ำยุงลาย โดยมีการซื้อแจกจ่ายให้ตามบ้านในหมู่ที่ 1 ซึ่งมีการระบาดของโรคไข้เลือดออก จนเวลาผ่านไป ชาวบ้านเริ่มทนไม่ไหวกับผลข้างเคียงของทรายเคมี ด้วยก่อให้เกิดผื่นคัน จนชาวบ้านรวมตัวกันร่างหนังสือและยื่นต่อทางจังหวัดให้เข้ามาช่วยจัดการ
ทางกลุ่มอาสาสมัคร รวมถึง นายกอบต. ปลัด กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้าน และชาวบ้านจึงต้องรวมตัวกันเพื่อหาทางออก โดยในที่ประชุมได้มีการกล่าวถึงยายทอด ซึ่งเป็นชาวบ้านหมู่ที่ 1 ว่า ในช่วงที่ตำบลมีการแจกจ่ายทรายเคมีให้แต่ละบ้านนั้น มียายทอดไม่ยอมรับทรายเคมี หากแต่ใช้ปูนแดงซึ่งใช้ผสมในหมากปั้นเป็นก้อนใส่น้ำแทน จึงทำให้เกิดข้อถกเถียง และเป็นที่มาของการทดลองเพื่อหาบทสรุป
ลูกจันทร์ เล่าว่า ก่อนที่จะใช้ ได้ทำการทดลองโดยนำโหลใส่น้ำพร้อมลูกน้ำ 2 ใบ ใบหนึ่งใส่ทรายเคมี ใบหนึ่งใส่ปูนแดง 1 กรัมเท่ากัน พบว่า ใบที่ใส่ทรายเคมีลูกน้ำจะตายในเวลา 4 ชั่วโมง ขณะที่ใบที่ใส่ปูนแดง ลูกน้ำจะตายในเวลา 6 ชั่วโมง แม้ปูนแดงจะมีข้อเสียตรงที่ใช้เวลานาน และสามารถฆ่าได้เฉพาะตัวอ่อนเท่านั้น แต่เมื่อพิจารณาถึงข้อดี ที่น้ำยังสามารถอุปโภคบริโภคได้ มีค่าความเป็นกรดด่างได้ตามมาตรฐาน และไม่ก่อให้เกิดอาการผื่นคัน จึงทำให้ที่ประชุมเลือกปูนแดง
หลังจากส่งน้ำไปตรวจคุณภาพ และพบว่าปกติ ทางกลุ่มฯ ได้ประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านทราบ โดยได้รับงบประมาณจากอบต. ไปซื้อปูนแดง แล้วนำมาปั้นเป็นลูกกลมขนาดราวหัวแม่โป้ง แล้วนำไปแจกจ่ายให้ขาวบ้านหมู่ที่ 1 ซึ่งนับว่าประสบผลสำเร็จ ด้วยปูนแดงสามารถป้องกันลูกน้ำยุงลายได้
กระบวนการทำงานของปูนแดงนั้นไม่ยุ่งยาก เมื่อใส่ปูนแดงลงไปในโอ่งแล้ว ปูนแดงจะค่อยละลายอย่างช้าๆ และลอยขึ้นฉาบผิวน้ำ ทำให้ลูกน้ำเจาะผ่านขึ้นไปหายใจไม่ได้ ขณะที่ตัวยุงลายก็ไม่สามารถวางไข่ลงน้ำได้ โดยใช้ครั้งละ 3-4 ก้อน หากว่าโอ่งนั้นมีฝา ก็ใส่เพียง 1-2 ก้อนเท่านั้น ซึ่งปูนรุ่นหนึ่งจะมีอายุราว 3 เดือน พอครบก็เปลี่ยนน้ำแล้วใส่ปูนรุ่นใหม่แทน
ที่สำคัญ ลูกจันทร์ ยังเสริมอีกว่า การใช้ปูนแดงยังมีราคาถูก และประหยัดกว่าการใช้ทรายเคมี เพราะปูนแดง 1 ปี๊บ ราคา 300 บาท ต่อหนึ่งหมู่บ้าน แต่ถ้าเป็นทรายเคมี 1 ถัง จะมีราคาถึงถังละ 5,000 บาท โดยในปีหนึ่ง จะใช้ปูนแดง 5 ปี๊บ แต่ถ้าเป็นทราย ปีหนึ่งต้องใช้ไม่ต่ำกว่า 4 ถัง
นอกจากนี้ ในปี 2553 ลูกจันทร์ บังเอิญได้ดูโทรทัศน์ และเห็นว่า มีการใช้น้ำขิงในการฆ่าลูกน้ำ เลยนำมาทดลองผสมกับปูนแดงแล้วปั้นเป็นก้อน โดยก่อนที่จะใช้ก็มีการทดลองโดยนำโหล 2 ใบ ใส่ลูกน้ำใบละ 20 ตัว พร้อมปูนแดงสูตรเดิม กับปูนแดงผสมน้ำขิง พบว่า ใบที่ผสมน้ำขิง ลูกน้ำจะตายในเวลา 5 ชั่วโมง เร็วขึ้นจากเดิม 1 ชั่วโมง
ปัจจุบัน ทาง อบต.ได้ให้การสนับสนุนงบประมาณในแต่ละหมู่บ้าน โดยทีมงาน อสม.หมู่ที่ 1 จะรับหน้าที่ผลิตปูนแดงแล้วนำไปแจกจ่ายให้กับประชาชนในตำบลไกรนอก ซึ่ง ณ เวลานี้ ใช้เต็มพื้นที่ ทั้งยังเป็นนวัตกรรมที่โด่งดังไปยังพื้นที่อื่น โดยในช่วงปีหลัง ตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมาที่มีการใช้ปูนแดง จากการสำรวจของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ชาวตำบลไกรนอก ไม่มีใครผู้ป่วยเป็นไข้เลือดออกอีกเลย
ที่มา : สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สน.3) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