ปัจจัยเสี่ยงในเด็กปฐมวัยป้องกันได้ตั้งแต่เกิด
การพัฒนาการและการส่งเสริมสร้างภูมิคุ้มกันพฤติกรรมเสี่ยงสำหรับเด็กปฐมวัย มีความจำเป็นอย่างยิ่ง อย่างที่หลายคนมักพูดกันว่า จะใส่อะไรให้เด็ก ก็ช่วงวัยเด็ก ช่วง ปฐมวัย นี่แหละ เพราะเด็กกำลังจำ
พฤติกรรมของคนใกล้ตัว โดยเฉพาะพ่อแม่ ที่เด็กเห็นตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า พฤติกรรมที่เด็กเห็นแล้วว่า ทำแล้วไม่ตาย ก็จะทำตามหรือมีพฤติกรรมเลียนแบบ ดังนั้นเราต้องทำอย่างไรให้เด็ก โดยเฉพาะในช่วงปฐมวัยเข้าใจปัจจัยเสี่ยงแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน ของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงเริ่มต้น “โครงการพัฒนาและสร้างภูมิคุ้มกันจากปัจจัยเสี่ยงในเด็กปฐมวัย”
โดย คุณสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน ให้ความรู้ว่าการอ่านสามารถทำได้ตั้งแต่แม่ตั้งครรภ์ มีข้อมูลที่น่าสนใจเรื่องของจิตใต้สำนึก ด้วยการใช้สื่อละเมียดละไม ให้เด็กปฏิเสธ ปัจจัยเสี่ยง จากการสำรวจสื่อทั่วโลกทั้งยุโรป สหรัฐอเมริกา ออสเตรีย พบว่าเด็กวัย 7 ขวบ ลงมาจะมีจิตสำนึกที่มีบทบาทสูงกว่าจิตใต้สำนึก ตัวอย่าง เด็กผู้ชายขวบต้น ๆ เล่นหลอดดูดน้ำ โดยทำท่าพ่นควัน พบว่าพ่อสูบบุหรี่ ซึ่งเด็กเห็นเป็นประจำ ดังนั้นหน้าที่ของแผนการอ่านจะส่งเสริมอย่างไรให้สื่อเข้ามาในบ้านเรามากขึ้น ซึ่งจะต้องมีการแตกกิจกรรมไปยังโรงเรียนต่าง ๆ ด้วย เพราะสื่อบ้านเรามีน้อยมาก วิธีการผลิตสื่อยิ่งไม่มีใหญ่เลย จึงอยากให้มีสื่อต้นแบบขึ้นมา และได้ทดลองใช้แล้ว เพราะ 2ปีที่ผ่านมา พบว่าได้ผลจริง ในแง่การปรับพฤติกรรมของจิตใต้สำนึก หนังสือดี การพัฒนาสมอง และเป็นหน้าต่างให้โอกาสพ่อแม่ ถ้าพ่อแม่ไม่ใส่ใจหน้าต่างนี้ก็จะหมดโอกาส
ส่วน รองศาสตราจารย์ ดร.สายฤดี วรกิจโภคาทร นักวิชาการด้านพัฒนาการเด็กและครอบครัว ระบุว่า เรารู้อยู่เสมอว่าเด็กเรียนรู้อย่างเร็วมากในช่วง 0-5ขวบ เพราะสมองเป็นตัวอ่อนของมนุษย์ที่ไม่สามารถพึ่ง ตัวเองได้ โดยผ่าน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ โดยเด็กไม่สามารถรับรู้ แต่สมองรู้หมด เมื่อสมองทำงานดี ครบถ้วน คือการเรียนรู้ของจิตใต้สำนึก แต่จิตใต้สำนึกของเด็กที่มีพ่อแม่ สูบบุหรี่ เห็นในทีวี ในร้านอาหาร ให้เด็กก็เรียนรู้ว่าสูบแล้วไม่ตาย ก็จะทำตาม เพราะในสมองมีเซลล์กระจกเงา เรียนรู้ที่จะเลียนแบบพ่อแม่สูบบุหรี่
ขณะที่เภสัชกรหญิง ดร.พัชราภรณ์ ปัญญาวุฒิไกร ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กปฐมวัย (bbl) ระบุว่า พบว่าวรรณกรรม เด็ก นิทาน ช่วยหล่อหลอมนิสัยบางสิ่งบางอย่างของเด็กได้ โดยมีหลักฐานทางวิชาการว่าการที่จะทำให้เด็กมีสุขนิสัยที่ดี โดยผ่านเรื่องเล่า และนิทาน ซึ่งสมองที่รับเรื่องราวต่าง ๆ ที่เราเรียกว่าเซลล์กระจกเงา ซึ่งอยู่ในสมองส่วนหน้า เซลล์กระจกเงานี้จะเลียนแบบจากสิ่งที่ได้ประสบ โดยผ่านการสัมผัสทั้ง 6คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ความรู้สึก อารมณ์ พลังจิตใต้สำนึก จะช่วยให้นึกถึงสิ่งที่ซ่อนอยู่ในจิตใต้สำนึก
ตัวอย่างที่พบ มีเด็กที่มีพฤติกรรมเศร้า ทำให้สงสัยในพฤติกรรมนั้นก็พบว่า คุณแม่ของเด็กตอนตั้งท้องทานยาขับ ทำให้เด็กรู้สึกเกิดความว่าไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ต้องการของใคร รู้สึกมีความขม โดยเขารับรู้ได้ทางลิ้น พวกนี้จะมีสารเชิงลบอยู่ด้วย ซึ่งเป็นความรู้สึกที่ซ่อนอยู่ลึก ๆ
เภสัชกรหญิง ดร.พัชราภรณ์ เล่าอีกว่า ส่วนของไทยที่เราอยากให้มี ถ้าจะทำได้ต้องมีตัวอย่างสื่อ เช่น มีหนังสือ นิทาน เพลง เป็นเครื่องมือให้ พ่อ แม่ ครู ใช้ประกอบ ที่เรารีบทำเพราะถ้าเราช้าไปเราก็จะเสร็จเขา เนื่องจากบริษัทเหล้า บุหรี่เขารู้ตรงนี้ เกี่ยวกับสมองเซลล์กระจกเงา เพราะแม่สูบบุหรี่มีเปอร์เซ็นต์ที่ลูกสูบตามสูงกว่าพ่อสูบ ดังนั้นทำอย่างไรไม่ให้ผู้หญิงสูบบุหรี่เพิ่มขึ้น และพบว่าที่ผ่านมาเด็กอายุ18ปีขึ้นไปจะสูบบุหรี่ แต่ปัจจุบันเด็กที่สูบบุหรี่กลับมามีอายุลดลงเหลือ 15-16ปีแล้ว
“ทั้งนี้สิ่งที่เรารณรงค์ คาดหวังว่าจะได้ผล อยากให้คนรุ่นใหม่เติบโตมาพร้อมกับสังคมที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี นอกจากให้ข้อมูลแล้วเราก็อยากให้เครื่องมือในการพัฒนาด้วย” เภสัชกรหญิง ดร.พัชราภรณ์ กล่าว
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์