ปั้นฝันเด็กพิการเรียนไหนดี แนะแนววางแผนการศึกษา

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์


ปั้นฝันเด็กพิการเรียนไหนดี แนะแนววางแผนการศึกษา thaihealth


แฟ้มภาพ


ข้อมูลของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พบว่า คนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการได้รับการศึกษา 1,533,159 คน ในจำนวนนี้ศึกษาระดับชั้นประถมศึกษามากที่สุด อยู่ที่ 1,249,795 คน รองลงมาได้แก่ระดับชั้นมัธยมศึกษา 169,606 คน ประกาศนียบัตรวิชาการศึกษา 35,085 คน ไม่ระบุการศึกษา 24,402 คน และอุดมศึกษา 21,220 คน


จากสถิติชี้ว่า คนพิการส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษา สาเหตุส่วนใหญ่มาจากปัจจัยแวดล้อมในครอบครัว สภาพร่างกายที่อาจจะทำให้ผู้อื่นมองว่าไม่เอื้อต่อการเรียน รวมถึงสถานะทางเศรษฐกิจของครอบครัว


สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับบริษัท กล่องดินสอ จำกัด จัดงาน "เด็กพิการเรียนไหนดี'64 ตอน ปั้นฝันเป็นตัว" โดยมีกิจกรรม ให้นักเรียนคนพิการได้เรียนรู้ระบบการสอบเข้า เพื่อศึกษาต่อ ความรู้เรื่องสิทธิทางการเรียน การรับเข้าและดูแลนักศึกษาพิการจากศูนย์บริการนักศึกษาพิการ ของมหาวิทยาลัยและอาชีวศึกษากว่า 18 สถาบัน อีกทั้งมีกิจกรรมเวิร์กช็อปปั้นฝันเป็นตัว การเตรียมตัวและเทคนิคการสอบ รวมถึงรุ่นพี่นักศึกษาคนพิการ ที่มาบอกเล่าประสบการณ์การเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย เป็นแนวทางในการตัดสินใจวางแผนการศึกษาต่อ ที่ชัดเจนมากขึ้น


ผศ.ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า งานนี้นับว่าเปิดกว้างและให้ความสำคัญของโอกาสทางการศึกษาได้อย่างเท่าเทียม กระทรวงการอุดมศึกษาฯ มีทุนสนับสนุนคนพิการในการศึกษาต่อระดับชั้นปริญญาตรี และพยายามขับเคลื่อนให้สิทธิเข้าถึงการเรียนฟรีให้เพิ่มมากขึ้น ปรับสภาพแวดล้อมให้นักศึกษาพิการเข้าเรียนได้ และจะขยายความร่วมมือไปยังมหาวิทยาลัยภาคเอกชนด้วย


ด้านนางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการ สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า โจทย์ใหญ่คือ เราต้องสร้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้เด็กพิการเท่าเทียมในสังคม แม้ร่างกายของเขาจะแตกต่าง แต่ศักยภาพและทักษะของคนกลุ่มนี้ล้ำเลิศไม่แพ้ใคร โดยสร้างพื้นที่ชุมชนออนไลน์ผ่านเพจ "เด็กพิการเรียนไหนดี" และกลุ่มเฟซบุ๊ก "เด็กพิการอยากเรียนมหา'ลัย" ซึ่งปีที่ผ่านมามีเด็กพิการสนใจศึกษาต่อระดับชั้นปริญญาตรีร้อยละ 76 ที่เหลือสนใจวิชาสายอาชีพ ปวช.-ปวส. มากขึ้น


ด้านน้องเมธี ธิติปฏิพัทธ์ พิการทางการมองเห็น นิสิตชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ซึ่งมาร่วมงานเด็กพิการเรียนไหนดีเมื่อปีที่แล้ว เล่าว่า ตนเองอยู่จังหวัดชลบุรี ซึ่งมีนักท่องเที่ยวชาวจีนเยอะมาก จึงคิดว่าหากสื่อสารภาษาจีนได้ก็คงดี และมาเจอกับบูธแนะแนวการศึกษาของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ที่มีหลักสูตรรองรับและสนับสนุนสื่อการเรียนการสอนสำหรับคนพิการทางการมองเห็น จึงสอบเข้าเรียนและได้รับความช่วยเหลือจากมหาวิทยาลัย และหวังว่าความรู้ที่ได้จะนำไปใช้เป็นอาชีพเลี้ยงตัวเองในอนาคต

Shares:
QR Code :
QR Code