ปัญหาสุขภาพและโรคที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ
ที่มา : ชุดความรู้ การพัฒนาเป็นผู้สูงอายุที่มีศักยภาพ โรงเรียนผู้สูงอายุ
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
โรคที่พบบ่อยในผู้สูงอายุส่วนหนึ่งมาจากการเจ็บป่วยสะสมตั้งแต่วัยหนุ่มสาวหรือวัยทำงาน แต่ไม่ได้รับการรักษาหรือการดูแลอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดอาการรุนแรงในวัยสูงอายุ หลายโรคเกิดจากพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ทั้งการบริโภคอาหาร ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ ขาดการออกกำลังกาย และขาดการควบคุมอารมณ์ที่ดี
โรคที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจขาดเลือดหรือโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ อาการสับสนและสูญเสียความทรงจำ ภาวะสมองเสื่อม อาการนอนไม่หลับ ภาวะซึมเศร้า ปัญหาการกลั้นการขับถ่ายไม่อยู่ และปัญหาการได้ยิน
โรคความดันโลหิตสูง
ในคนปกติ ไม่ควรมีค่าความดันโลหิตเกิน 129/89 มิลลิเมตรปรอท
ข้อสังเกตอาการ มักไม่แสดงอาการออกมาชัดเจน บางครั้งอาจมีอาการปวดศีรษะ หน้ามืด ใจสั่น และตาพร่ามัว หากไม่รักษาตั้งแต่ต้น ปล่อยปละละเลยจนเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น อัมพฤกษ์ ตาบอด ไตวาย หัวใจวาย ดังนั้น ผู้สูงอายุจึงควรหมั่นตรวจวัดความดันโลหิตอยู่เสมอ
โรคเบาหวาน
เกิดจากความผิดปกติของร่างกายที่เกี่ยวกับกระบวนการผลิตฮอร์โมนอินซูลินไม่เพียงพอ จนส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดพุ่งขึ้นสูง อาการที่สังเกตได้ เช่น กระหายน้ำปัสสาวะบ่อย จนต้องดื่มน้ำทีละมาก ๆ อ่อนเพลีย และน้ำหนักตัวลดลงโดยไม่มีสาเหตุนอกจากนี้ยังอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนร่วมด้วย เช่น ตาพร่ามัวหรือตาบอด ไตเสื่อม ชาปลายมือปลายเท้า และยังเสี่ยงต่อการติดเชื้อง่ายอีกด้วย
โรคหัวใจขาดเลือด หรือ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
เกิดขึ้นจากภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบ ถือว่าอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ พบมากในผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง อ้วนลงพุง ไม่ค่อยออกกำลังกาย สูบบุหรี่ และผู้ที่มีสมาชิกในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจก็จะยิ่งเสี่ยงต่อการเกิดโรคดังกล่าวสูงขึ้นได้ด้วย
ข้อสังเกตอาการ คือ ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกในระหว่างช่วงราวนม ลิ้นปี่ โดยรู้สึกเหมือนมีอะไรมากดทับไว้จนหายใจไม่สะดวก และอาจร้าวไปยังคอ กราม แขนข้างซ้ายด้านใน อีกทั้งยังมีอาการอื่น ๆ เกิดขึ้นร่วมด้วยได้ เช่น เหนื่อยหอบ มีเหงื่อออก ตัวเย็น ศีรษะเย็น หน้ามืด ใจสั่น นอนราบไม่ได้ ดังนั้น ผู้สูงอายุจึงควรหมั่นเฝ้าสังเกตอาการเหล่านี้ให้ดี หากพบว่ามีอาการเจ็บแน่นหน้าอก ควรรีบบอกคนใกล้ชิดให้พาไปพบแพทย์โดยเร็ว
อาการสับสนและสูญเสียความทรงจำ
อาการหลงลืมหรือคิดช้าลงเป็นอาการที่พบได้เมื่ออายุมากขึ้น หากมีปัญหาสุขภาพที่เฉียบพลัน เช่น การอักเสบติดเชื้อ หัวใจหรือสมองขาดเลือด ก็อาจเกิดอาการเพ้อ งุนงง สับสนได้ง่ายขึ้น แต่เมื่อแก้ไขที่สาเหตุของการเจ็บป่วย อาการเหล่านี้ก็จะดีขึ้นได้
ภาวะสมองเสื่อม
เป็นภาวะที่สมองเริ่มถดถอยการทำงานด้านใดด้านหนึ่งลงไป เช่น ด้านความจำด้านภาษา ด้านการประมวล และด้านสมาธิ โดยจะเริ่มสูญเสียเซลล์สมองจากส่วนหนึ่งแล้วค่อยลุกลามไปยังสมองอีกส่วนหนึ่งอย่างช้า ๆ เมื่อเวลาผ่านไปนานเป็นสิบปี ความผิดปกติเหล่านี้จะปรากฏชัดเจนในตัวผู้มีอาการ จนคนรอบข้างเริ่มสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงได้ทีละน้อย