ปลูกผัก กินเอง ทางเลือกคนเมือง หัวใจสีเขียว
กระแสการดูแลสุขภาพ ใส่ใจการรับประทานอาหารและบริโภคผัก ผลไม้ ปลอดสารพิษมีมากขึ้น ทำให้คนไทย โดยเฉพาะในเมืองหลวง เริ่มสนใจการปลูกผักปลอดสารพิษในสวนที่บ้านของตัวเอง
ทั้งปลูกในพื้นที่ว่างของคอนโดมิเนียม หรือบนชั้นดาดฟ้า ส่งผลดีช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียว เติมออกซิเจนให้กับโลก และช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากรถยนต์ที่มีปริมาณมาก แถมลดค่าใช้จ่ายที่ไม่ต้องซื้อผักในราคาแพง
ปัจจุบันหน่วยงานอย่าง “สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ” (สสส.) ได้ทำโครงการ “กรีน เวิร์กช็อป” (green work-shop) หรือปลูกผักรักษ์โลก เพื่อร่วมเชิญชวนคนไทยมาปลูกผักและสร้างแรงบันดาลใจที่ดีในการเริ่มต้นปลูกผักง่ายๆ เป็นโครงการต่อเนื่องจากโครงการ”สวนผักคนเมือง” ที่ทำมา 3 ปีแล้ว มีแนวคิดที่ต้องการปลูกผักปลอดสารพิษและสร้างสวนสุขภาพให้แก่คนเมือง
สำหรับการเริ่มต้นปลูกผักนั้น สสส.แนะนำว่าสามารถเลือกใช้พื้นที่ทั้งระเบียง ดาดฟ้า หรือสวนแนวตั้งก็ได้ เพื่อให้มีผักไว้บริโภคในบ้านและสามารถเก็บไว้ยามเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหาร ซึ่งการเริ่มปลูกผัก ควรปลูกผักง่ายๆ หรือปลูกผักตามฤดูกาลจะดีที่สุด แนะนำให้ปลูกผักที่สามารถปลูกครั้งเดียวแต่เก็บไว้บริโภคได้หลายครั้ง ได้แก่ พริกกะเพรา โหระพา แมงลัก และผักโขม เป็นต้น
ขั้นตอนการปลูกผักจะมี 2 ขั้นตอนหลัก ได้แก่ ขั้นตอนแรก การเตรียมหัวเชื้อจุลินทรีย์ เริ่มจาก 1. นำขวดขนาด 6 ลิตร มาตัดกรวยออกเพื่อทำเป็นถังหมัก 2. หาใบไม้แห้งที่มีขุยขาวๆ มาใส่ในถังหมัก 3. ใส่น้ำตาลลงไปสองกำมือ 4. เติมน้ำจนเกือบเต็ม 5. ตั้งทิ้งไว้สามวัน โดยไม่ต้องปิดฝา สังเกตว่าเมื่อน้ำเกิดฟองอากาศคือพร้อมใช้แล้ว 6. กรองใบไม้แห้งออก ก็จะได้น้ำหัวเชื้อจุลินทรีย์อีเอ็มเอาไว้ใช้ เรียกว่าทำง่ายมาก
ขั้นตอนที่สองคือ การเตรียมดิน เริ่มจาก 1. นำเศษผัก ผลไม้ กากกาแฟ เศษอาหารในครัวเรือนมาย่อยเป็นชิ้นเล็กๆ นำไปผสมปุ๋ยคอกที่ซื้อได้ตามร้านขายต้นไม้ ผสมให้เข้ากัน 2. เติมน้ำตาลลงไปในปริมาณที่เหมาะสม 3. ใส่น้ำหัวเชื้อจุลินทรีย์ หรือน้ำอีเอ็ม ลงไปพอเปียกและคลุกให้เข้ากัน แล้วปล่อยทิ้งไว้ในภาชนะที่อากาศถ่ายเทได้ คือ เข่ง ตะกร้า และถุงปุ๋ย 4. หมักไว้ 7 วันในที่ที่มีชายคา ไม่ให้โดนแดดโดยตรง ถ้าหมักแล้วมีกลิ่นเหม็นให้เอาน้ำตาลละลายน้ำแล้วพรมใส่
5. หลังหมักไว้ 7 วันให้ลองจับดูว่าไม่มีความร้อนหรือย่อยสลายหมดแล้ว หมายถึงพร้อมใช้งาน 6. เอาปุ๋ยหมักมาผสมดินที่ซื้อได้ตามร้านขายต้นไม้ อัตราส่วน 1:1 7.นำส่วนผสมใส่กระถางและหย่อนเมล็ด หลังจากนั้นก็ดูแลรดน้ำอย่างสม่ำเสมอ และหากปลูกแล้วเสียก็เริ่มต้นปลูกใหม่ได้ ไม่ต้องกังวลหรือเครียด
ท้ายที่สุดจะได้ผักที่ปลูกเอง เป็นผักที่ปลอดสารพิษและรับประทานได้อย่างสบายใจ ที่สำคัญ หากปลูกผักไว้จำนวนมาก ก็สามารถแบ่งปันผักนี้ให้กับคนในบริเวณใกล้เคียงรอบบ้านได้ด้วย เพิ่มความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเพื่อนบ้าน
ความสำคัญของการปลูกผักไว้บริโภคเองมีสูงมากเพราะหากไปสำรวจผักที่วางจำหน่ายในตลาดทั่วไปตามข้อมูลของเครือข่ายเกษตรและนักวิชาการ พบว่ามีสารพิษตกค้างปริมาณสูงถึง 20-45 เท่า เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคอย่างมาก และในช่วงหลายปีที่ผ่านมาประเทศไทยนำเข้าสารเคมีมากกว่า 2 หมื่นล้านต่อปีและมีคนไทยที่เสี่ยงต่อการป่วยเพราะสารเคมีกว่า 2 แสนคนต่อปี
ดังนั้น การเปลี่ยนแนวคิดและชีวิตใหม่ด้วยการปลูกผักไว้บริโภคที่แสนง่ายขนาดนี้ ทำได้เอง และมีค่าใช้จ่ายน้อยมาก ที่สำคัญทำให้ไม่ต้องไปควักกระเป๋าจ่ายเงินซื้อผักมาบริโภคด้วย สอดคล้องกับค่าครองชีพในปัจจุบันที่สินค้าต่างๆ พาเหรดกันขึ้นราคา และในอนาคตหากผลผลิตดี ก็สามารถนำไปขายสร้างรายได้เสริมในครัวเรือนได้อีก
หากสนใจเรียนรู้โครงการสวนผักคนเมือง หรืออยากไปดูวิธีปลูกผัก เข้าไปเยี่ยมชมได้ที่ ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซอยงามดูพลี ถนนพระรามที่สี่ หรือเข้าไปดูข้อมูลได้ที่ www.thaihealthcenter.org เพียงแค่เริ่มต้นปลูกผัก ไลฟ์สไตล์ของคนเมืองก็จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ โดยวราภรณ์ เทียนเงิน
ขอบคุณภาพจาก : โครงการสวนผักคนเมือง