ปัญหาใหญ่เด็กนักเรียน ‘แบกกระเป๋าหนัก’
เสี่ยงกระดูกสันหลังคด!!
ภาพเด็กนักเรียนสะพายกระเป๋าใบโตกว่าตัวหลายเท่าเดินผ่านไปมาคงเป็นภาพที่ชินตาของผู้ใหญ่หลายคนไปแล้วสำหรับยุคนี้ บางคนอาจนึกขำ บางคนอาจนึกสงสาร แต่จะมีสักกี่คนที่ตระหนักถึงโทษภัยของพฤติกรรมดังกล่าว พร้อมร่วมมือกันหาทางแก้ไข!!?
จากการสำรวจน้ำหนักตัวและน้ำหนักกระเป๋าหนังสือของนักเรียนชั้น ป.1-ป.6 เพื่อทดสอบน้ำหนักกระเป๋าระดับประถมศึกษา ของศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาล รามาธิบดีพบว่า กว่า 80% ของเด็กกลุ่มนี้ ต้องแบกสัมภาระไปโรงเรียนด้วยกระเป๋ารูปแบบต่างๆ ที่มีน้ำหนักมากกว่า 10% ของน้ำหนักตัว ซึ่งเป็นน้ำหนักที่ไม่เหมาะสม ในจำนวนนี้มีถึง 25% แบกหิ้วสัมภาระหนักกว่า 20% ของน้ำหนักตัวถือเป็นน้ำหนักอันตรายที่จะส่งผลต่อกล้ามเนื้อและกระดูกสันหลัง โดยในจำนวนนี้อีกกว่า 70% ใช้กระเป๋าแบกหลังทำให้น้ำหนักกดทับตรงกล้ามเนื้อต้นคอ ไหล่ หลังและกระดูกสันหลัง และ 29% ของกลุ่มตัวอย่างนี้มีอาการปวดคอ ไหล่ หรือหลังในสัปดาห์ที่ทำการสำรวจ
พฤติกรรมและอาการ ดังกล่าว คพ.ดร.โอ๊ต บูรณะสมบัติ นายกสมาคมการแพทย์ ไคโรแพรคติกแห่งประเทศไทย ให้ความรู้ว่า เด็กเหล่านี้เสี่ยงต่อการเป็น “กระดูกสันหลังคด” คือ ภาวะที่กระดูกมีความโค้งในแนวซ้ายขวาที่ผิดปกติ ส่งผลให้กระดูกสันหลังมีรูปร่างคดคล้ายรูปตัวเอส (S) บริเวณที่มีกระดูกสันหลังคดมักจะพบที่กระดูกสันหลังระดับอกหรือระดับอกต่อกับระดับเอว หรือเกิดเฉพาะในหลังตอนล่าง
กระดูกสันหลังเป็นโครงสร้างที่แข็งแรงปกป้องแกนของไขสันหลัง ทำหน้าที่เป็นจุดเกาะของกล้ามเนื้อของหลัง เชื่อมต่อกับกะโหลกศีรษะ กระดูกสะบัก กระดูกเชิงกรานและกระดูกซี่โครง โดยกระดูกสันหลังคดจะเกิดในเด็กตามกลุ่มอายุดังนี้ กลุ่มอายุก่อน 3 ปีในกลุ่มนี้ร้อยละ 90 จะหายได้เองเมื่อเด็กโตขึ้น ส่วนกลุ่มอายุ 3-10 ขวบ กลุ่มนี้จะเป็นมาก เมื่อโตขึ้นและกลุ่มอายุ 10-18 ขวบ หากเป็นไม่มาก ก็ไม่ต้องรักษาด้วยวิธีผ่าตัด ส่วน สาเหตุ การเกิดกระดูกสันหลังคดมี 2 สาเหตุ คือ เกิดจากพันธุกรรม เป็นภาวะที่เป็นมาตั้งแต่กำเนิดและสาเหตุการคดที่เกิดจากพฤติกรรม เช่น ชอบยืนตัวเอียง ห่อไหล่ ทิ้งน้ำหนักไปที่เท้าทั้ง 2 ข้างไม่เท่ากันและเด็กที่ชอบแบกของหนัก ๆ มากเกินไป
กระเป๋าหนังสือของนักเรียนก็ถือว่ามีผลกระทบต่อกระดูกสันหลังของเด็ก บางครั้งเด็กที่ถือกระเป๋าแบบหิ้วหรือแบบสะพายข้างถ้ามีน้ำหนักมากเด็กก็จะเอียงตัวไป ข้างใดข้างหนึ่งเพื่อรับน้ำหนัก ทำให้เมื่อเราเอียงตัวไปบุคลิก ภาพเราก็จะเป็นท่านั้น กล้ามเนื้อก็จะพัฒนาไปในลักษณะข้างใดข้างหนึ่ง ซึ่งคนเราปกติ ถ้าใช้งานร่างกายข้างใดข้างหนึ่ง หรือซีกใดซีกหนึ่ง ข้างนั้น ก็จะทำงานหนักมากกว่าปกติส่งผลต่อการเจริญเติบโตของร่างกายของเด็ก
น้ำหนักของกระเป๋าที่เหมาะสมสำหรับเด็กที่อายุไม่ถึง 10 ขวบไม่ควรเกิน 10-15 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนัก ตัว ขึ้นอยู่ว่าเด็กจะตัวโตรับน้ำหนักมากแค่ไหน เหมือนงานวิจัยที่ประเทศอเมริกาทำการวิจัยออกมาว่าเด็กต้องแบกกระเป๋าไม่ควรเกิน 25 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัว แต่เราต้องเข้าใจด้วยว่าฝรั่งโครงสร้างใหญ่กว่าคนไทยจึงไม่ควรแบกน้ำหนักมากขนาดนั้น ยกตัวอย่างที่ถูกต้อง เช่น เด็กน้ำหนัก 20 กิโลกรัม ควรแบกน้ำหนักกระเป๋าอยู่ที่ประมาณ 2-3 กิโลกรัม ไม่ควรแบกเกินมากกว่านี้ หลังจากนั้นพอเด็กโตขึ้นมีอายุมากกว่า 10 ขวบไปแล้วเราจึงค่อยปรับน้ำหนักเพิ่มขึ้นให้เหมาะสมกับตัวเด็ก
อย่างไรก็ตาม การสะพายเป้นั้นเหมาะสมที่สุดสำหรับเด็ก เพราะได้ใช้ไหล่ 2 ข้างทำให้น้ำหนักสมดุลกันอยู่ตรงกลางหลังรวมทั้งกล้ามเนื้อขา ตะโพกจะช่วยรองรับได้ดีกว่าเราสะพายข้างเดียว ดังนั้น การเลือกกระเป๋าสะพายให้เด็กควรเลือกที่ใช้งานได้ดีไม่ตามแฟชั่น โดยเฉพาะสายกระเป๋าไม่ควรใช้แบบสายเส้นเล็ก ๆ เพราะจะทำให้ปวดหลัง ส่วนของที่จะใส่ในกระเป๋าควรมีน้ำหนักไม่มากเกินไปรวมทั้งต้องจัดระเบียบของในกระเป๋าให้ดีด้วย การใส่ของที่มีน้ำหนักมาก ๆ นั้นควรใส่ไว้ชิดกับแผ่นหลังตัวเราหรือด้านในสุดของกระเป๋าและใส่ของน้ำหนัก น้อย ๆ ไว้ด้านนอกเพื่อจะได้ไม่ถ่วงน้ำหนักมากเกินไป
ผลกระทบต่อการสะพาย กระเป๋าหนักมากเกินไป คือ ทำให้ร่างกายทำงานหนักมากกว่าปกติ ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย กล้ามเนื้อ โครงสร้าง บุคลิก ภาพ และทำให้การพัฒนา โดยทั่ว ๆ ไปไม่ดีเท่าที่ควรและมีอาการปวดขา ปวดหลัง ปวดคอ ซึ่งเด็กไม่ควรจะมีอาการเช่นนี้และเมื่อร่างกายไม่แข็งแรงมีอาการเจ็บปวดก็จะส่งผลต่อสุขภาพจิตจนเกิดเป็นความเครียด เมื่อเด็กเครียดก็จะทำให้ผลการเรียนแย่ลงมีผลต่ออนาคตของเด็กอย่างแน่นอน
