ปัญหา`เด็กเครียด`แนะทางออกอย่างถูกวิธี

          ข่าวคราวการฆ่าตัวตายของนักศึกษาที่เครียดในการเรียนหลายต่อหลายคนสร้างความสะเทือนใจให้กับผู้ที่ได้รับรู้ข่าวอย่างมาก โดยต่างตั้งคำถามกันไปต่าง ๆ นานาว่า เหตุใดจึงตัดสินใจอย่างนี้ ทั้ง ๆ ที่การศึกษาช่วยพัฒนาให้คนรู้จักคิด รู้จักปรับตัวแก้ไขปัญหา แต่ก็ยังมีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง!!

      /data/content/23335/cms/cloqstvwx125.jpg    ผศ.ดร.ฉัฐวีณ์ สิทธิ์ศิรอรรถ ภาควิชาจิตวิทยา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยา ลัยศรีนครินทรวิโรฒ  กล่าวถึงการเรียนที่ส่งผลให้เกิดความเครียดกับเด็กให้ฟังว่า ให้มองอย่างแรก คือ ตัวเขาเอง ก่อนยังไม่ต้องมองว่าศึกษาอยู่ในระดับใด เพราะในทางจิตวิทยาจะพูดถึงความวิตกกังวลว่า จะต้องมีคุณลักษณะในตัวเอง คือ มีความเครียดอยู่ในตัวเองมากน้อยเท่าใดเช่น เมื่อเจอเรื่องราวเดียวกัน คนอื่นไม่สนใจ ไม่ได้เก็บมาคิดมาก แต่เราเกิดความเครียด คิดมากนั้นแสดงว่าเรามีคุณลักษณะของความเครียดอยู่ในตัวเองสูง เมื่อมีเรื่องราวเข้ามาในชีวิตเพียงเล็กน้อยก็ทำให้เกิดความเครียดขึ้นได้ทันที

          ต่อมา คือ ความวิตกกังวลที่เกิดขึ้น เมื่อวิตกกังวลมาก ๆ ก็จะกลายเป็นความเครียด ซึ่งจะเกิดจาก สถานการณ์ต่าง ๆ ที่ทำให้เครียด ทุกคนอาจจะมีภาวะของคุณลักษณะของตัวเองแตกต่างกันไป คือ มากบ้าง น้อยบ้าง แม้กระทั่งคนที่อารมณ์ดี สุขภาพจิตดี ปรับตัวได้ แต่ว่าเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามาก็สามารถทำให้คน ๆ นั้นเครียดได้

          ในส่วนของตัวเราเป็นสิ่งที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิดถูกสะสมมาซึ่งจะส่งผลให้เราเป็นคนเครียดมาก เครียดน้อยได้ ตรงนี้ไม่สามารถควบคุมได้ แต่สิ่งที่ควบคุมได้ คือ สิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัวเรา แต่ก็คงไม่ได้ทั้งหมด เพราะสิ่งแวดล้อมหลาย ๆ อย่างก็คุมไม่ได้ เช่น วิธีการเรียนการสอน ยกตัวอย่าง การเรียนในระดับมัธยมถามว่าเรียนเครียดไหมเมื่อเทียบกับระดับอุดมศึกษา หลายคนจะบอกว่าเรียนอุดมศึกษาเครียดกว่าเรียนมัธยม เพราะเหตุการณ์ฆ่าตัวตายมักเกิดขึ้นในระดับอุดมศึกษา แต่บางส่วนก็ค้านว่าระหว่างสอบแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัยกับสอบเก็บคะแนนอะไรเครียดกว่ากัน  ซึ่งตรงนี้ขึ้นอยู่กับตัวเด็กเป็นคนตัดสินว่าการเรียนระดับใดเครียดมาก เครียดน้อย

