‘ปลูกผักกินเอง’ ทางเลือกสู่อาหารปลอดภัย
ปกติการเลือกซื้อผักเพื่อนำมาปรุง และรับประทานเองเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับสุขภาพ เพราะเราสามารถกำหนดสัดส่วนเครื่องปรุงให้ไม่มัน เค็มหรือหวานมากเกินไปได้ แต่วันนี้เราจะต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น เพราะผักเหล่านั้นอาจมีสารพิษปนเปื้อนจากการใช้สารเคมีในการเพาะปลูกได้
สำหรับ นคร ลิมปคุปตถาวร หรือ ปริ๊นซ์ ผู้ก่อตั้งศูนย์เรียนรู้เกษตรในเมืองเจ้าชายผัก ให้ความเห็นว่า “เพียงแค่เรารู้จักปลูกผักกินเอง เริ่มจากพื้นที่เล็กๆ เราก็จะมีอาหารที่ปลอดภัย ประหยัดค่าใช้จ่าย อีกทั้งยังพร้อมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการ ในอนาคตอาจจะไม่ใช่เพียงการปลุกผัก แต่รวมไปถึงความมั่นคงทางอาหารในทุกด้านที่เราทุกคนสามารถเป็นทั้งผุ้บริโภค และผู้ผลิต”
ปริ๊นซ์ เล่าว่า ตนสนใจเรื่องการปลูกผักกินเองมาตั้งแต่สมัยเรียน แต่มาเริ่มลงมืออย่างจริงจังก็เมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้ว โดยเน้นเรื่องการปลูกพืชหลากหลาย สอดคล้องกับทั้งสภาพแวดล้อมและความต้องการของคนในครอบครัว ซึ่งเทคนิควิธีการปลูกพืชผักให้งอกงามนั้นได้มาจากความรู้ที่สั่งสมมาทั้ง จากตำรา วิชาเรียน การดูงานที่ต่างๆ ทั้งในและนอกประเทศ และที่สำคัญคือได้จากประสบการณ์ที่เขาพยายามทดลองปฏิบัติเองจริง จนตอนนี้ได้ขยายพื้นที่การเพาะปลูกจากในบริเวณข้างบ้านของตนเอง ไปพลิกฟื้นพื้นดินที่เคยถูกปล่อยทิ้งรกร้างมานานบริเวณตรงข้ามบ้าน ให้กลายเป็นสวนผักคนเมืองเพิ่มขึ้นอีกแห่งหนึ่ง
ข้อดีข้อการปลูกผักบริโภคเอง
1. สร้างความสัมพันธ์ในสังคมตั้งแต่ระดับครอบครัว ด้วยการปลูกผักหรือการทำเกษตรในเมืองเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ ทำให้คนได้ร่วมกันเรียนรู้ ทำกิจกรรม และแบ่งปันกัน
2. ลดรายจ่าย มีอาหารที่ปลอดภัยไว้บริโภค และยังสามารถสร้างงานสร้างรายได้เสริมให้กับครอบครัว ซึ่งหากมีผลผลิตเหลือจากกินเองแล้ว ก็สามารถแบ่งขาย สร้างรายได้เสริมได้ นอกจากนี้ยังอาจนำไปสู่การสร้างอาชีพที่เกี่ยวข้อง เช่นการแปรรูปอาหาร เป็นต้น
3. การปลูกพืชผักไว้บริโภคเอง ถือเป็นการช่วยรักษาความหลากหลายทางชีวภาพไว้ได้ส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเรารู้จักนำพันธุ์ผักพื้นบ้านที่ใกล้สูญพันธุ์ ก็จะเป็นการช่วยอนุรักษ์พันธุกรรมไว้ได้อีกทางหนึ่ง ที่สำคัญการปลูกผัก ยังช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศน์ให้ดีขึ้น บางแห่งนอกจากมีผักแล้ว ยังตามมาด้วยนก และแมลงนานาชนิดช่วยกำจัดศัตรูพืชได้อีกด้วย
4. ช่วยสร้างพื้นที่สีเขียว ซึ่งส่วนช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ลดภาวะโลกร้อนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปลูกผักบนดาดฟ้า หรือหลังคา สามารถช่วยลดอุณหภูมิภายในอาคารได้ และมีส่วนช่วยลดค่าไฟจากเครื่องปรับอากาศได้ ที่สำคัญยังมีส่วนช่วยป้องกันน้ำท่วมจากฝนตกหนักได้อีกด้วย
