ปี 54 ไปสวมหมวกกันน็อก100%
ลดบาดเจ็บและตาย
โบราณว่า “รักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี” วันนี้คนยุคปัจจุบันต้องปรับคำใหม่นิดหน่อยให้เข้ายุคสมัยเป็น “รักวัวให้ผูกรักลูกให้สวมหมวกกันน็อก”
สมัยโบราณนั้นเด็กๆ ดื้อเพียงเพราะไปเล่นยิงนกตกปลา ไม่ช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน ไม่เรียนหนังสือ ไม่ได้หนีไปซิ่งมอเตอร์ไซค์ ก็ตีสั่งสอนให้ประพฤติตัวเสียใหม่ แต่วันนี้ส่วนใหญ่ดื้อไปกับการขี่มอเตอร์ไซค์ซิ่ง ไม่ช่วยงานพ่อแม่ ไม่เรียนหนังสือ เพราะติดเพื่อนไปซิ่งมอเตอร์ไซค์ อย่างที่ว่า พ่อแม่รอตีสั่งสอนลูกอยู่ที่บ้านไม่มีโอกาสได้ตี ลูกไม่กลับบ้านเพราะไม่มีโอกาสกลับมอเตอร์ไซค์ เกิดอุบัติเหตุคอหักตายบ้าง พิการบ้าง
มีสถิติว่าทั่วโลกมีการตายเพราะอุบัติเหตุถึงนาทีละ 25 คน ไม่รู้ว่าเฉพาะในประเทศไทยประเทศเดียวนาทีละกี่คน แต่น่าจะสถิติสูงพอสมควร
วันนี้ด้วยความรักความห่วงใยลูกหลานกลัวจะตายกลัวจะพิการเพราะอุบัติเหตุ พ่อแม่ผู้ปกครองที่อยู่ในองค์กรต่างๆ รวมตัวกันรณรงค์ใช้วิธีของโบราณแต่เอามาแปลงประยุกต์ “รักวัวให้ผูก รักลูก (หลาน) ให้สวมหมวกกันน็อก” ไม่ได้เจ็บอะไรเลย ถ้าตีแบบโบราณนั่นเจ็บแน่ๆ
จึงเป็นที่มาของโครงการนี้ ที่อยากให้เห็นความสำคัญแล้วช่วยกันสืบสานให้เกิดรูปธรรมอย่างจริงจัง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิเมาไม่ขับ ศูนย์ขับขี่ปลอดภัยฮอนด้า จึงร่วมกันเปิดโครงการรณรงค์ปลุกกระแสสังคมไทยใส่ใจสวมหมวกกันน็อก “รักวัวให้ผูก รักลูกให้สวมหมวกกันน็อก” และทำพิธีมอบหมวกกันน็อกให้กับผู้แทนเยาวชนและประชาชน
จากข้อมูลพบว่าสถิติผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุจราจรบนท้องถนนทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนถึง 1.3 ล้านคน หรือทุกนาทีจะมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ 25 คน และทำให้มีผู้พิการถึงปีละ 50 ล้านคน สำหรับประเทศไทย สถานการณ์อุบัติเหตุยังน่าเป็นห่วง โดยในปี 2552 มีผู้เสียชีวิตสูงถึง 10,171 คน ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากพฤติกรรมของผู้ขับขี่ โดยอัตราของผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ 60-70% เป็นกลุ่มผู้ใช้รถจักรยานยนต์ และไม่สวมหมวกกันน็อก
“กลุ่มเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี เป็นกลุ่มที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด พบว่าผู้ขับขี่จักรยานยนต์ในประเทศไทย เริ่มขี่ตั้งแต่อายุ 9-14 ปี สอดคล้องกับอัตราการจับกุมการกระทำผิดกฎจราจร ที่มีการจับกุมผู้ไม่มีใบอนุญาตขับขี่จำนวนมาก และเพื่อร่วมรณรงค์ลดอุบัติเหตุ สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ร่วมกับ สสส. มูลนิธิเมาไม่ขับ และภาคเอกชน จัดโครงการ รักวัวให้ผูก รักลูกให้สวมหมวกกันน็อก เป็นโครงการดีที่รณรงค์ให้กลุ่มพ่อแม่ ผู้ปกครองที่ขับขี่รถจักรยานยนต์และให้บุตรหลานซ้อนท้าย ได้เห็นถึงอันตรายของการไม่สวมหมวกนิรภัย และหันมาให้ความสำคัญในการสวมหมวกนิรภัยทั้งผู้ขับขี่และผู้ซ้อนท้ายจักรยานยนต์ ให้สอดคล้องกับปี 2554-2563 ที่ประเทศไทยจะประกาศให้เป็นปีทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด”
และจากการสำรวจขององค์การอนามัยโลก เมื่อปี 2550 เรื่องการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน พบว่า ประเทศไทยติดอันดับประเทศที่มีการเสียชีวิตสูงสุดลำดับที่ 106 จากการสำรวจ 178 ประเทศทั่วโลก มีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 19.6 คนต่อแสนประชากร และสอบตกในมาตรการการใช้หมวกนิรภัยไทยได้เพียง 4 คะแนนจาก 10 คะแนน และนอกจากนี้ สสส. ร่วมกับ มูลนิธิไทยโรดส์ สำรวจพฤติกรรมการสวมหมวกนิรภัยของผู้ขับขี่และโดยสารรถจักรยานยนต์ทั่วประเทศ ระหว่างเดือน มี.ค.-ก.ค.53 กลุ่มตัวอย่าง 76,124 คน พบว่า ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ สวมหมวกนิรภัย 62% ผู้ซ้อนท้าย สวมหมวกนิรภัย 39% ที่น่าเป็นห่วง คือ ผู้โดยสารรถจักรยานยนต์ 56% ไม่ทราบว่าการนั่งซ้อนท้ายและไม่สวมหมวกนิรภัย มีโทษปรับทั้งคนขี่และคนซ้อน สำหรับ “การรณรงค์รักวัวให้ผูก รักลูกให้สวมหมวกกันน็อก” ถือเป็นกิจกรรมดีที่จะเตือนให้ผู้ปกครองรู้ถึงอันตรายการไม่สวมหมวกนิรภัย โดยในปี พ.ศ.2554-2563 องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้เป็น “ทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน” โดยจะมีเป้าหมายลดการตายจากอุบัติเหตุให้ได้ 50% ในอีก 10 ปีข้างหน้า
การสวมหมวกนิรภัย ช่วยป้องกันการเสียชีวิตและบาดเจ็บสาหัสจากการขับขี่รถจักรยานยนต์ได้เป็นอย่างดี ลักษณะการบาดเจ็บของผู้ที่ใช้รถจักรยานยนต์ โดยส่วนใหญ่จะได้รับบาดเจ็บที่แขน ขามากที่สุด รองลงมา คือ ศีรษะและคอ ซึ่งในรายที่พิการและเสียชีวิต จะได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะและคอมากที่สุด ปัจจุบันหมวกนิรภัยสำหรับเด็กมีการผลิตและได้การรับรองจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) วางจำหน่วยทั่วไป และราคาไม่แพงมาก ซึ่งการลงทุนเรื่องความปลอดภัยให้กับบุตรหลานเป็นความสำคัญลำดับแรกที่พ่อแม่ผู้ปกครองควรต้องคำนึงถึง
ตั้งแต่ปีหน้า 2554 เป็นต้นไป ขับขี่ซ้อนมอเตอร์ไซค์ต้องบังคับใส่หมวกกันน็อก 100% จริงๆ นะ ท่านอธิบดีตำรวจ
ที่มา : หนังสือพิมพ์สยามรัฐ
Update : 07-10-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : สุนันทา สุขสุมิตร