ปิดเวทีสุขภาวะทางเพศระดับชาติ ชง 3 ท้าทาย เสริมความยั่งยืนเพศวิถีศึกษา

ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข

ภาพประกอบจาก สสส.

                     ปิดฉาก เวทีสุขภาวะทางเพศระดับชาติ เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ 60 แห่งทั่วประเทศ เดินหน้าร่วมแก้ปัญหาประเทศ สสส.-6 กระทรวง-ภาคี ประกาศใช้ยุทธศาสตร์ชุมชนเข้มแข็ง “Strong Community for Healthy Sexuality” ชง 3 ข้อเสนอท้าทาย ส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืนของวิชาเพศวิถีศึกษา-เพิ่มบริการอนามัยเจริญพันธุ์ครอบคลุมทุกพื้นที่-จัดสวัสดิการเลี้ยงดูบุตร

                     เวลา 13.30 น. วันที่ 16 ส.ค. 2567 ที่โรงแรมแกรนด์ ริชมอนด์ สไตลิช คอนเวนชั่น จ.นนทบุรี ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. เป็นประธานในพิธีปิดการประชุมสุขภาวะทางเพศระดับชาติครั้งที่ 4 ภายใต้แนวคิด “Strong Community for Healthy Sexuality : ชุมชนเข้มแข็งสร้างสุขภาวะทางเพศ” จัดโดย สสส. ร่วมกับ คณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มูลนิธิแพธทูเฮลท์ และภาคีเครือข่าย มีผู้แทนคณะอนุกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นระดับจังหวัด เครือข่ายคนทำงานเรื่องสุขภาวะทางเพศ แกนนำเยาวชน จากเครือข่าย 60 แห่งทั่วประเทศ เข้าร่วมกว่า 1,000 คน


                     โดย ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าวว่า ปัญหาเรื่องสุขภาวะเพศเป็น 1 ใน 4 ภัยความรุนแรงในสถานศึกษา สสส. เร่งสานพลัง กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และภาคีเครือข่าย สนับสนุนให้สถานศึกษาทั่วประเทศ มีการจัดการเรียนการสอนเรื่องเพศวิถีศึกษา การจัดกิจกรรมสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจในกลุ่มผู้บริหารสถานศึกษา ครู ให้มีศักยภาพสามารถถ่ายทอดสู่นักเรียนให้รับรู้และตระหนักเรื่องเพศวิถี รวมถึงจัดระบบช่วยเหลือนักเรียนที่ตั้งครรภ์อย่างเหมาะสมและเร่งด่วน การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่เกิดขึ้นจากองค์ความรู้ และประสบการณ์ของภาคีเครือข่าย กว่า 1,000 คน ในการประชุมสุขภาวะทางเพศระดับชาติครั้งที่ 4 นี้ ทำให้เกิดข้อเสนอเพื่อให้การดำเนินงานเรื่องสุขภาวะทางเพศมีประสิทธิภาพและประสบความสำเร็จ สร้างเสริมความเข้มแข็งให้สังคมมีความพร้อม ประชาชนมีความรอบรู้ในการดูแลสุขภาวะทางเพศ


                     “สุขภาวะทางเพศ ถือเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างสุขภาวะของประเทศ ข้อเสนอที่เกิดขึ้น ถือเป็นความท้าทายของคนทำงานสุขภาวะทางเพศ จำเป็นที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม โดยมุ่งเน้นการทำงานแบบองค์รวมไม่แยกส่วน ลดอคติทางเพศ การตีตรา และเลือกปฏิบัติ เพื่อทำให้ทุกคนมีสุขภาวะที่ดีทุกมิติ” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว


                     นพ.กิตติพงศ์ แซ่เจ็ง ประธานคณะอนุกรรมการด้านวิชาการการจัดประชุมสุขภาวะทางเพศระดับชาติ ครั้งที่ 4 กล่าวว่า ข้อเสนอเรื่องสุขภาวะทางเพศที่เกิดขึ้น แบ่งเป็น 3 ด้าน คือ 1. ด้านการส่งเสริมให้เยาวชนเกิดองค์ความรู้และมีทักษะด้านเพศวิถี มีข้อเสนอให้กระทรวงศึกษาธิการ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีนโยบายที่ส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืนของงานเพศวิถีศึกษา รวมถึงจัดทำฐานข้อมูลเชิงสถิติจากครูผู้สอนและนักเรียนในการจัดการเรียนการสอนเพศวิถีศึกษา 2. ด้านการจัดบริการอนามัยเจริญพันธุ์ที่เป็นมิตรกับวัยรุ่น แม้ว่าจะมีบริการที่ครอบคลุมทั้งการป้องกันและการช่วยเหลือวัยรุ่นที่ประสบปัญหา แต่พบว่า วัยรุ่นในพื้นที่ห่างไกลเข้าไม่ถึงบริการ รวมถึงเงื่อนไขที่ต้องมีผู้ปกครองให้ความยินยอมในการเข้ารับบริการ จึงมีข้อเสนอให้กระทรวงสาธารณสุข หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดบริการที่เข้าถึงได้สะดวกและเป็นมิตร ลดข้อจำกัดเรื่องการยินยอมของผู้ปกครอง 3. ด้านสวัสดิการ มีข้อเสนอให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดสวัสดิการที่จำเป็นและสอดคล้องกับวิถีชีวิต เช่น การจัดให้มีบริการฝากเลี้ยง-ดูแลบุตร เพื่อให้ผู้เป็นแม่สามารถไปเรียนหรือทำงานได้ การจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมที่ควรยกเลิกข้อจำกัดเรื่องครอบครัวอุปถัมภ์ที่มีความหลากหลายทางเพศ

Shares:
QR Code :
QR Code