ปิดเทอมนาน ๆ แล้วทำอะไรดี…?
เรื่องโดย : ดนยา สุเวทเวทิน Team Content www.thaihealth.or.th
ภาพประกอบโดย : ณัฐพร ชุ่มลือ Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ
ปิดเทอมนาน ๆ แล้วทำอะไรดี…? คงเป็นคำถามที่ไม่เพียงดังออกมาจากคุณพ่อ คุณแม่ และผู้ปกครอง แต่เชื่อได้ว่าเป็นคำถามที่ตัวน้อง ๆ นักเรียนเองก็ต้องเคยตั้งคำถามนี้กับตัวเองและเพื่อน ๆ อยู่เช่นกัน
รู้หรือไม่…สิ่งที่น้อง ๆ เยาวชนสามารถทำได้ไม่ได้มีแค่การช่วยเหลืองานบ้าน หาที่เรียนพิเศษกวดวิชา หรือ หางานพิเศษทำเท่านั้น แต่ยังมีกิจกรรมดี ๆ อีกมากมายที่พร้อมรอเปิดโลกการเรียนรู้ โลกแห่งจินตนาการ และโลกแห่งประสบการณ์ที่มีค่ารออยู่มากมาย
ทีมเว็บไซต์ สสส. เชื่อว่า หากน้อง ๆ นักเรียนและนักศึกษาได้ลองหากิจกรรมที่สร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ทำในช่วงปิดเทอมสัก 1 อย่าง อาจเป็นการรีเซ็ทความคิด ทัศนคติ และอาจค้นหาตัวตนและความฝันของตัวเองเจอก็ได้ วันนี้เราจึงนำตัวอย่างบทสัมภาษณ์จากน้อง ๆ นักเรียน นักศึกษา ที่เคยเก็บเกี่ยวประสบการณ์ดี ๆ มาฝากค่ะ
ในบทความนี้เราได้ ‘น้องเดียร์’ หนุ่มวิศวะโยธา นิสิตชั้นปีที่ 2 จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มาเล่าประสบการณ์การเข้าค่ายวิชาการให้ฟังว่า ตอนเรียนมัธยมได้มีโอกาสเข้าร่วมค่ายวิชาการกับทางโรงเรียนหลายค่าย ทั้ง ค่ายลานเกียร์ ครั้งที่ 14 : Larngear Camp 14th คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ค่าย BMP (Benchamatheputhit Phetchaburi School) tue camp และได้มีโอกาสทำ ค่าย Math Gifted Program ครั้งที่15 ที่ทำร่วมกับนักเรียนในกรุงเทพฯ เช่น รร.เตรียมอุดมฯ รร.กรุงเทพคริสเตียนฯ และ รร.สตรีวิทยา เป็นต้น ซึ่งค่ายที่ประทับใจมากที่สุดในตอนนั้นก็คือค่าย ‘BMP tue camp ครั้งที่ 1’ เพราะได้เจอกับพี่ ๆ จากโรงเรียนที่เรียนจบไปแล้ว ได้รู้จักกับเพื่อนต่างห้องที่ปกติเคยเดินสวนกันอยู่บ่อย ๆ ได้ความรู้ มีโอกาสได้ทำข้อสอบเก่า ผ่านการจำลองสนามและจับเวลาทำข้อสอบจริง ทำให้รู้ว่าแต่ละคนยังมีจุดผิดพลาดตรงไหน และทุก ๆ กิจกรรมในค่ายติวนั้นไม่เครียดเลย พี่ ๆ ให้ความเป็นกันเองและตั้งใจทำค่ายเพื่อน้อง ก่อนจบค่ายก็มีพิธีบายศรีสู่ขวัญที่ได้รับทั้งพรและกำลังใจไปเต็ม ๆ ทำให้กลับมามุ่งมั่นที่จะทำตามความฝันอย่างจริงจัง
“ถ้าเราไม่ได้ไปทำกิจกรรม ไม่ได้ไปเข้าค่ายครั้งนั้น มันก็เหมือนเป็นวันธรรมดา ๆ ที่หยุดติดกันเป็นเดือน ๆ โดยที่ไม่ได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ในอนาคตอีกปีสองปี เราอาจจะลืมวันนี้ไปแล้วก็ได้ แต่ถ้าเราไปเข้าค่าย ได้ออกจาก Comfort Zone ของตัวเอง เราจะได้เจอสิ่งใหม่ ๆ อีกมากมาย มันจะเป็นอีกหนึ่งเรื่องราวในชีวิตที่เราจะจดจำไปตลอด”
ก่อนเขาจะบอกต่อไปว่า ประสบการณ์ดี ๆ ที่ได้จากการร่วมกิจกรรมในแต่ละค่ายนั้นปลุกพลังให้เขายังคงกลับมาทำค่าย BMP tue camp ครั้งที่ 2 และครั้งที่ 3 ที่โรงเรียน แม้จะเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ และก้าวขึ้นมาในฐานะประธานค่าย BMP tue camp ครั้งที่ 4 เมื่อช่วงปี 2561 และจะยังตั้งใจจัดค่ายให้น้อง ๆ รุ่นต่อ ๆ ไป
หลังจากเรียนจบ ม.6 จากโรงเรียนเบญจมเทพอุทิศ จังหวัดเพชรบุรี ‘เดียร์’ ก็ได้เข้าศึกษาต่อที่ภาควิชาวิศวกรรมโยธาอย่างที่ตั้งใจไว้ และยังคงสวมบทบาทเป็นพี่ค่ายต่อไป โดยหลัก ๆ เขาเป็นพี่ค่ายวิชาการ อย่าง ค่ายดงตาลแคมป์ ครั้งที่ 13 (Dongtan Camp) ค่าย YC Camp ครั้งที่ 4 (Young Civil Camp) และ YC Camp ครั้งที่ 5 ที่พาน้อง ๆ วัยนักเรียนไปรู้จักกับ 'วิศวกร' แต่ละสาขาว่าต้องเรียนและทำงานอย่างไร และพาไปท่องโลกของวิศวกรรมโยธา ให้เข้าใจในการทำงาน และต่อยอดสู่การทำงานด้านไหนได้บ้าง โดยทำร่วมกับเพื่อน ๆ พี่ ๆ นิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
หากปิดเทอมนี้ น้อง ๆ นักเรียนมัธยมต้นไปจนถึงอุดมศึกษายังนึกไม่ออกว่าจะใช้เวลาให้ผ่านไปกับกิจกรรมอะไรดี ก็สามารถเข้าไปหารายละเอียดเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ www.ปิดเทอมสร้างสรรค์.com หรือ เฟซบุ๊ก Happy Schoolbreak นะคะ เพราะเขาเปิดกว้างทั้งกิจกรรมที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมเวิร์คช็อป กิจกรรมวิ่ง งานอาสา โครงการประกวดสื่อ ท่องเที่ยวตามแหล่งเรียนรู้ในแต่ละจังหวัด เป็นต้น เพื่อเป็นส่วนหนึ่งให้น้อง ๆ ได้เปิดโอกาสการเรียนรู้ ค้นหาตัวตนและความฝันนั่นเอง
โดยในปี 2562 นี้ สสส. และภาคีเครือข่ายได้ร่วมกันระดมเครือข่ายการเรียนรู้ในท้องถิ่น สนับสนุนการดำเนินกิจกรรมช่วงปิดเทอมและวันหยุดสร้างสรรค์ให้กับเยาวชนในพื้นที่นำร่องเพิ่มเติมใน 15 จังหวัด ประกอบด้วย 1.ลำพูน 2.พะเยา 3.ลำปาง 4.น่าน 5.เลย 6.ขอนแก่น 7.กาฬสินธุ์ 8.มหาสารคาม 9.อุบลราชธานี 10.สุรินทร์ 11.สระบุรี 12.สงขลา 13.พัทลุง 14.ตรัง และ 15. สตูล อีกด้วย