ปากคำพ่อพริตตี้ “อย่าเกิดซ้ำกับใครอีก”
ขอเป็นบทเรียนครอบครัวอื่น
การเสียชีวิตของ “น้องจูน” น.ส.โชติมา จินตนาผล นักเรียนชั้น ม.6 ซึ่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารเสริมลดความอ้วนมากิน หวังลดน้ำหนักเพื่อให้ได้ทำงานพริตตี้นั้น คนที่เสียใจที่สุดคงหนีไม่พ้นคนในครอบครัว โดยเฉพาะผู้เป็นพ่อแม่ เช่นเดียวกับครอบครัว “น้องจูน” ที่คงไม่อยากให้เกิดเหตุเช่นนี้กับครอบครัวใดอีก
น้องจูน เหยื่ออาหารเสริมลดอ้วน
นายพิชัย จินตนาผล บิดา “น้องจูน” ผู้เสียชีวิต กล่าวว่า ทราบว่าลูกสาวสั่งยามาจากเว็บไซต์หนึ่ง ช่วงปิดเทอมที่ผ่านมา เพราะเห็นว่ามีพัสดุมาส่งที่บ้าน และจากการตรวจสอบคอมพิวเตอร์ก็เห็นว่า มีการเข้าเว็บไซต์ที่เกี่ยวกับอาหารเสริม ช่วงที่ผ่านมาก็พบว่าลูกสาวมีความอยากอาหารลดลง ไม่อยากกินข้าว และบอกตนว่า อยากลดความอ้วนเลยไม่กินข้าว ที่สำคัญวันก่อนที่จะเสียชีวิต ไปรับลูกสาวที่ทำงานพิเศษช่วงปิดเทอม และลูกสาวบอกว่า เหนื่อย และเมื่อตื่นเช้าอีกวันกลับพบว่าลูกสาวเสียชีวิตแล้วโดยมีอาการเกร็งเอามือจิกแขนตนเอง
“อยากให้สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นบทเรียนแก่ทุกครอบครัว ไม่อยากให้เกิดซ้ำกับใคร และอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้มงวด และเอาผิดกับเว็บไซต์ที่หลอกขายยาอันตรายให้เด็กและเยาวชนและไม่อยากให้คนอื่นเป็นเหยื่ออีก เพราะเว็บไซต์เหล่านี้ไม่ได้สนใจอันตรายที่เกิดขึ้นกับใครต้องการจะขายของเพียงอย่างเดียว จำเป็นต้องระวังอย่างมาก นอกจากนี้ อยากขอให้กระทรวงสาธารณสุขตรวจสอบสารที่อยู่ในผลิตภัณฑ์ที่ ลูกสาวผมรับประทานเข้าไปว่า มีสารอะไรทำไมถึงรุนแรงทำให้เสียชีวิตได้” นายพิชัย กล่าว
นายวันชัย สอนศิริ เลขาธิการสภาทนายความ กล่าวกรณี “น้องจูน” เสียชีวิตจากการกินยาลดความอ้วนหลายขนาน ที่สั่งซื้อผ่านเว็บไซต์ว่า น่าจะเป็นเพราะหลงเชื่อโฆษณาขายยาลดความอ้วนในเว็บไซต์ ซึ่งไม่ได้ผ่านการตรวจสอบจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. โดยหลักต้องรับอนุญาตจาก อย.ก่อนเป็นการโฆษณาเกินจริง ผิดกฎหมาย มีโทษทางอาญา ทั้งจำและปรับ โดยเฉพาะเว็บไซต์ที่ลงโฆษณา จะต้องตรวจสอบสินค้าก่อน ถ้ายามีผลร้ายแก่ผู้บริโภคก็จะต้องรับผิด ฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำผิดนั้น จะอ้างไม่รู้เพื่อปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ สำหรับผู้เสียหายคือ พ่อ แม่ ก็ต้องไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนในท้องที่ ซึ่งความผิดเกิดหรือเชื่อว่าเกิดในเขตอำนาจ คดีนี้มีความผิดทั้งแพ่งและอาญา เนื่องจากความตายเป็นผลโดยตรงจากการขายยาที่ไม่มีคุณภาพ ดังนั้น ค่าเสียหายส่วนนี้จึงฟ้องเรียกเอาค่ารักษาพยาบาล ค่าปลงศพ ค่าขาดไร้อุปการะ ได้ทั้งสิ้น ถ้ามาที่สภาทนายความจะฟ้องเรียกค่าเสียหายให้
นายวันชัย กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ หากฟ้องแพ่งตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค ก็มีสิทธิ์เรียกค่าเสียหายเชิงลงโทษ เพื่อลงโทษแก่ผู้ประกอบธุรกรรมให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง เพราะเดิมไม่มีกฎหมายให้ฟ้องเรียกค่าเสียหายเชิงลงโทษได้ จำเลยก็ได้ใจ อย. และ สคบ. ก็ควรมีหน่วยเฝ้าระวังทางเว็บไซต์ ถ้าพบว่ามีโฆษณาขายยาหรือเครื่องอุปโภคบริโภคในลักษณะเกินจริง หรือไม่ผ่านการตรวจสอบก็เรียกมาสอบสวน หรือแจ้งเตือนประชาชนให้รู้ตัว ไม่ใช่วัวหายล้อมคอก จะอ้างบุคลากรไม่พอก็ไม่ถูก เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ
ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด
Update: 3-06-53
อัพเดตเนื้อหาโดย : คีตฌาณ์ ลอยเลิศ