ปลูกบ้าน สร้างคน..พลิกวิฤติแผ่นดินไหว
กว่า 1 เดือนแล้ว ที่เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งประวัติศาสตร์ของประเทศไทยที่จังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ได้สร้างมูลค่าความเสียหายทิ้งไว้ไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท ด้วยแรงสั่นสะเทือนขนาด 6.3 ตามมาตราริกเตอร์ ตามด้วยอาฟเตอร์ช็อครวมทั้งสิ้น 804 ครั้ง ครอบคลุมพื้นที่ 7 อำเภอ รวม 50 ตำบล 610 หมู่บ้าน โดยมีผู้ได้รับความเดือนร้อนไม่น้อยกว่า 54,000 คน และเหตุการณ์ดังกล่าวยังทำให้มีผู้บาดเจ็บถึง 24 ราย และเสียชีวิต 1 ราย ด้านสิ่งปลูกสร้างรวมถึงบ้านที่อยู่อาศัยนั้นเสียหายรวม 8,463 แห่ง
แม้ภาครัฐจะเร่งเข้าไปดูแลเยียวยา ทำการประเมินความเสียหายเพื่อจ่ายเงินแก่ชาวบ้าน พร้อมประเมินความปลอดภัยบ้านเรือน โดยใช้สัญลักษณ์เขียว เหลือง แดง ตามลำดับความปลอดภัยในการเข้าอยู่อาศัย แต่การช่วยเหลือดังกล่าวกลับไม่ได้เข้าถึงในทุกพื้นที่ ยิ่งเฉพาะใน ตำบลดงมะดะ อำเภอแม่ลาว พื้นที่ที่ได้รับความเสียหายมากที่สุด
"ตำบลดงมะดะได้รับผลกระทบอย่างมาก บ้านเรือนเสียหายถึง 173 หลังคาเรือน จากจำนวนทั้งหมด 242 หลังคา ในจำนวนนี้มี 10 กว่าครัวเรือน ที่เสียหายอย่างหนักไม่สามารถเข้าไปอยู่อาศัยได้ ชาวบ้านในชุมชนต่างเสียขวัญและเศร้าโศกเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานราชการทั้งท้องถิ่นและจังหวัด จนป่านนี้ก็ยังไม่มีหน่วยงานไหนเข้ามาช่วยเหลือเลย แม้แต่ตอนนี้ยังมีชาวบ้านอีกเป็นจำนวนมากที่ไม่มีบ้านให้อยู่ ต้องออกมานอนนอกบ้านตามพื้นที่ต่างๆ" เสียงสะท้อนของ พงศกร จักรนิล ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 12 ตำบลดงมะดะ อำเภอแม่ลาว บอกให้รู้ถึงสถานการณ์ล่าสุด
เมื่อปัญหายังรอให้ได้รับการแก้ไข ขณะที่คนในชุมชนต้องอยู่อาศัยและทำมาหากิน จึงเกิดเป็นการรวมตัวอย่างเข้มแข็งเป็นครั้งแรกของคนในพื้นที่ เพื่อช่วยกันระดมความคิดหาแนวทางบรรเทาเฉพาะหน้า โดยมีความหวังว่าอยากให้ทุกคนสามารถกลับมาดำรงชีวิตได้อย่างเป็นปกติสุขเช่นเคย
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผู้ใหญ่บ้านคนเดิม อธิบายให้ฟังว่า ความเสียหายที่มีอยู่มากมาย และยังไม่ได้รับการแก้ไข ในอีกด้านหนึ่งก็เกิดเป็นเรื่องดีต่อชุมชน เพราะทุกคนตื่นตัวและพยายามช่วยกันหาทางบรรเทาแก้ไข อย่างน้อยก็เกิดเป็นกระบวนการความรู้ ในการเตรียมแนวทางป้องกันให้ชาวบ้าน ทั้งวิธีการรับมือ รู้จักวิธีป้องกันตัว วิธีการช่วยเหลือผู้ประสบภัยเบื้องต้น อีกทั้ง ทางหมู่บ้านได้สร้างศูนย์ประสานงาน ไว้สำหรับเตือนภัยกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน โดยมีอาสาสมัครที่ผ่านการฝึกอบรมมาคอยให้ความช่วยเหลือชาวบ้าน และมีการจัดทำแผนที่ทำมือ พื้นที่และบริเวณใกล้เคียงหมู่บ้าน เพื่อเป็นเส้นทางในการเคลื่อนย้ายไปสู่ที่ปลอดภัย องค์ความรู้ที่เผยแพร่แก่ชาวบ้าน ยังรวมไปถึงการเก็บตุนเสบียงอาหาร น้ำดื่ม สำหรับดำรงชีวิตเมื่อเกิดเหตุการณ์ในภายภาคหน้าด้วย
