‘ปิดเทอมสร้างสรรค์’ ตอบโจทย์ปิดเทอมนี้ทำอะไรดี?
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน
ภาพโดย สสส.
จากผลสำรวจกลุ่มประชากรตัวอย่าง 1,760 ตัวอย่าง "ปิดเทอมนี้เด็ก- เยาวชน อยากทำอะไร" กิจกรรมที่ตั้งใจจะทำเป็น 3 สิ่งแรก คือ เล่นมือถือ อินเตอร์เน็ต ร้อยละ 71 รองลงมาไปเที่ยวต่างจังหวัด ร้อยละ 53 และหางานพิเศษทำ ร้อยละ 46 สะท้อนถึงทางเลือกที่มีมากนักในการทำกิจกรรมช่วงปิดเทอม
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมมากกว่า 20 เครือข่าย เปิดตัว "กิจกรรมปิดเทอมสร้างสรรค์" เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนได้ใช้เวลาช่วงปิดเทอมในการพัฒนาทักษะชีวิตทางสังคม ปลดปล่อยศักยภาพ ค้นหาตัวเอง รวมถึงเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตในสังคมอย่างมีความสุข
นายสุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า สสส.ทำโครงการกิจกรรมปิดเทอมสร้างสรรค์มาต่อเนื่องเป็นปีที่สอง โดยความร่วมมือของภาคีเครือข่ายที่ผนึกกำลังหน่วยงานระดับประเทศ ทำให้ในปี 2562 มีกิจกรรมและพื้นที่สร้างสรรค์กระจายทุกภูมิภาคกว่า 500 กิจกรรม และสนับสนุนทุนจัดโครงการตลอดทั้งปี
นายสุปรีดา กล่าวว่า สสส.ยังได้รวบรวมข้อมูลของรูปแบบกิจกรรมที่เหมาะสมในแต่ละกลุ่มวัยพบกิจกรรม 3 อันดับแรกที่เด็กสนใจ ได้แก่ อันดับ 1 เข้าค่าย ร้อยละ 45 อันดับ 2 ท่องเที่ยวและทัศนศึกษา ร้อยละ 22.4 อันดับ 3 กิจกรรมกีฬา ร้อยละ 21.9 จากผลวิเคราะห์เมื่อแบ่งออกเป็นช่วงวัยพบ เด็ก ป.4-6 ควรมุ่งเน้นกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์ ความสนุกและน่าสนใจ ช่วยเปิดโลกเรียนรู้ เช่น การไปเที่ยว หรือทัศนศึกษา เยาวชนระดับ ม.ต้น ต้องจัดกิจกรรมไม่มุ่งเน้นเฉพาะความสนุกสนาน โดยต้องกระตุ้นความสนใจหรือส่งเสริมการมีส่วนร่วมให้มากขึ้น ส่วนเยาวชนระดับ ม.ปลาย ต้องเน้นวิชาการสอดแทรกประเด็นทางสังคมเข้าไปด้วย และเยาวชนระดับมหาวิทยาลัย ต้องเป็นกิจกรรมที่นำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน หรือพัฒนาตัวเองได้ โดยกลุ่มเยาวชนสายอาชีวะ ควรทำกิจกรรมแบบอบรมเชิงปฏิบัติการ หรือเวิร์กช็อป ไม่เน้นความสัมพันธ์แต่เน้นทักษะนำไปใช้ได้ในสายอาชีพได้
