‘ปัตตานีโมเดล’ สร้างกลไกการควบคุมยาสูบ
สสส.หนุน "โครงการจังหวัดปลอดบุหรี่" ลดอัตราการสูบบุหรี่ของคนไทย พร้อมป้องกันนักสูบหน้าใหม่
ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้สนับสนุนการดำเนินงานด้านการควบคุมยาสูบมาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้แผนควบคุมยาสูบ ซึ่งดำเนินงานโดยสำนักสนับสนุน การควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก (สำนัก 1) โดยมีการกำหนดเป้าหมายเฉพาะ คือการลดอัตราการสูบบุหรี่ของคนไทย ในปี 2557 ลงร้อยละ 10 จากปี 2552 และเพื่อให้บรรลุเป้าประสงค์ที่ตั้งไว้ สสส. จึงได้สนับสนุนการดำเนินงานควบคุมยาสูบในระดับจังหวัด ภายใต้ชื่อ "โครงการจังหวัดปลอดบุหรี่" เรื่อยมาตั้งแต่ปี 2554 โดยใช้ข้อมูลจากการสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่และดื่มสุราของประชากรปี 2554 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เป็นจุดเริ่มต้นในการเลือกพื้นที่เป้าหมายซึ่งถือเป็นการดำเนินงานควบคุมยาสูบเชิงรุก มุ่งขยายการดำเนินงานควบคุมยาสูบลงไปสู่ระดับพื้นที่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย และเน้นการใช้พื้นที่เป็นฐานในการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ควบคุมยาสูบแห่งชาติ และเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนทั้งในชุมชนและองค์กรเป้าหมายโดยใช้ทุนทางสังคมตามบริบทของแต่ละพื้นที่ เพื่อให้อัตราการสูบบุหรี่ของประชากรในจังหวัดลดลงตามเป้าประสงค์ที่ตั้งไว้
"ปัตตานี" เป็นหนึ่งในจังหวัดปลอดบุหรี่ที่ได้ดำเนินโครงการจังหวัดปลอดบุหรี่ตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมาโดยในระยะแรก ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการผลักดันให้เกิดการสร้างกลไกการควบคุมยาสูบระดับจังหวัดและดำเนินงานโดยยึดแผนยุทธศาสตร์การควบคุมยาสูบแห่งชาติเป็นหลัก และในระยะที่สอง ได้รับการสนับสนุนจากโครงการพัฒนาศักยภาพกำลังคนด้านการควบคุมยาสูบ (พศย.) เมื่อปี 2558 ภายใต้ชื่อโครงการ "เครือข่ายร่วมใจสร้างสังคมปลอดบุหรี่จังหวัดปัตตานี" ซึ่งเน้นการดำเนินงานขับเคลื่อน งานควบคุมยาสูบตามบริบทวัฒนธรรมในพื้นที่ โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อสนับสนุนให้เครือข่ายทุกภาคส่วนร่วมกันเฝ้าระวังและดำเนินการเพื่อคุ้มครองสุขภาพประชาชนลดอัตราการสูบบุหรี่ จัดสิ่งแวดล้อมปลอดให้ควันบุหรี่ตามกฎหมาย ป้องกันนักสูบรายใหม่ และส่งเสริมให้ผู้บริโภคลดและเลิกยาสูบ
กลไกการดำเนินงานควบคุมยาสูบของจังหวัดปัตตานีอยู่ในรูปแบบของคณะกรรมการระดับจังหวัด ประกอบด้วยตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบเช่น ฝ่ายปกครอง ท้องถิ่น ตำรวจ สรรพสามิต ฯลฯ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานคณะกรรมการ ตามคำสั่งจังหวัดปัตตานี ที่ 1831/2557 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบจังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นการบูรณาการงานควบคุม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบเข้าด้วยกันซึ่งคณะกรรมการชุดดังกล่าว มีอำนาจหน้าที่หลักในการกำหนดมาตรการ ให้คำปรึกษาแนะนำ กำหนดแนวทางปฏิบัติเพื่อเฝ้าระวังและป้องกันมิให้เด็กและเยาวชนเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบ ตลอดจนกำหนดแนวทางปฏิบัติ ให้สอดคล้องกับนโยบายระดับประเทศ เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 พระราชบัญญัติคุ้มครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2535
