“ปอดบวม”โรคหน้าฝนเด็ก-คนแก่
ที่มา : เว็บไซต์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
แฟ้มภาพ
“กรมควบคุมโรค” เตือนช่วงหน้าฝนระวังป่วย “ปอดบวม” เผยปี 60 ป่วยแล้วกว่า 1.1 แสนราย เสียชีวิต 121 ราย ชี้เด็กเล็ก ผู้สูงอายุป่วยรวมกันกว่า 7 หมื่นราย แนะวิธีป้องกันโรค
นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงส่ธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า เนื่องจากสภาพที่มีฝนตกในช่วงนี้ ทำให้อากาศมีความชื้นสูงขึ้น เอื้อต่อการระบาดของเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย อาจทำให้ผู้ที่มีสุขภาพไม่แข็งแรงหรือมีภูมิต้านทานน้อย เจ็บป่วยด้วยโรคติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจได้ง่าย ซึ่งโรคที่ควรเฝ้าระวังอย่างยิ่ง คือ โรคปอดบวม โดยกลุ่มเสี่ยงที่ต้องระวังเป็นพิเศษคือเด็กต่ำกว่า 5 ปี กลุ่มผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคปอดเรื้อรัง โรคเบาหวาน หรือผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง
จากข้อมูลระบบเฝ้าระวังโรคของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 12 กรกฎาคม 2560 พบผู้ป่วยโรคปอดบวมทั่วประเทศ 118,171 ราย เสียชีวิตแล้ว 121 ราย จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรกคือศรีสะเกษ เชียงใหม่ มหาสารคาม แม่ฮ่องสอน ขอนแก่น โดยจากข้อมูลพบว่า ในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ป่วย 35,595 ราย เสียชีวิต 3 ราย และกลุ่มอายุ 65 ปีขึ้นไป (กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากที่สุด) ป่วย 39,283 ราย เสียชีวิตถึง 78 ราย ซึ่งพบผู้ป่วยใน2 กลุ่มนี้รวม 74,878 ราย คิดเป็นร้อยละ 63 ของผู้ป่วยทั้งหมด
นพ.เจษฎา กล่าวว่า โรคปอดบวมเป็นโรคที่มีความรุนแรงสูง เกิดจากการติดเชื้อหลายชนิด เช่น เชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส มักเป็นโรคแทรกซ้อนหลังป่วยไข้หวัดประมาณ 3 วัน โดยผู้ป่วยจะมีไข้สูง ไอมีเสมหะ น้ำมูกเปลี่ยนสีจากสีเหลืองเป็นสีเขียวข้น เจ็บหน้าอก เหนื่อยหอบง่าย เด็กเล็กและผู้สูงอายุ อาจจะมีอาการเหล่านี้ไม่ชัดเจนหรือไม่ครบทุกอย่าง จึงควรให้ความสนใจมากกว่าปกติ เช่น ในผู้สูงอายุอาจจะมีไข้ หรือตัวอุ่นๆ และอาการซึมลง ส่วนในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี จะมีไข้สูง ซึม ไม่ดื่มน้ำหรือนม หายใจหอบเร็วหรือหายใจมีเสียงดังหวีดหรือหายใจแรงจนชายโครงบุ๋ม หากมีอาการดังกล่าวขอให้รีบไปพบแพทย์ทันที จะช่วยลดอาการรุนแรงได้
"สำหรับการป้องกันตนเองจากโรคปอดบวม คือ อยู่ในที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่แออัด หรือมลภาวะที่เป็นพิษ เช่น ควันบุหรี่ ควันไฟ และหมอกควันอากาศ ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดหน้า แก้วน้ำ ผ้าเช็ดตัว ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รักษาสุขภาพให้แข็งแรง รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และพักผ่อนให้เพียงพอ รักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ โดยเฉพาะเมื่ออากาศเปลี่ยนแปลง เช่น เย็นจัดหรือชื้นจัด" อธิบดี คร. กล่าว
ทั้งนี้ หากท่านหรือบุคคลใกล้ชิดโดยเฉพาะเด็กเล็กและผู้สูงอายุที่มีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก ขอให้พบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทันที เนื่องจากมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนปอดบวมได้ง่ายกว่าคนปกติทั่วไป ส่วนผู้ที่ป่วยเป็นไข้หวัด ขอให้ดื่มน้ำและพักผ่อนมากๆ หยุดเรียน หยุดทำงาน เมื่อ ไอ จาม ควรมีผ้าเช็ดหน้า ปิดปาก ปิดจมูกด้วยทุกครั้ง หรือสวมหน้ากากป้องกันโรค เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรคแก่ผู้อื่น และหากผู้ป่วยมีอาการไม่ดีขึ้นหรือผู้ป่วยและมีอาการรุนแรงให้รีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน