‘ปั่น’ ปันปัญญา ส่งเสริมเด็กเมืองเลยรักอ่าน
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
ภาพประกอบจากแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน
ประโยชน์ของการอ่านของเด็กก่อนวัยเรียน หรือช่วงอายุตั้งแต่แรกเกิดถึง 6 ปี ถือว่ามีความสำคัญมาก เพราะหากเด็กคนใดที่ได้รับการฝึกอ่านช่วงนี้ จะส่งผลให้เด็กคนนั้นมีพัฒนาการทางด้านสมอง จิตใจ และอารมณ์ ได้รุดหน้ากว่าเด็กอื่นๆ ที่ไม่ได้รับโอกาส
แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงรณรงค์ให้สังคมให้ความสำคัญกับการอ่าน ด้วยการจัดกิจกรรมเดินสายรณรงค์ให้แก่ทุกหน่วยงาน องค์กร โรงเรียน และชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศเข้าถึงการอ่านเพิ่มมากขึ้น ล่าสุดได้ร่วมมือกับสถาบันไทเลยเพื่อการพัฒนา (กลุ่มก่อการดี) โครงการเอราวัณอ่านเลยยกกำลังสุขปี 2559 และหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในอำเภอเอราวัณ จังหวัดเลย
จัดกิจกรรม "ปั่น ปัน ปัญญา : ทำดีเพื่อพ่อ @ เลย" เพื่อขับเคลื่อนให้อำเภอเอราวัณเป็น "อำเภอรักการอ่าน" และส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านในพื้นที่อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน โดยได้รับเกียรติจากนายสมศักดิ์ ชุ่มแจ่ม นายอำเภอเอราวัณ เป็นประธานในพิธีเปิดและปล่อยขบวนจักร ยาน ปั่น ปัน ปัญญา : ทำดีเพื่อพ่อ @ เลย เมื่อเร็วๆ นี้
นางสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. กล่าวว่า แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน ร่วมกับสถาบันไทเลยเพื่อการพัฒนา และหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในอำเภอเอราวัณ ได้มีการขับเคลื่อนงานส่งเสริมการอ่านในชุมชนท้องถิ่นมาอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ การดำเนินงานที่ผ่านมาพบว่า ในพื้นที่ยังขาดแคลนหนังสือดีสำหรับเด็กเป็นอย่างมาก ซึ่งกิจกรรม "ปั่น ปัน ปัญญา" เป็นงานสื่อสารที่แผนงานฯ ได้ออกแบบผสานการออกกำลังกาย และสร้างจิตอาสา ด้านการอ่านเข้าด้วยกัน สำหรับกิจกรรม "ปั่น ปัน ปัญญา : ทำดีเพื่อพ่อ @ เลย" จัดขึ้นเพื่อเป็นการระดมหนังสือ และสร้างกระแสการรักการอ่านในพื้นที่ เปิดพื้นที่ส่งเสริมการอ่าน Book Sharing เพื่อให้คนในชุมชนเข้าถึงการอ่าน โดยกิจกรรมในครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากนักปั่นจิตอาสาทั้งเด็กและผู้ใหญ่ จากภาคส่วนต่างๆ กว่า 500 คน ที่มาช่วยกันระดมหนังสือเข้าร่วมโครงการ ผ่านการลงทะเบียน 1 คนต่อ 1 เล่ม รวมถึงการรณรงค์เชิญชวนบริจาคผ่านสื่อ ต่างๆ
นายกิตติพงษ์ ภาษี ผู้อำนวยการสถาบันไทเลยเพื่อการพัฒนา กล่าวว่า ในปีนี้ทางสถาบันไทเลยเปิดพื้นที่การอ่านทั้ง 4 ตำบล ได้แก่ ตำบลเอราวัณ ตำบลผาอินทร์แปลง ตำบลผาสามยอด และอำเภอทรัพย์ไพวัลย์ เพื่อร่วมการหนุนเสริมขับเคลื่อนทั้งอำเภอเอราวัณให้เป็น "อำเภอรักการอ่าน" และสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในสังคม เพื่อให้ทุกคน ทุกหน่วยงาน เห็นถึงความสำคัญของการอ่าน กิจกรรมในวันนี้ พี่น้องชาวอำเภอเอราวัณและนักปั่นจิตอาสาจะปั่นไปตามเส้นทางกว่า 10 กิโลเมตร โดยใช้เส้นทางจุดปล่อยตัวที่หน้าสำ นักงานเทศบาลเอราวัณ และจะไปสิ้นสุดที่สนามกีฬาบ้านวังเลา นอกจากจะปั่นเพื่อรณรงค์รับบริจาคหนังสือและมอบตู้หนังสือให้กับ 16 หมู่บ้านแล้ว ยังมีกิจกรรมการประกวดอ่านหนังสือ ตอบคำถามชิงรางวัล และอื่นๆ อีกด้วย
"กิจกรรมสำคัญที่เกิดขึ้นในวันนี้คือ ชาวอำเภอเอราวัณจะได้ร่วมลงนามแสดงความอาลัยแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 และร่วมกันร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีพร้อมทั้งแปรอักษรเป็นเลขเก้าไทย เพื่อเป็นการแสดงความอาลัยและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน" ผู้อำนวยการสถาบันไทเลยเพื่อการพัฒนากล่าว
อีกด้านหนึ่งในเวลาใกล้เคียงกัน แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. ยังได้ร่วมมือกับจังหวัดอุบลราชธานี โดยสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (สำนักงาน กศน.) เครือข่ายอุบลราชธานี มหานครแห่งการอ่าน จัดการอบรมหลักสูตรปฏิบัติการ "ปลูกฝังรักการอ่านสำหรับเด็กปฐมวัย" เพื่อให้ผู้ดูแลเด็กปฐมวัย บรรณารักษ์ มีความรู้ ความเข้าใจ ในการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน เพื่อพัฒนาสมรรถนะเด็กในทุกๆ ด้าน เพราะเด็กปฐมวัยคือรากฐานสำคัญของการพัฒนาเมืองแห่งอนาคต
นางสุดใจกล่าวว่า อบรมหลักสูตรปฏิบัติการ "ปลูกฝังรักการอ่านสำหรับเด็กปฐมวัย" ในครั้งนี้ เกิดจากความร่วมมือของจังหวัดอุบลราชธานี โดยสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (สำนักงาน กศน.) เครือข่ายอุบลราชธานี มหานครแห่งการอ่าน ที่จะร่วมกันขับเคลื่อนให้อุบลราชธานีเป็นมหานครแห่งการอ่าน
หลังจากการจัดเวทีถอดบทเรียน "อ่านเพื่อรู้สู่อุบลราชธานี มหานครแห่งการอ่าน" ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา จังหวัดอุบลฯ แปรยุทธศาสตร์แผนแม่บทส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่าน การเรียนรู้ของไทย สู่การยกระดับขับเคลื่อนนครแห่งการอ่านสู่ระดับภูมิภาค และสานพลัง 20 จังหวัดในภาคอีสาน เพื่อร่วมสร้างให้แผ่นดินไทยมีวัฒนธรรมการอ่านที่ยั่งยืน
สำหรับแผนปฏิบัติการในครั้งนี้จะได้สร้างกลไกแกนนำส่งเสริมการอ่านในกลุ่มครูปฐมวัย บรรณารักษ์ เพื่อลงพื้นที่ปฏิบัติจริงกับเด็กปฐมวัย เพราะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการพัฒนามนุษย์ เด็กๆ เริ่มมีพัฒนาการทางภาษาตั้งแต่แรกเกิด โดยระหว่างช่วงวัย 0-2 ปี จะเริ่มฟังและพูด เริ่มสะสมคำศัพท์ เมื่ออายุ 3-4 ปี จะฝึกเรียบเรียงประโยค ถ่ายทอดภาษาแม่นยำมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเด็กมีพัฒนาการมากขึ้น ความคิดกับภาษาจะเริ่มมีความสัมพันธ์กันมากขึ้น ความคิดจะแสดงออกผ่านภาษา
ขณะเดียวกัน ภาษาที่แสดงออกมาก็จะมีความเป็นเหตุเป็นผลมากขึ้น การอ่านถือเป็นเครื่องมือที่ช่วยพัฒนาทักษะทางภาษา จึงนำไปสู่การพัฒนาทางความคิด และจังหวัดอุบลราชธานีก็เดินมาถูกทางแล้วด้วย
การสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนไทยรักอ่าน ถือเป็นการเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความรู้ควบคู่เสริมวุฒิภาวะทางอารมณ์และความคิด เพื่อรอวันเติบใหญ่เป็นกำลังหลักพัฒนาชาติและทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม