ปิดเทอมปี 68 ลดพฤติกรรมติดจอ สร้างสรรค์วันว่างไปกับกิจกรรมฉ่ำเว่อ
เรื่องโดย: อัจฉริยา คล้ายฉ่ำ Team Content www.thaihealth.or.th
ข้อมูลจากโครงการปิดเทอมสร้างสรรค์
ภาพโดย: อัจฉริยา คล้ายฉ่ำ Team Content www.thaihealth.or.th
150 วัน ของการปิดเทอม ควรเป็นช่วงเวลาที่เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ ได้เล่น และได้เติบโตอย่างมีคุณภาพ ดังนั้น หากสามารถทำให้ “ปิดเทอมสร้างสรรค์ได้ ย่อมเป็นก้าวสำคัญของเด็กและเยาวชนไทย จะได้เติบโตอย่างมีคุณภาพและเป็นอนาคตที่ดีของประเทศ”
เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าว เป็นช่วงที่มีคุณค่ามหาศาลในการพัฒนาเด็กและเยาวชน หากใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ เด็กจำนวนมากกลับใช้เวลาไปกับมือถือ อินเทอร์เน็ต และกิจกรรมออนไลน์ที่อาจส่งผลเสียต่อพฤติกรรมและพัฒนาการ เช่น การติดเกม พนันออนไลน์ หรือเสพเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม
รายงานการใช้ไอซีที ของเด็กและเยาวชนจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า เด็กและเยาวชนที่ใช้งานอินเทอร์เน็ต เพิ่มขึ้นจาก 86.3% ในปี 2562 เป็น 98.2% ในปี 2566 สะท้อนให้เห็นว่า เด็กและเยาวชนใช้เวลาออนไลน์มากขึ้น
โดยเฉพาะในช่วงปิดเทอมพบจากข้อมูลการใช้งานอินเทอร์เน็ตของเด็กและเยาวชนไทยในปี 2566 ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
น.ส.ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักอาวุโส สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยผลสำรวจพฤติกรรมและความต้องการแหล่งเรียนรู้ของเยาวชนอายุ 15-25 ปี จากทั่วประเทศในปี 2565 พบว่า 60% ของเด็กและเยาวชนไม่เคยไปศูนย์ฝึกอาชีพ 42.7% ไม่เคยไปพิพิธภัณฑ์หรือหอศิลป์ 29% ไม่เคยไปสวนสัตว์ 22.8% ไม่เคยไปสนามกีฬา โดยสาเหตุหลักคือระยะทางไกลและปัญหาการเดินทาง ขณะที่มากกว่า 60% ของเยาวชนอยู่ในครอบครัวรายได้น้อย ซึ่งส่งผลให้ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ได้
ดังนั้น จึงเป็นที่มาของเรื่องราวปิดเทอมปี 68 ลดพฤติกรรมติดจอ จาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย 40 องค์กร Kick Off ภายใต้แนวคิด “ปิดเทอมสร้างสรรค์ กิจกรรมฉ่ำเว่อ” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดพื้นที่ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต และสนับสนุนกิจกรรมการเรียนรู้สร้างสรรค์สำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัวทั่วประเทศ ได้ใช้เวลาช่วงปิดเทอมอย่างมีคุณภาพ
ความจริงแล้ว เทศกาลแห่งการเรียนรู้ในช่วงปิดเทอมของเด็กและเยาวชนเป็นที่รู้จักกันในวงกว้าง เริ่มต้นครั้งแรกในปี 2554 โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดทำต่อเนื่องมาเป็นประจำในทุก ๆ ปี
ภายหลังจากการคลี่คลายของวิกฤติโควิด-19 ในปี 2565 โครงการปิดเทอมสร้างสรรค์ได้ถูกขับเคลื่อนต่อยอดสู่ “เมืองแห่งการเรียนรู้” ใน 4 ภูมิภาค 4 จังหวัดนำร่อง คือ กรุงเทพมหานคร อุตรดิตถ์ นครราชสีมา ยะลา และอีก 25 จังหวัดนำร่องทั่วประเทศ
สำหรับปี 2568 นี้ เทศกาล “ปิดเทอมสร้างสรรค์ อัศจรรย์วันว่าง” กลับมาจัดอย่างยิ่งใหญ่กว่าทุกครั้งที่ผ่านมา พร้อมสร้างพื้นที่แห่งโอกาสและการเรียนรู้ให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้ผ่านกิจกรรมที่หลากหลายมากกว่า 1,000 กิจกรรม จาก 958 พื้นที่การเรียนรู้กว่า 30 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งจะรองรับผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้มากกว่า 100,000 คน ตลอดเดือนมีนาคม – พฤษภาคม
ปีนี้ ขยายพื้นที่เรียนรู้ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายใน 4 ภูมิภาค 9 จังหวัดนำร่อง กรุงเทพมหานคร สุพรรณบุรี อุตรดิตถ์ ลำพูน ลำปาง นราธิวาส กระบี่ ขอนแก่น นครราชสีมา
ขณะที่ นายธนากร ดอนเหนือ อธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) กระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงผลกระทบจากการใช้เทคโนโลยีว่า “เมื่อเด็กและเยาวชนใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับอินเทอร์เน็ต อาจทำให้เกิดปัญหาพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ รวมถึงการขาดการออกกำลังกายและสุขภาวะที่ไม่ดีต่อร่างกาย เป็นปัญหาสำคัญที่ต้องแก้ไข เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้สื่อออนไลน์เกินไป”
“การร่วมมือกับ สสส. และภาคีเครือข่ายในการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตจึงเป็นเรื่องที่น่ายินดี โดยผ่านหลักการทำงาน 6 ด้าน ได้แก่ การพัฒนาระบบฐานข้อมูลแหล่งเรียนรู้, ยกระดับคุณภาพแหล่งเรียนรู้, พัฒนาศักยภาพนักจัดการเรียนรู้, จัดกิจกรรมสร้างการเรียนรู้, ศึกษาระบบธนาคารหน่วยกิต, และสนับสนุนบทเรียนและงานวิจัย และงบประมาณ สำหรับการจัดการแหล่งเรียนรู้ เพื่อให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงโอกาสเรียนรู้ที่มีคุณภาพ” นายธนากร
ด้าน น.ส.ศิริพร พรมวงศ์ หัวหน้าโครงการปิดเทอมสร้างสรรค์ กล่าวถึงการพัฒนาแพลตฟอร์ม ปิดเทอมสร้างสรรค์.com ที่เชื่อมโยงองค์กรและเด็ก ๆ ตามความสนใจ เพื่อให้เป็นโอกาสในการเรียนรู้และพัฒนาทักษะชีวิต ยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างโอกาสให้เด็กทุกพื้นที่ ความพิเศษของโครงการฯ ในปี 2568 คือ การพัฒนาฐานข้อมูลผ่านระบบ LINE OA ‘@happyschoolbreak’ เพื่ออำนวยความสะดวกในการค้นหากิจกรรมวันหยุดให้กับเด็กและผู้ปกครอง
การใช้เวลาว่างในช่วงปิดเทอมให้เกิดประโยชน์สูงสุดเป็นสิ่งที่สำคัญ และโครงการ “ปิดเทอมสร้างสรรค์ ปี 68” นั้นไม่เพียงแค่ช่วยเด็กและเยาวชนได้เรียนรู้ทักษะชีวิตใหม่ ๆ
แต่ยังช่วยให้พวกเขาได้พัฒนาความสามารถที่จะนำไปใช้ต่อยอดในชีวิตจริง ไม่ว่าจะเป็นในด้านการศึกษา การพัฒนาทักษะ ฝึกงานจิตอาสา หรือหารายได้เสริมจากการทำพาร์ตไทม์ ล้วนเป็นประโยชน์ในอนาคต
สสส.และภาคีเครือข่ายขอสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนหันมาใช้วันว่างช่วงปิดเทอมให้เกิดประโยชน์อย่างสร้างสรรค์ ลดเวลาหน้าจอ พัฒนาศักยภาพ ต่อยอดทักษะอาชีพ เพื่อสุขภาวะที่ดีต่อไป หากปิดเทอมนี้ น้อง ๆ หนู ๆ ยังนึกไม่ออกว่าจะใช้เวลาไปกับกิจกรรมอะไรดี สามารถเข้าไปหารายละเอียดเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ www.ปิดเทอมสร้างสรรค์.com หรือ เฟซบุ๊ก Happy Schoolbreak
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย มุ่งมั่นมอบโอกาสให้เด็ก เยาวชน และครอบครัว ไม่เพียงได้ใช้เวลาช่วงปิดเทอมอย่างมีคุณภาพเท่านั้น ต่อไปยังตั้งความหวัง “ทุกปิดเทอมจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป…ทุกวันหยุดคือวันแห่งการเรียนรู้ อีกด้วย