ทั้งนี้เพื่อให้การดำเนินงานในระดับพื้นที่และชุมชนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นยังได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบระดับอำเภอในทุกอำเภอ มีนายอำเภอเป็นประธานอนุกรรมการ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเป็นรองประธาน และมีสาธารณสุขอำเภอเป็นกรรมการและเลขานุการ และอนุกรรมการประกอบไปด้วยผู้อำนวยการโรงพยาบาลอำเภอ สรรพสามิตพื้นที่อำเภอผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมศึกษาทุกแห่ง รวมทั้งหัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทุกอำเภอ มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดแนวทางในการเฝ้าระวังป้องกันมิให้เด็กและเยาวชนไปข้องเกี่ยวกับการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบติดตามประเมินผลและตรวจสอบการบังคับใช้กฎหมาย ตลอดจนปฏิบัติงานอื่นๆตามที่คณะกรรมการระดับจังหวัดมอบหมาย และต้องรายงานผลการปฏิบัติงานต่อคณะกรรมการระดับจังหวัดอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งการดำเนินงานโดยใช้กลไกในลักษณะนี้ทำให้เกิดการประสานความร่วมมือกันของทุกภาคส่วน และสามารถขับเคลื่อนงานควบคุมยาสูบไปพร้อมกันทั้งในระดับจังหวัดและระดับอำเภอได้อย่างเป็นรูปธรรม
นอกเหนือจากการเชื่อมประสานการดำเนินงานของทุกภาคส่วนทั้งในระดับจังหวัดและระดับอำเภอแล้ว อีกหนึ่งกลไกในระดับพื้นที่และชุมชน คือ "ผู้นำศาสนา" ซึ่งถือได้ว่าเป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินงานควบคุมยาสูบของจังหวัดปัตตานีเนื่องจากปัตตานีเป็นจังหวัดที่มีประชากรนับถือศาสนาอิสลามมากถึงร้อยละ 86.25 ของประชากรในจังหวัดทั้งหมด ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินงานควบคุมยาสูบเหมาะสมกับบริบททางวัฒนธรรมของคนในพื้นที่ จึงมีการประสานความร่วมมือกับผู้นำศาสนาโดยจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ "ส่งเสริมสุขภาพในศาสนสถานจังหวัดปัตตานี" ให้แก่ผู้นำศาสนา ตลอดจนให้ความรู้เรื่องพิษภัยของบุหรี่และทำความเข้าใจในหลักศาสนาอิสลามกับการสูบบุหรี่ มีผู้เข้าร่วมการอบรมเชิงปฏิบัติการดังกล่าว จำนวน430 คน เพื่อเป็นการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของผู้นำศาสนาให้สามารถเป็นแกนนำในการขับเคลื่อนงานควบคุมยาสูบในระดับชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
จุดเด่นของการดำเนินงานควบคุมยาสูบของจังหวัดปัตตานี คือ การทำงานเชิงรุก เน้นการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ และสามารถเชื่อมร้อยทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานควบคุมยาสูบทั้งในระดับจังหวัด ระดับอำเภอ และชุมชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งการขับเคลื่อนและดำเนินกิจกรรมภายในชุมชนโดยผู้นำศาสนาทำให้การทำงานควบคุมยาสูบเหมาะสมกับบริบทของพื้นที่และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในชุมชนได้มากขึ้น ตัวอย่างเช่น การใช้หลักศาสนาสอดแทรกเข้าไปในการณรงค์ให้คนในชุมชนลดละเลิกสูบบุหรี่ในกิจกรรม "ลด ละ เลิก" ซึ่งมีผู้สมัครเข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 302 คน สามารถเลิกสูบบุหรี่ได้ 80 คน คิดเป็นร้อยละ 26.49 และสามารถลดปริมาณการสูบลงได้ 101 คน คิดเป็นร้อยละ 33.44 หรือกิจกรรม "รัก ต้อง เลิก"ซึ่งมีกลุ่มแกนนำชุมชน ทั้งผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชน อสม. เยาวชนและเครือข่ายในพื้นที่ชุมชนต้นแบบ เป็นกลุ่มเป้าหมาย มีผู้สมัครเข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 54 คนสามารถเลิกสูบบุหรี่ได้ 20 คน คิดเป็นร้อยละ 37.03 และสามารถลดปริมาณการสูบลงได้ 25 คน คิดเป็นร้อยละ 46.29
ผลจากการดำเนินงานควบคุมยาสูบ ผ่านกลไกการดำเนินงานทั้งระดับจังหวัด อำเภอ และชุมชน โดยเน้นประสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วนตลอดจนการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปัตตานี ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณ "เครือข่ายป้องกันยาสูบเข้มแข็ง พ.ศ. 2555"จากสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 และได้รับประทานโล่ประกาศเกียรติคุณ"เครือข่ายที่มีการดำเนินการดีเด่นตามแผนยุทธศาสตร์การควบคุมยาสูบแห่งชาติพ.ศ. 2555-2557" จากพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชา ทินัดดามาตุซึ่งถือเป็นรางวัลเกียรติยศและเป็นผลงานที่สร้างความภาคภูมิใจให้แก่ชาวปัตตานีเป็นอย่างยิ่ง
ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง