ปีละ2.5แสนวัยรุ่นอุ้มท้อง
ปัญหาน่าห่วง เผยเยาวชนไทยตั้งครรภ์โดยยังไม่พร้อมถึงปีละ 2.5 แสนคน ครึ่งหนึ่งหาทางออกโดยการทำแท้ง “ชินวรณ์” เปิดตัวโครงการ UP TO ME หวังสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็ก นำร่อง 242 โรงเรียน ในพื้นที่ 24 จังหวัด
ที่กระทรวงศึกษาธิการ วันที่ 19 มกราคมนี้ นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แถลงข่าวเปิดตัวโครงการรณรงค์สร้างความตระหนักเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่น หรือ UP TO ME ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และองค์การแพธ รณรงค์โดยจะนำร่องในโรงเรียน 242 แห่งในพื้นที่ 24 จังหวัด
นายชินวรณ์ กล่าวว่า ปัญหาการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควรเกิดขึ้นในสังคมไทยมานาน สาเหตุอาจมาจากความเปลี่ยนแปลงรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นสภาพสังคม เศรษฐกิจ ฯลฯ ที่มีความหลากหลายและซับซ้อน ซึ่งปัจจุบันพบว่า วัยรุ่นไทยอายุระหว่าง 15-19 ปี จำนวน 5 ล้านคน มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศสัมพันธ์ถึง 1.25 ล้านคน มีอัตราการตั้งครรภ์อยู่ที่ 2.5 แสนคนต่อปี และ 50% ของเยาวชนที่ตั้งครรภ์เลือกที่จะทำแท้ง ขณะเดียวกันอัตราการคลอดบุตรเฉลี่ย 1.2 แสนคนต่อปี หรือเฉลี่ยวันละ 336 คน
“นอกจากนี้ ประมาณ 1 ใน 4 ของวัยรุ่นที่ทำแท้งเป็น การทำแท้งซ้ำ และมีวัยรุ่นเพียง 1 ใน 3 ที่มีการคุมกำเนิดทุก ครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ เพราะเยาวชนส่วนใหญ่กว่า 65% ขาด ความรู้ความเข้าใจในการป้องกันการตั้งครรภ์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการตระหนักดีถึงปัญหาดังกล่าว” นายชินวรณ์กล่าว
รมว.สาธารณสุขกล่าวว่า ศธ.ได้กำหนดยุทธศาสตร์เพื่อใช้เป็นแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว 3 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1.ยุทธศาสตร์สร้างความตระหนักรู้เพื่อไม่ให้เด็กมีเพศสัม พันธ์ก่อนวัยอันควร 2.ยุทธศาสตร์สร้างความปลอดภัยใน เด็กและเยาวชน โดยเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ของคนที่มีการตั้งครรภ์ไม่พร้อม หรือหากเกิดการตั้งครรภ์แล้วก็ต้องได้รับการดูแลตามหลักชีวอนามัยที่ถูกต้อง เน้นให้ความรู้โดยจัดหลักสูตรเพศศึกษา ครอบครัวศึกษา ที่สำคัญสอนให้เด็กรู้จักปฏิเสธที่จะมีเพศสัมพันธ์ และ 3.ยุทธศาสตร์ส่งเสริมความประพฤติ นักเรียนนักศึกษาตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก อีกทั้งมีการตั้งคณะกรรมการอำนวยการส่งเสริมความประพฤตินักเรียนนักศึกษา เพื่อแก้ไขปัญหาเด็กทะเลาะวิวาท หนีเรียน มีพฤติกรรมชู้สาว และปัญหายาเสพติด
ด้าน ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า คณะกรรมการกองทุน สสส. ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้กำหนดให้มีการจัดทำมาตรการป้องกันและแก้ไขการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่น ประกอบด้วย 2 มาตรการสำคัญ คือ มาตรการระยะสั้น ผ่านการสร้างทักษะชีวิตและการสื่อสาร เพื่อสร้างความตระหนักในสังคม ลดปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่นลง 20% ภายในปี 2555 และมาตรการการขับเคลื่อนให้เกิดกลไกคณะกรรมการระดับชาติ
“จากการทำงานที่ผ่านมาพบว่า ปัญหาต้นทุนชีวิตของเด็กและเยาวชนเป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งของการมีเพศสัมพันธ์และการท้องไม่พร้อม โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กในโรงเรียนที่มีเพศสัมพันธ์ จึงจำเป็นต้องสร้างต้นทุนชีวิตซึ่งเป็นปัจจัยสร้างเชิงบวกให้เด็กในด้านพลังตัวตน ครอบครัว ปัญญา เพื่อน และกิจกรรมชุมชน เพื่อเปลี่ยนแปลงมุมมองการมองของเด็กใหม่” ผู้จัดการ สสส.กล่าว
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์