          “จึงเห็นได้ว่า ความเครียดของคนเราจะเกิดจากตัวเองและสถานการณ์ ถ้าตัวเองเป็นคนช่างเครียด ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็เครียด อีกส่วนหนึ่ง คือ สถานการณ์ทำให้เครียด เช่น มีคนมากดดันเรามาก ๆ บอกเราว่า พ่อก็เป็นหมอ แม่ก็จบมหาวิทยาลัยมีชื่อเสียง ลูกต้องสอบหมอให้ได้ แม้จะสอบเข้าไม่ได้แต่ก็ให้เรียนมหาวิทยาลัยเอกชน ตรงนี้ก็จะทำให้เด็กเกิดความเครียดจากสิ่งแวดล้อมเพราะไม่ได้อยากเรียนหมอแต่ต้องเรียน ทั้ง ๆ ที่ตัวเด็กมีสุขภาพจิตดีแต่สิ่งแวดล้อมทำให้เครียด ซึ่งมาจากครอบครัว”

          ปัจจัยที่มีผลต่อระดับความเครียดของนักศึกษา จากการวิจัยเรื่องพฤติกรรมการตั้งใจเรียนของนักศึกษา ซึ่งเป็นสารนิพนธ์ในหลักสูตรการศึกษามหาบัณฑิต สาขาจิตวิทยาพัฒนาการ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ โดย แบ่งตัวแปรที่เป็นปัจจัยในตัวเองออกเป็น 3 กลุ่ม ซึ่งจะ/data/content/23335/cms/cdefgjlsxy26.jpgแปรผกผันกับความเครียด กลุ่มแรก คือ จิตลักษณะ ซึ่งก็คือสิ่งที่ติดตัวมา อย่างแรก คือ ลักษณะมุ่งอนาคตและการควบคุมตนเอง โดยการเรียนบางอย่างมันยาก เช่น การได้เกียรตินิยม ถ้าเรามุ่งอนาคตอยากได้เกียรตินิยม เมื่อรับปริญญา พ่อยิ้ม แม่ยิ้ม ภูมิใจในตัวเรา ตรงนี้จะทำให้เขาควบคุมตนเองไม่เหลวไหล  แม้เขาไม่อยากอ่านหนังสือแต่เขาอยากได้เกียรตินิยม เขาก็ จะมุ่งอนาคตและควบคุมตนเพื่อให้ได้เกียรตินิยม

          ต่อมา คือ แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ คือ ทำอะไรต้องสำเร็จ ต้องดี ไม่ใช่เรียนแล้วเรียนไม่จบ ต้องเรียนให้จบ ซึ่งอันนี้เป็นปัจจัยที่ทำให้คนมีพฤติกรรมที่ดี ตั้งใจเรียน สุดท้าย คือ เห็นคุณค่าในตัวเอง เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นภายในตนเองเกี่ยวกับการยอมรับนับถือตนเอง เห็นคุณค่าและมีความเชื่อมั่นในตนเอง

          ปัจจัยต่อมา คือ สถานการณ์ ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอก เช่น พฤติกรรมการสอนของอาจารย์ ความคาดหวังของผู้ปกครอง สัมพันธภาพภายในครอบครัว สัมพันธภาพกับเพื่อน ซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่ไม่สามารถควบคุมได้

          สุดท้ายเป็นปัจจัยที่เอาปัจจัยภายในและภายนอกมารวมกัน  คือ จิตลักษณะบวกกับสถานการณ์ เรียกว่า จิตสถานการณ์เช่น ทัศนคติต่อสถานศึกษา ความเครียด