ดังนั้นพ่อแม่ผู้ปกครองควรสังเกตลูกหลานว่ามีอาการกระดูกสันหลังคดหรือไม่ได้ด้วยวิธีง่าย ๆ ก่อนพามารักษา โดยเริ่มจากให้เด็กถอดเสื้อออกหรือใส่เสื้อบาง ๆ สวมกางเกงขาสั้น ไม่ต้องสวมรองเท้า แล้วยืนตัวตรง สังเกตว่า เท้าทั้ง 2 ข้างและระดับของไหล่ทั้ง 2 ข้างเท่ากัน หรือไม่หรืออยู่ในระดับเดียวกันหรือไม่ ตะโพกและหลังเอียงหรือไม่ ให้มองทั้งด้านตรง ด้านหน้า ด้านข้างและด้านหลังอย่างละเอียด หากเด็กที่มีรูปร่างผอมจะสังเกตได้ง่ายโดยให้สังเกตตรงกระดูกปุ่ม ๆ ข้างหลังว่าเรียงตรงหรือไม่ หากมีอาการเอียงหรือผิดปกติจุดใดจุดหนึ่งควรรีบมาปรึกษาแพทย์ เพื่อทำการรักษา
ขั้นตอนการรักษาถ้าหากตรวจเช็กด้วยวิธีเอกซเรย์แล้วพบว่ามีอาการคดไม่มากและไม่รบกวนการทำงานของระบบอวัยวะอื่นแพทย์จะรักษาด้วยวิธีปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น ไม่แบกของหนักหรือแบกของหนัก ๆ ข้างใดข้างหนึ่ง ไม่นั่งเล่นคอมพิวเตอร์ นาน ๆ และไม่นั่งห่อไหล่หรือหลังงอ รวมทั้งกินอาหารเสริมที่บำรุงกระดูกและออกกำลังกายให้กล้ามเนื้อแข็งแรง พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ หากเด็กที่กระดูกสันหลังคดมากประมาณ 25-30 องศาขึ้นไปรบกวนระบบการทำงานของอวัยวะอื่น เช่น ไปกดทับเส้นประสาทจึงต้องมีการผ่าตัดใส่เหล็กด้ามให้หลังตรงไว้ ตลอดชีวิตหรือใส่เสื้อเกราะ ซึ่งต้องดูตามอาการและความเหมาะสมของเด็กด้วย
ส่วนใหญ่เด็กหรือผู้ที่เป็นกระดูกคดแล้วไม่ดูแลตัวเองจะมีปัญหาตามภายหลัง เช่น มีอาการปวดหลัง ปวดคอ ปวดศีรษะ ปวดประสาทและอาจเป็นโรคหมอนรองกระดูกได้ในอนาคต ซึ่งนอกจากจะตรวจรักษาแล้วเราควรที่จะ ดูแลกระดูกสันหลังของเราเองด้วยการไม่นั่งหรือยืนเป็นเวลานานหรือทิ้งน้ำหนักตัวข้างใดข้างหนึ่งไม่เท่ากัน ควรปรับเปลี่ยนท่าทางทุกครึ่งชั่วโมงเพื่อเป็นการไม่ทำร้ายหรือใช้งานกระดูกสันหลัง ของเรามากเกินไป
ถึงเวลาแล้วที่ผู้ใหญ่ทุกคน ควรดูแลเอาใจใส่ลูกหลานในเรื่องของการสะพายกระเป๋าไปโรงเรียน ไม่ควรให้ขนสัมภาระ หนักจนเกินไป ไม่เช่นนั้นแล้ว เมื่อพวกเขาเติบโตขึ้นอาจทำให้เสียบุคลิก ก่อเกิดปัญหาสุขภาพ และอาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคร้ายแรงตามมาได้.
ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
Update: 08-12-52
อัพเดทเนื้อหาโดย: ณัฏฐ์ ตุ้มภู่