“ปิด ล้าง เลี่ยง หยุด” หลักในการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่

ที่มา : กรมควบคุมโรค


 “ปิด ล้าง เลี่ยง หยุด” หลักในการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ทุก thaihealth


เเฟ้มภาพ


กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงกรณีเชื้อโรคจะเข้าสู่ร่างกายได้นั้น ไม่เกี่ยวกับเมือกในลำคอแห้ง แต่ขึ้นอยู่กับภูมิต้านทานโรคในร่างกายและวิธีปฏิบัติในการป้องกันโรค พร้อมแนะประชาชนยึดหลัก “ปิด ล้าง เลี่ยง หยุด”  ป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ทุกสายพันธุ์  หากมีอาการไข้สูง ปวดเมื่อยร่างกาย ควรรีบพบแพทย์โดยเร็ว โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงควรดูแลเป็นพิเศษ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่อการป่วยและเสียชีวิตได้ 


นายแพทย์อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีและโฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีที่มีการแชร์ข้อมูลในโซเชียลมีเดียว่าให้ป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ โดยการรักษาความชุ่มชื้นของเยื่อเมือกลำคอ เพราะถ้าเยื่อเมือกลำคอแห้ง เชื้อโรคจะเข้าสู่ร่างกายได้ นั้น กรมควบคุมโรค ขอชี้แจงว่าข้อความดังกล่าวไม่เป็นจริง เนื่องจากเชื้อโรคที่จะเข้าสู่ร่างกายได้นั้น ไม่เกี่ยวกับเมือกในลำคอแห้ง แต่ขึ้นอยู่กับภูมิต้านทานโรคในร่างกายและวิธีปฏิบัติในการป้องกันโรค ซึ่งโรคไข้หวัดใหญ่ทุกสายพันธุ์ สามารถป้องกันได้โดยยึดหลัก “ปิด ล้าง เลี่ยง หยุด” 


โรคไข้หวัดใหญ่ ติดต่อจากการสัมผัสสารคัดหลั่ง (น้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะ) ของผู้ป่วย โดยผ่านการไอ จามรดกัน หรือหายใจเอาฝอยละอองเข้าไป อาจรับเชื้อทางการสัมผัสสิ่งของที่มีเชื้อ เช่น แก้วน้ำ ลูกบิดประตู ผ้าเช็ดมือ เป็นต้น หลังรับเชื้อมักมีอาการทันทีหรือประมาณ 1-2 วัน จะมีอาการไข้สูง ตัวร้อน หนาว ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อมาก (โดยเฉพาะที่หลัง ต้นแขน ต้นขา) อ่อนเพลีย มีน้ำมูกใสๆ หากมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ ขอให้หยุดเรียนหรือหยุดงานทันที เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อสู่ผู้อื่น งดออกกำลังกาย งดดื่มน้ำเย็น รับประทานอาหารอ่อน น้ำเกลือแร่และพักผ่อนมากๆ มีไข้ให้เช็ดตัว หากไข้ไม่ลดให้รับประทานยาลดไข้ เช่น พาราเซตามอล ห้ามใช้ยาแอสไพริน หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 48 ชั่วโมง ควรรีบพบแพทย์ทันที


            ทั้งนี้กรมควบคุมโรค ขอแนะนำให้ประชาชนยึดหลัก “ปิด ล้าง เลี่ยง หยุด” เพื่อป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ทุกสายพันธุ์ ได้แก่  1.ปิด คือปิดปาก ปิดจมูก เมื่อไอ จาม ต้องใช้ผ้าหรือกระดาษทิชชูปิดปากและจมูกทุกครั้ง หากเจ็บป่วยด้วยไข้หวัดใหญ่ ควรใส่หน้ากากอนามัย   2.ล้าง คือล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่เมื่อสัมผัสสิ่งของ เช่น กลอนประตู ลูกบิด ราวบันได ราวบนรถโดยสาร   3.เลี่ยง คือหลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย หรือในสถานที่แออัด มีคนอยู่รวมกันจำนวนมาก  และ  4.หยุด คือเมื่อป่วยควรหยุดเรียน หยุดงาน หยุดกิจกรรม แม้ผู้ป่วยจะมีอาการไม่มากก็ควรหยุดพักรักษาตัวที่บ้านจนกว่าจะหายเป็นปกติ โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงเช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ ผู้มีโรคประจำตัว และผู้ที่เป็นโรคอ้วน เป็นต้น ควรให้การดูแลเป็นพิเศษ หากอาการไม่ดีขึ้นควรรีบพบแพทย์โดยเร็ว เพราะอาจเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ปอดบวม หายใจลำบาก และอาจทำให้เสียชีวิตได้  

Shares:
QR Code :
QR Code