          จากงานวิจัย พบว่า ตัวแปรที่ส่งผลต่อการตั้งใจเรียนของนักศึกษา คือ แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ คือ ทำอะไรต้องทำให้เสร็จ ต้องทำให้ได้ ต้องทำให้ได้ดีตามศักยภาพของเราเท่าที่เวลามีให้ ตรงนี้ทำให้เกิดแรงจูงใจ ทำให้เกิดการตั้งใจเรียนที่สูง ต่อมา คือ ลักษณะมุ่งอนาคตและการควบคุมตนเอง  สุดท้าย คือ การสนับสนุนของเพื่อน ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนที่คบ อิทธิพลของเพื่อน คือ เพื่อนจะมีผล ซึ่งจากการศึกษาทัศนคติทางเพศในกลุ่มวัยรุ่น ในเรื่องของการเรียนในระดับมัธยม ศึกษาและอุดมศึกษา จะมีตัวแปรการสนับสนุนของเพื่อนเข้ามาด้วยเช่นกัน ในทางการวิจัยก็คือ จะต้องให้เด็กรู้จักการคบเพื่อน

          จากงานวิจัยดังกล่าวทำให้พบว่า ความเครียดในการเรียนมีความสัมพันธ์ทางลบกับสิ่งที่เป็นเรื่องทางบวก นั่นคือ สัมพันธภาพระหว่างเด็กกับเพื่อน หมาย ความว่า ถ้าเครียดสูงก็จะมีความสัมพันธ์กับเพื่อนต่ำ แสดงว่า เด็กเครียดเพราะเพื่อน เช่น ในการเรียนหนังสือถ้าเขาเครียดแต่ถ้าเขามีเพื่อน รุ่นพี่คอยช่วยก็จะทำให้เขาหายเครียดหรือมีความเครียดน้อยลง แต่เด็กหลายคนตัดสินใจฆ่าตัวตาย นั้นเป็นเพราะเขาไม่มีใคร

          “อีกสิ่งหนึ่ง คือ ลักษณะมุ่งอนา คตและการควบคุมตนเอง คือ ที่เด็กเครียดเพราะไม่มองไปข้างหน้าว่าชีวิตเขาไม่ได้อยู่แค่นี้ ไม่ได้อยู่ตรงนี้ตลอดไป เรื่องของเกรดไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุด รวมทั้งไม่ได้ควบคุมตนเอง อาจจะมีความเหลวไหลเพื่อนชวนไปดื่มเหล้าก็ไป เพื่อนชวนไปเที่ยวก็ไปโดยไม่ยอมควบคุมตัวเอง หรืออยากจะสอบให้ได้คะแนนดี ๆ แต่ก็ขี้เกียจเรียน ขี้เกียจอ่านหนังสือ จึงทำให้ในส่วนของลักษณะมุ่งอนาคตและควบคุมตนเองก็ทำไม่ได้ แต่กลับมีลักษณะมุ่งอนาคตและการควบคุมตนเองต่ำก็จะส่งผลให้มีความ เครียดสูงเพราะทำไม่ได้อย่างที่คิดไว้ เกิดการสวนทางกัน”

          นอกจากนี้ยังมีอีกความสัมพันธ์หนึ่งซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกที่มีผลต่อการเรียนโดยตรงของเด็ก นั้นก็คือ พฤติกรรมการสอนของอาจารย์ /data/content/23335/cms/bcdfopqw1368.jpgเพราะจะส่งผลต่อพฤติกรรมการตั้งใจเรียน แรงจูงใจของเด็ก รวมทั้งความเครียดของเด็ก ฉะนั้น อาจารย์ที่ดีจะต้องมีจิตวิญญาณความเป็นครู ความเป็นอาจารย์ เป็นที่พึ่งพาของเด็กได้ และต้องเข้าใจถึงเทคนิคการสอนที่ดี จะต้องเป็นอาจารย์ที่มีศักยภาพนำพาเด็กไปสู่จุดมุ่งหมายได้ เพื่อลดความเครียดของเด็ก รวมทั้งเด็กจะได้ตั้งใจเรียนด้วย

          บนโลกใบนี้ทุกคนต้องเจอกับความเครียด โดยวิธีการจัดการไม่ได้มีติดตัวมาตั้งแต่เกิดต้องอาศัยการฝึกและต้องฝึกทั้งชีวิต เพราะคนเรามีความเครียดได้ตลอดเวลา สำหรับการเรียนของนักศึกษาในส่วนของตัวเด็ก ต้องค้นพบตัวเองให้เจอ คิดไตร่ตรองให้ดีว่าอะไรคือสิ่งที่เรารัก สิ่งที่เราชอบ ต้องการเรียนอะไร แล้วลงมือทำให้ดี คือ “อันความรู้รู้กระจ่างแต่อย่าเดียว แต่ให้เชี่ยวชาญเถิดจะเกิดผล” จะประสบความสำเร็จ แม้จะไม่ได้เป็นที่หนึ่ง ไม่ได้เกียรตินิยม แต่เรียนจบ ได้ทำงานที่รัก ที่ชอบ และที่สำคัญ คือ จะต้องรู้จักตนเอง รู้ว่าเราอยากทำงานอะไร เราชอบเรียนวิชาอะไร ก็มุ่งไปทางนั้น เพราะทุกอาชีพดีหมด

          ด้านผู้ปกครอง อยากให้ผู้ปกครองมองโลกแห่งความเป็นจริง โดยให้เด็กได้เรียนในสิ่งที่เขาอยากเรียน เรียนแล้วเขามีความสุข ต้องดูศักยภาพลูกด้วยว่าเขาเรียนเป็นอย่างไร อยู่กับเขา คุยกับเขาในทุก ๆ เรื่อง ถามบริบทในชีวิตเขา เป็นผู้ฟังที่ดีให้กับลูก จะได้รู้ว่าจริง ๆ แล้วลูกเราเป็นคนอย่างไร มีความคิดอย่างไร ชอบอะไร ให้เขาสัมผัสได้ซึ่งความรักที่พ่อแม่มีให้กับเขา อย่าเป็นคนพูดสื่อสารทางเดียว เพราะอาจจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ลูกเครียด แทนที่จะเป็นคนประคองลูกให้ไม่เครียดกลับเป็นคนทำให้ลูกเครียด ซึ่งตรงนี้พ่อ แม่จะต้องช่วยทำให้ลูกหาตัวเองให้เจอ เพื่อให้เขาบรรลุผล และประสบความสำเร็จในชีวิต.

          “บนโลกใบนี้ทุกคนต้องเจอกับความเครียด โดยวิธีการจัดการไม่ได้มีติดตัวมาตั้งแต่เกิดต้องอาศัยการฝึกและต้องฝึกทั้งชีวิต เพราะคนเรามีความเครียดได้ตลอดเวลา สำหรับการเรียนของนักศึกษา ในส่วนของตัวเด็ก ต้องค้นพบตัวเองให้เจอ คิดไตร่ตรองให้ดีว่าอะไรคือสิ่งที่เรารัก เราชอบ ต้องการเรียนอะไร แล้วลงมือทำให้ดีที่สุด”

          วิธีจัดการกับความเครียด

          1. ส่วนใหญ่เวลาคนเราเครียดมักจะไม่ค่อยรู้ตัวว่าตนเองเครียด โดยจะมีพฤติกรรมไปบ่นกับคนโน้น คนนี้  ฉะนั้น วิธีแรก คือ หาใครสักคน โดยจะต้องเลือกที่เรียกว่า เป็นกัลยาณมิตรของเรา โดยจะเป็นคนที่เรารู้สึกว่าไว้ใจได้ เพราะมิเช่นนั้นแล้วคนนั้นอาจจะทำให้เราเครียดมากเพิ่มขึ้นเพราะเขาจะซ้ำเติมเราได้ ซึ่งอาจจะเป็น เพื่อน พ่อ แม่  พี่ น้อง แฟน  โดยระบายความรู้สึกให้เขาฟัง เพราะกัลยาณมิตรจะเป็นคนที่ให้ปัญญาที่ดีกับเรา ทำให้เราเย็นลงได้ พร้อมที่จะเข้าใจและแบ่งปันรับฟังความทุกข์ร้อนของเรา ร่วมเดือดร้อนไปกับเรา  ซึ่งตรงนี้เมื่อได้ระบาย 80-90 เปอร์เซ็นต์ จะรู้สึกดีขึ้น

          2. มนุษย์ทุกคนจะต้องพึ่งตัวเองตนเป็นที่พึ่งแห่งตนเหลียวซ้ายแลขวาไม่เจอใครตัดสินใจไม่ได้จึงกรีดข้อมือตนเอง นั้นแสดงว่า เด็กคนนั้นมีการจัดการเรื่องของความเครียดได้ไม่ดี โดยการจัดการกับความเครียดสามารถปฏิบัติได้ตามหลักของพุทธศาสนา คือ อโกธะ ซึ่งเป็นหนึ่งในทศพิธราชธรรม คือ ความไม่โกรธ  นั่นคือ สามารถระงับความรู้สึกเครียดได้หรือไม่ เช่น เรามีความโกรธเพราะไม่ได้อย่างใจ คะแนนสอบออกมาไม่ดี  เรารู้สึกว่าเราเครียด เราไม่พอใจ เราไม่สบายใจ แต่เราระงับความเครียดได้ไหม หลายคนอาจจะอาละวาด ขว้างปาสิ่งของ แต่หลายคนก็จะใช้ความนิ่ง นั่งตรึกตรอง โดยคนที่มีวุฒิภาวะทางอารมณ์สูงจะระงับได้ดีกว่า เช่น พ่อ แม่ จะระงับอารมณ์ได้ดีกว่า ลูก

          ตามหลักพุทธศาสนากล่าวไว้ว่า เมื่อเรามีทุกข์ ให้หาเหตุแห่งทุกข์นั้น เช่น สอบได้คะแนนต่ำ หาเหตุแห่งทุกข์ว่าทำไมถึงสอบได้คะแนนน้อย อ่านหนังสือไม่มากพอหรือไม่ หรือว่าเริ่มมีแฟนเลยไม่ค่อยได้อ่านหนังสือการเรียนเลยตกลง หรือจะเป็นปัญหาเรื่องเงิน เมื่อหาสาเหตุเจอจะได้ดับทุกข์ซึ่งทำให้เกิดความเครียดลงได้/data/content/23335/cms/ailrtuvyz169.jpg

          3. วิธีการของตะวันตก คือ วิธีการผ่อนคลายกล้ามเนื้อร่างกายเพื่อให้เกิดการผ่อนคลายจิตใจ เช่น การเกร็ง การคลาย การออกกำลังกาย เช่น เมื่อเครียดอยู่ให้แขม่วท้อง แหงนหน้าขึ้น ขมิบก้น หรือ การกำมือ ประมาณ 10 วินาที  เพราะเมื่อเครียดเราไม่สามารถออกมาวิ่งรอบมหาวิทยาลัยได้ บางครั้งเกิดความเครียดแต่เราต้องเผชิญ จึงสามารถใช้เทคนิคเหล่านี้เพื่อคลายความเครียด รู้สึกผ่อนคลายลงได้

          4.วิธีคิดแบบตะวันตกเช่นกัน คือ ให้มองไปข้างหน้า  เมื่อเครียดให้นึกถึงภาพในอนาคต รวมทั้งคิดถึงสิ่งที่ทำให้เราสบายใจ ซึ่งเป็นการสร้างจินตนาการ เช่น สอบได้คะแนนไม่ดีให้คิดถึงวันที่เราเรียนจบ นึกถึงวันที่เราทำงานมีเงินเดือนเลี้ยงตนเองได้

          5. หาวิธีหรือหนทางที่เราชอบที่สุดเพื่อผ่อนคลายความเครียดลง เช่น ร้องเพลง กินอาหาร ปลูกต้นไม้ เล่นเกม เล่นกับสุนัข ไปเที่ยว เล่นกีฬา

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ 

Shares:
QR Code :
QR Code