น.ส.ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สสส. กล่าวว่า ไม่น่าแปลกใจที่ผลสำรวจเด็กอยากเล่นมือถือ อินเตอร์เน็ต ในช่วงปิดเทอมเป็นอันดับแรก เพราะเด็กสมัยใหม่เติบโตมาท่ามกลางโลกดิจิทัล ขณะที่มีเด็กจำนวนไม่น้อยอยากทำกิจกรรมอื่น เช่น การท่องเที่ยว ทัศนศึกษา ทำกิจกรรมสนุกสนาน แต่ส่วนใหญ่บอกว่ากิจกรรมนั้นมักอยู่ไกลบ้าน ส่วนเด็กอยู่ครอบครัวรายได้ปานกลาง-ดี บอกว่ากิจกรรมไม่น่าสนใจ และเด็กที่อยู่ในครอบครัวรายได้น้อย มักไม่มีเวลาและเงินเพียงพอ เพราะต้องทำงานช่วยครอบครัวช่วงปิดเทอม โดยการค้นหาตัวเองเป็นเรื่องสำคัญสำหรับเยาวชน เพราะสิ่งสำคัญในการเรียนรู้ไม่ได้มาจากการอ่านและจำ แต่มาจากการลงมือทำในสิ่งที่ไม่เคยทำนั้นจะช่วยกระตุ้นการเรียนรู้ได้มากที่สุด ไม่ใช่เพียงแต่การจินตนาการเพียงอย่างเดียว โดยโครงการปิดเทอมสร้างสรรค์หากสามารถขยายการเรียนรู้ไปยังเด็กทั่วทุกภูมิภาคจะช่วยสร้างให้เด็กเติบโตมาได้อย่างมีคุณภาพ
"อีกสิ่งสำคัญ คือ การแบ่งปันและการมีส่วนร่วมในสังคม จะช่วยให้เด็กค้นพบความสุขและคุณภาพของตนเอง โดยเด็กได้เรียนรู้ว่าตนไม่ได้ไร้พลัง รู้ว่าตนเองสามารถแบ่งปันสังคมและช่วยเหลือผู้อื่นได้ หลายกิจกรรมปิดเทอมสร้างสรรค์ จึงมีรูปแบบการแบ่งปันและการมีส่วนร่วมที่หลากหลาย เช่น การเรียนรู้ร่วมกับเด็กพิการช่วยให้เด็กเรียนรู้และยอมรับผู้อื่น" น.ส.ณัฐยากล่าว
นางเทพวัณ ภรณวลัย รองอธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน พม. กล่าวว่า ภารกิจหลักของกรมกิจการเด็กและเยาวชน คือ การส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพ การคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิและการส่งเสริมสวัสดิการเด็กและเยาวชน เพื่อให้เด็กเติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพ ในอนาคตหากเด็กเก่งไม่พอ กล้าไม่พอ เด็กอาจต้องแบกรับภาระและใช้ชีวิตในสังคมอย่างยากลำบาก โดยกิจกรรมปิดเทอมสร้างสรรค์จะช่วยสนับสนุนเด็กให้เติบโตในทุกมิติ ขณะเดียวกัน กรมกิจการเด็กและเยาวชนได้ผลักดันกฎหมาย ช่วยให้เด็กและเยาวชนช่วยขับเคลื่อนพลังสร้างสรรค์ เช่น สภาเด็กและเยาวชนทั่วประเทศ 7,880 แห่ง ทั้งในระดับหน่วยงานท้องถิ่น ชุมชนและระดับประเทศ
นายวิบูลย์ เสรีชัยพร ผู้จัดการฝ่ายบริหารลูกค้า ปณท กล่าวว่า ไปรษณีย์ไทย (ปณท) อยู่คู่กับไทยมา 130 ปี เอกลักษณ์ที่ไม่เคยเสื่อมคลายคือ แสตมป์ แม้โลกเปลี่ยนไปเป็นดิจิทัล ทว่าแสตมป์ยังคงมีคุณค่า อย่างน้อยทุกประเทศทั่วโลกยังคงไว้ซึ่งแสตมป์ โดยปีนี้ ปณทได้จัดกิจกรรมวันเดย์แคมป์ ชวนเด็กเปิดหน้าต่างบานเล็กสู่โลกใบใหญ่เรียนรู้เรื่องราวของแสตมป์ทั้งของไทยและทั่วโลกในพิพิธภัณฑ์ตราไปรษณียากรสามเสนใน รวมทั้งยังมีแหล่งเรียนรู้กระจายอยู่ในภูมิภาค ได้แก่ เชียงใหม่ ขอนแก่น และภูเก็ต ช่วยสร้างการเรียนรู้ต่อเด็กอย่างไม่รู้จบและสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กได้ค้นหาตนเอง
ด้าน นายชัยวัฒน์ เทพทวี ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ การเกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ กล่าวว่า ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ เปิดนิทรรศการเกี่ยวข้องกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เช่น การเรียนรู้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การทำการเกษตร อีกทั้งเปิดกิจกรรมกลางแจ้งและกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ด้านการเกษตรในเด็กและเยาวชนได้ลงมือปฏิบัติจริงในช่วงวันเสาร์และอาทิตย์ ช่วยสร้างจิตสำนึกเด็กในเมือง เปิดการเรียนรู้นอกห้องเรียน เช่น ลงมือทำนาเพื่อเรียนรู้ถึงความยากลำบากของการทำนากว่าจะได้ข้าวแต่ละเม็ด เป็นต้น
น.ส.ศรินยา ปาทา รักษาการผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมและพัฒนาพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กล่าวว่า พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กระจายอยู่ทั่วประเทศ 42 แห่ง โดยช่วงปิดเทอมได้เปิดกิจกรรมให้เด็กได้เข้ามาเรียนรู้ และน้อมรับนโยบายของรัฐบาลส่งเสริมความสัมพันธ์ของครอบครัว โดยเปิดให้เด็กและผู้ปกครองเข้าชมฟรีทุกวันอาทิตย์ ตลอดจนเปิดโอกาสแก่เด็กด้อยโอกาส พิการให้สามารถเข้ามาเรียนรู้ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
ส่วน น.ส.หทัยการณ์ หาญกล้า "น้องผัดไท" ผู้เข้าประกวดเดอะวอยซ์ไทยแลนด์ 7 ตัวอย่างเยาวชนผู้ใช้วันว่างอย่างสร้างสรรค์ เล่าว่า เริ่มร้องเพลงมาตั้งแต่ 3 ขวบ ก่อนเข้าประกวดตามโรงเรียน เวทีใหญ่ ตามจังหวัดและรู้ว่าตนเองเริ่มชอบร้องเพลง จึงใช้เวลาว่างฝึกร้องเพลงและทำกิจกรรมสร้างสรรค์ แม้อาชีพนักร้องอาชีพไม่ใช่ความฝัน แท้จริงฝันอยากเป็นครูสอนคณิตศาสตร์ แต่อยากนำความชอบของตนเองช่วยเปิดโอกาสการเรียนรู้และสร้างประสบการณ์ใหม่ ขณะที่เพื่อนวัยเดียวกันอาจไม่ได้เรียนรู้ในสิ่งที่เราได้ทำ เชื่อว่ากิจกรรมปิดเทอมสร้างสรรค์จะช่วยเปิดโลกเรียนรู้ใหม่ให้แก่เด็กและเยาวชน
ด.ญ.สาวิตรี จันทร์หอม "น้องนุ่น" นักเรียนชั้น ป.6 โรงเรียนศรีรัตน์วิทยา กทม. กล่าวว่า "ช่วงปิดเทอมอยากไปเที่ยวต่างจังหวัด อยากไปสถานที่ที่ยังไม่เคยไป ส่วนตัวหนูชอบภูเขา อยากเดินทางไปตั้งแคมป์บนภูเขา แต่ส่วนใหญ่ทุกช่วงปิดเทอมหนูจะเรียนพิเศษ จึงทำให้ไม่มีเวลา แต่เมื่อมีเวลาว่างก็จะใช้เวลาเล่นดนตรี ปิดเทอมนี้อยากให้เด็กคนอื่นใช้เวลาให้เป็นประโยชน์แทนการใช้เวลาเล่นเฟซบุ๊ก หรืออินสตาแกรม"