การปลูกผักเองอาจเริ่มต้นแบบง่ายๆ โดยไม่ต้องใช้พื้นที่มาก สำหรับชาวเมืองที่อาศัยอยู่อพาตเม้นท์ คอนโด ก็สามารถทำได้เริ่มจากการเพาะเมล็ดงอก เช่น เมล็ดงอกทานตะวัน โดยวิธีการเพาะคือ 1. เตรียมขุยมะพร้าวร่อน 4 ส่วน ขี้เถ้าแกลบร่อน 1 ส่วน หรือจะใช้ขุยมะพร้าวร่อนกับดินร่อน 1 ต่อ 1 นำมาผสมให้เข้ากัน 2. แช่เมล็ดทานตะวันในน้ำอุ่นทิ้งไว้ 1 คืน หรืออย่างน้อย 8 ชั่วโมง 3. นำวัสดุปลูกใส่ภาชนะที่เป็นตะกร้า หากไม่มีก็สามารถใช้ภาชนะปลูกอะไรก็ได้ แต่ต้องมีรูระบายน้ำ โดยแนะนำให้ใส่วัสดุเพาะประมาณ 3 ต่อ 4 ส่วนของภาชนะแล้วรดน้ำ 4. โรยเมล็ดทานตะวันที่แช่น้ำแล้ว เกลี่ยให้ทั่วแล้วโรยขุยมะพร้าวที่เหลือกลบด้านหน้าเล็กน้อย รดน้ำให้ชุ่มอีกครั้ง นำไปวางไว้ในที่ร่ม รดน้ำเช้า-เย็น ประมาณ 4-5 วันก็สามารถตัดมาบริโภคได้ ซึ่งเมล็ดงอกทานตะวัน เป็นผักที่มีโปรตีนสูงกว่าถั่วเหลือง มีวิตามินเอ และวิตามินอีสูง บำรุงสายตา ผิวพรรณและชะลอความชรา มีวิตามิน บี 1 บี 6 โอเมก้า 3 โอเมก้า 6 โอเมก้า 9 ซึ่งช่วยบำรุงเซลล์สมอง ป้องกันโรคสมองเสื่อม และธาตุเหล็กสูงอีกด้วย
นอกจากนี้ หากมีพื้นที่ระเบียงว่างสามารถปลูกผักตะกร้า หรือปลูกผักแนวตั้ง ถ้วย กะละมัง ขวดพาสติก โดยนำมาเจาะรูเล็กๆ เพื่อระบายน้ำป้องกันไม่ให้ดินได้รับน้ำจนเกินความจำเป็น โดยพืชผักสวนครัวส่วนใหญ่ที่เหมาะกับคนอาศัยอยู่ในเมืองคือ พืชที่มีอายุสั้น เก็บผลผลิตเร็ว และดูแลรักษาไม่ยุ่งยาก และที่สำคัญสามารถปลูกในพื้นที่จำกัดได้ เช่น ผักชี ต้นหอม คะน้า ผักบุ้งจีน กะเพรา โหระพา แมงลัก พริก มะเขือ ถั่วฝักยาว มะเขือเทศ เป็นต้น
ปริ๊นซ์ ยังกล่าวอีกว่า ผักพื้นบ้านเป็นพืชผักที่คนเมืองสามารถปลูกเองได้ เป็นพืชผักที่ไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมี ทั้งยังมีคุณค่าทางอาหารและสรรพคุณทางยา ผักพื้นบ้านและพืชสมุนไพรหลายชนิดบางบ้านก็มักมีติดครัวเรือนกันอยู่แล้ว ในรูปแบบของพืชผักสวนครัว เช่น พริกขี้หนู ข่า ตะไคร้ กระชาย มะกรูด มะนาว แต่นอกเหนือจากนี้ก็ยังมีผักพื้นบ้านและไม้สมุนไพรอีกหลายชนิดที่ควรอนุรักษ์ เพราะฉะนั้น การหันมาปลูกผักพื้นบ้านและสอนลูกหลานให้รู้จักกินผักไทยมากขึ้น จะช่วยสืบทอดภูมิปัญญาไม่ให้เลือนหายไป
“ถ้าเราคิดจะปลูกผัก ต้องตระหนักถึงคุณค่าของการปลูกผัก ที่สำคัญคือ ทำแล้วต้องมีความสุข สุขกายที่ได้อาหารดีปลอดภัย สุขใจที่ได้ปลูก และสุขร่วมกันที่ได้แบ่งปัน” ปริ๊นซ์ กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับผู้สนใจเข้าร่วมเรียนรู้การปลุกผัก สามารถติดต่อได้ที่ ศูนย์อบรมเกษตรในเมือง สาขาเจ้าชายผัก (ลาดพร้าว 71) 9/711 สตรีวิทยา 2 ซอย 3 ลาดพร้าว 71 กรุงเทพฯ โทร. 081-867-2042
เรื่องโดย : กิดานัล กังแฮ Team Content www.thaihealth.or.th
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต