ปิดเทอมสวรรค์ของลูก ฝันร้ายของพ่อแม่
“ปิดเทอม แล้วเย้!! เย้!!” เสียงใสๆ ที่เต็มไปด้วยรอยยิ้มของเด็กตัวน้อยๆ เกือบทั้งประเทศ เพราะมันคือช่วงเวลาแห่งความสุขสนุกสำหรับพวกเขา เพราะไม่ต้องไปโรงเรียน แต่สำหรับพ่อแม่แล้วล่ะก็… ช่วงเวลานี้ มันคือทุกข์ชัดๆ เพราะการดูแลลูกช่วงปิดเทอม ถือเป็นเรื่องใหญ่พอสมควร หากพ่อแม่ที่มีเวลา ก็คงจะเป็นโอกาสทองที่จะหากิจกรรมที่สร้างสรรค์ เสริมสร้างความรู้ให้ลูกทำ แต่ในรายที่มีเวลาน้อย ช่วงปิดเทอมนี้แหละ!!! ที่อาจเป็นช่วงเวลาฝันร้ายของพ่อแม่หลายๆ คนก็เป็นได้
ปิดเทอมเด็กจมน้ำมากที่สุดทุกปี !!! นี่คือฝันร้ายของพ่อแม่ผู้ปกครองเรื่องแรก ที่คงไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นกับลูกหลานตนเอง จากข้อมูลของศูนย์วิจัยสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี บ่งบอกว่า ในช่วงปิดเทอมเป็นช่วงที่เด็กจะเสียชีวิตมากที่สุดในทุกปี ซึ่งสาเหตุอันดับต้นๆ มาจากอุบัติเหตุ โดยในปี 2551 ที่ผ่านมา เกิดจากอุบัติเหตุ ร้อยละ 38 จะมีเด็กอายุ 1- 14 ปี เสียชีวิตประมาณ 3,300 คนต่อปี คิดเฉลี่ยรายเดือนแล้ว จะมีเด็กเสียชีวิตประมาณเดือนละ 280 คน
ยิ่งในช่วงเดือนเมษายน มีเด็กเสียชีวิตมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ถึง 400 คน รองลงมาได้แก่เดือนมีนาคม พฤษภาคมและตุลาคม ตามลำดับ จะเห็นได้ว่าเป็นช่วงเดือนที่เด็กปิดเทอมใหญ่และปิดเทอมกลางแทบทั้งสิ้น โดยสาเหตุอันดับหนึ่ง คือ จมน้ำเสียชีวิตมากที่สุด เป็นอันดับ 1 ถึงร้อยละ 47 รองลงมาเป็นอุบัติเหตุทางจราจร ร้อยละ 25 ที่เหลือเป็นอุบัติเหตุ อื่น ๆ โดยในเดือนเมษายน มีเด็กเสียชีวิตจำนวน 190 คน เดือนมีนาคม และเดือนพฤษภาคม 150 คน เฉลี่ยแล้วตลอด 90 วัน ที่เด็กปิดเทอมจะมีเด็กจมน้ำเสียชีวิตวันละ 5 คน ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่น่าตกใจ…
ส่วนสถานที่นั้น ก็มักเป็น บ่อ หนอง คลอง บึง สระว่ายน้ำในชุมชนหรือหมู่บ้าน ซึ่งบางคนไม่ได้ตั้งใจจะไปเล่นน้ำ เพียงแต่วิ่งเล่นกับเพื่อนบริเวณใกล้กับแหล่งน้ำ แล้วเกิดพลัดตกไม่มีใครเห็นและจมน้ำเสียชีวิต ดังนั้นผู้ปกครองควรจะสอนให้ลูกว่ายน้ำเป็นตั้งแต่เด็กๆ และเรียนรู้ที่จะช่วยผู้อื่น นอกจากนี้ผู้ปกครองควรตรวจสอบสภาพแวดล้อมรอบบ้านว่าเป็นอย่างไร หากอยู่ใกล้บ่อหรือแหล่งน้ำ ควรทำรั้วกั้นรวมทั้งหาคนดูแลที่ไว้ใจได้
นอกจากเรื่องจมน้ำแล้ว อุบัติเหตุด้านจราจรก็เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กเสียชีวิต รวมไปถึงอันตรายจากอุบัติเหตุการบาดเจ็บจากการเล่นในสนามเด็กเล่นอีกด้วย
ฝันร้ายเรื่องต่อมา ตามธรรมชาติของเด็กแล้วนั้น “เกม” คือสิ่งหนึ่งที่ทำให้พวกเขาสนุกสนาน เพลิดเพลินในยามที่ว่างนานๆ อย่างในช่วงปิดเทอม ด้านหนึ่งของการเล่นเกมมันคือการพัฒนาสมองของลูกน้อย แต่ในทางกลับกัน หากมากเกินไปเด็กอาจตกเป็น “ทาส” ของเกมโดยไม่รู้ตัว
