ปอดบวมในเด็ก อันตรายจากภัยหนาว
ที่มา : สยามรัฐ
แฟ้มภาพ
ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ เผย พบผู้ป่วยเด็ก-ทารกที่เป็นโรคปอดบวมเพิ่มขึ้น เนื่องจากบางพื้นที่ของไทยอุณหภูมิลดต่ำ หากไม่ป้องกันดูแล จะป่วยเป็นโรคปอดบวมได้
พญ.กิจจาวรรณ เฮงคราวิทย์ อาจารย์แพทย์สาขาวิชากุมารเวชกรรม ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒเผยว่า หน้าหนาวมักพบผู้ป่วยเด็ก-ทารกที่เป็นโรคปอดบวมเพิ่มขึ้น เนื่องจากบางพื้นที่ของไทยอุณหภูมิลดต่ำลงมาก หากไม่ป้องกันดูแลให้ดีพอ จะป่วยเป็นโรคปอดบวมได้
สาเหตุส่วนใหญ่มาจากติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา และพยาธิ โดยเชื้อแบคทีเรียพบบ่อยในเด็ก ได้แก่ เชื้อนิวโมคอคคัส เชื้อรา หรือสารเคมี อาการจะคล้ายไข้หวัดธรรมดาคือ เป็นไข้ ไอ แต่มีอาการร่วมคือไข้สูง ไอ หายใจเหนื่อย ไอแห้งๆ หรือมีเสมหะ มีเสียงหายใจครืดคราด เนื่องจากเสมหะมากและเหนียว กินนมได้น้อย กินอาหารไม่เป็นปกติ ซึม อาจหนาวสั่น หายใจเร็วกว่าปกติ หรือหอบ อาจมีอาการอื่นๆ เช่น เจ็บชายโครงขณะหายใจลึกๆ ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร ปวดเมื่อยตัว ถ้าปอดบวมรุนแรง อาจหายใจลำบาก หน้าอกบุ๋ม ปีกจมูกบาน ปากเขียว
การป้องกันเบื้องต้นคือ หมั่นทำความสะอาดบ้าน ใส่เสื้อกันหนาวและเพิ่มความอบอุ่นให้ร่างกายเสมอ ฝึกให้เด็กล้างมือบ่อยๆ ไม่ขยี้ตา-จมูก ให้เด็กได้รับนมแม่อย่างน้อย 6 เดือน กินอาหารครบ 5 หมู่ ที่สำคัญควรนำเด็กไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคให้ครบ นอกจากนี้ ยังมีวัคซีนเสริมบางชนิดที่ช่วยลดเกิดโรคปอดบวมในเด็ก ได้แก่ วัคซีนไอพีดี วัคซีนไข้หวัดใหญ่ป้องกันโรคปอดบวมจากไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดตามฤดูกาล อาการแทรกซ้อนที่สำคัญที่มักพบคือ หายใจลำบาก ในรายที่รุนแรงอาจทำให้หายใจเอาออกซิเจนไม่เพียงพอ ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจร่วมด้วย
โรคฝีในปอด เชื้อแบคทีเรียสามารถสร้างพิษขึ้นมาทำลายปอด ทำให้มักเกิดฝีในปอดตามมา แบคทีเรียในกระแสเลือดแพร่กระจายไปยังปอด และบางรายอาจอวัยวะล้มเหลวได้
น้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด เกิดจากการอักเสบของเนื้อปอดลามออกมาถึงเยื่อหุ้มปอด ถ้ามีไม่มากก็อาจหายเองได้ ในรายที่มีจำนวนมากจนทำให้เกิดอาการหอบจะต้องรักษาโดยเจาะดูดเอาน้ำออก
ดังนั้น เมื่อเด็กหรือทารกเป็นหวัดควรสังเกตอาการใกล้ชิด หากเป็นอาการของโรคปอดบวมควรพบแพทย์และรักษาอย่างเร่งด่วน สอบถามเพิ่มเติมศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุฯ 0-2502-2345