ล่าสุด!!! มูลนิธิกระจกเงาได้ออกมาบอกว่า เด็กที่ติดเกม จะใช้เวลาส่วนใหญ่ขลุกอยู่ที่หน้าจอคอมพิวเตอร์ นานถึง 6 – 8 ชั่วโมงต่อวัน ไม่ว่าจะเป็นร้านเกม หรือแม้แต่กระทั่งบ้านเพื่อนโดยจะเล่นแบบไม่รู้เดือน ไม่รู้เวลา ซึ่งผลลบใหญ่ที่อาจตามมาจากเด็กติดเกม ก็คือการเรียนตกต่ำ สุขภาพแย่ลง และที่เป็นปัญหาใหญ่ก็คือ “เด็กหายไปจากบ้าน !!” โดยในช่วงเดือน ม.ค. – มี.ค. 2552 ทางมูลนิธินี้ได้รับแจ้งเด็กหายแล้วกว่า 90 คน
นอกจากภัยร้ายต่างๆที่พูดมาทั้งหมดนี้แล้ว ในช่วงปิดเทอม มักจะเห็นเด็กๆ ตามร้านขายของ เพราะที่นั่น!!! มีอาหารอันโปรดปราน โดยเฉพาะ ขนมกรุบกรอบ ที่มีรสชาติ และสีสันถูกตาถูกใจ ชวนให้ลอง แล้วพ่อแม่ผู้ปกครองรู้หรือไม่ว่า? อาหารเหล่านั้นจะส่งผลร้ายต่อลูกคุณ
โดยนพ.โสภณ เมฆธน รองอธิบดีกรมอนามัย ได้ออกมาเปิดเผยว่า ในขนมที่เด็กส่วนใหญ่ซื้อมาบริโภคกว่าร้อยละ 90 จะประกอบด้วยแป้ง น้ำตาล โซเดียม ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กได้รับแป้ง น้ำตาล ในปริมาณที่มากเกินไป แต่กลับไม่มีการออกกำลังกาย จึงได้รับแป้ง น้ำตาลส่วนเกิน ซึ่งจะเปลี่ยนเป็นไขมันสะสมในร่างกาย รวมถึงการบริโภคขนมที่มีรสหวาน มัน เค็มทำให้ติดรสชาติ ส่งผลให้เกิดโรคอ้วนตามมา
จากข้อมูลของเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน พบว่า ปัจจุบันเด็กไทยมีปัญหาเรื่อง “โรคอ้วน” ที่ก่อให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังตามมามากมาย ไม่ว่าจะเป็น โรคเบาหวาน ความดันโลหิต หัวใจ และมะเร็ง ซึ่งในอดีตโรคเหล่านี้มักพบในผู้ใหญ่ แต่ปัจจุบันเด็กอายุเพียง 3 ขวบก็สามารถเป็นโรคเบาหวานได้แล้ว ซึ่งเบาหวานชนิดนี้เรียกว่าเบาหวานชนิดที่ 2 สาเหตุของการเป็นก็สืบเนื่องมาจากการบริโภคอาหาร โดยเฉพาะอาหารที่มีรสหวานและมัน
ซึ่งขนมที่ดีนั้น ต้องไม่มีน้ำตาลเกิน 12 กรัม/มื้อ ไขมันไม่เกิน 2.5 กรัม/มื้อ และโซเดียมไม่เกิน 100 มิลลิกรัม/มื้อ นอกจากนี้อาหารที่เด็กทานนั้นไม่ควรมีพลังงานเกิน 150 กิโลแคลอรีต่อมื้อสำหรับเด็กโต ส่วนเด็กเล็กไม่ควรเกิน 100 – 120 กิโลแคลอรีต่อมื้อ และไม่ควรกินเกิน 2 มื้อต่อวัน จึงจะดีที่สุด
แต่ถึงแม้สาธารณสุขจะออกมารณรงค์ให้บริษัทห้างร้านที่ผลิตขนม ลดปริมาณน้ำตาล ไขมัน โซเดียม ในอาหารลง 25% แล้วก็ตาม แต่นั่นคงจะไม่ใช่ทางออกที่ดีที่จะแก้ไขปัญหานี้….
ปัญหาทั้งหมดนี้ กุญแจสำคัญอยู่ที่ พ่อแม่ ผู้ปกครอง ซึ่งจะต้องมีเวลาในการดูแลลูกอย่างใกล้ชิดให้มากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเสี่ยง อย่างเวลาปิดเทอม ด้วยการสังเกตพฤติกรรมลูก หาข้อมูลเกี่ยวกับลูก มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมกับเขา ซึ่งทั้งหมดจะเป็นการแก้ปัญหาต้นทางที่ดีที่สุด หากใครทำได้แล้วล่ะ!!! ก็ฝันร้ายก็จะไม่มีวันเกิดขึ้นกับคุณและเจ้าตัวเล็กของคุณได้……
เรื่องโดย: ณัฏฐ์ ตุ้มภู่ Team content www.thaihealth.or.th
Update:15-10-52
อัพเดทเนื้อหาโดย: ณัฏฐ์ ตุ้มภู่