"ก็มีเพียงเครือข่ายการจัดการภัยพิบัติ และทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. เข้ามาช่วยเหลือเพร้อมให้ความรู้ในการสร้างบ้านพักชั่วคราวจากวัสดุธรรมชาติ จำพวกไม้ไผ่ หญ้าคาแก่ชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน ตอนนี้สร้างแล้วเสร็จจำนวน 9 หลัง ทำให้ชาวบ้านมีขวัญและกำลังใจที่ดีขึ้น ซึ่งจะรีบดำเนินการสร้างต่อให้พอเพียงกับชาวบ้านที่ต้องได้รับการช่วยเหลือกรณีเร่งด่วน โดยสิ่งที่ทางหมู่บ้านต้องการด่วนตอนนี้ คือเต้นท์ที่มีหลังคาไว้สำหรับอาศัยนอน และการเข้ามาช่วยเหลือซ่อมแซมที่อยู่อาศัย เนื่องจากตอนนี้ใกล้ฤดูฝนแล้ว ถ้าปล่อยไว้ชาวบ้านจะได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก"ผู้ใหญ่บ้านพงศกร กล่าว
เพราะเรื่องที่อยู่อาศัยเป็นสิ่งสำคัญ เป็นปัจจัย 4 ของมนุษย์ เมื่อรู้ว่าเกิดเหตุร้ายขึ้นที่ภาคเหนือ ทางเครือข่ายการจัดการภัยพิบัติ เครือข่ายภาคประชาชนที่ก่อตั้งหลังจากเกิดเหตุการณ์สินามิ จึงไม่รอช้าที่จะรุดหน้าเข้าช่วยเหลือ ให้พี่น้องผู้ประสบภัยได้เรียนรู้ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น และนำมาพัฒนาอาสาสมัครเพื่อให้การช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน
โกเมศร์ ทองบุญชู ประธานเครือข่ายการจัดการภัยพิบัติ กล่าวถึงว่า สิ่งที่เห็นหลังจากการลงพื้นที่ พบว่าบ้านเรือนที่อยู่อาศัยของชาวบ้านที่สร้างจากคอนกรีตได้รับความเสียหายอย่างมาก คนในชุมชนไม่มีที่อยู่ สภาพจิตใจย่ำแย่ สับสน ร้องไห้ ทอดอาลัยกับความเสียหายที่เกิดขึ้น นอกจากเรื่องที่อยู่อาศัยแล้ว เรื่องจิตใจก็สำคัญไม่แพ้กัน และสิ่งสำคัญที่สุดคือเรื่องการฟื้นฟูสภาพจิตใจของชาวบ้าน
โดยการช่วยเหลือเร่งด่วนที่ทางเครือข่ายการจัดการภัยพิบัติร่วมกับ สสส.ทำให้กับชาวบ้าน คือการสร้างบ้านชั่วคราวให้กับผู้ประสบภัยที่บ้านเรือนเสียหายอย่างหนัก เพื่อให้มีพื้นที่อยู่อาศัยก่อน ด้วยการอาศัยใช้วัสดุธรรมชาติที่มีอยู่ในพื้นที่มาปรับใช้ เช่น ไม้ไผ่ หญ้าคา มาสร้างเป็นกระท่อมให้อยู่อาศัยได้จำนวน 3 หลังภายในระยะเวลา 3 วัน
"บ้านชั่วคราวที่สร้างขึ้นนี้ เนื่องจากสร้างจากวัสดุธรรมชาติจึงสามารถรับแรงสั่นสะเทือนได้ และตามโครงสร้างที่ทำก็มีอายุให้อยู่อาศัยได้นานถึง 5-6 ปี"โกเมศร์ ระบุ พร้อมกล่าวต่อว่า
"เราไม่สามารถจะสร้างบ้านให้กับทุกครอบครัวได้ จึงพิจารณาเลือกคนที่มีความจำเป็น และเดือดร้อนมากตามลำดับ อย่างเช่น บ้านที่มีคนชราไม่มีลูกหลานเลี้ยงดู บ้านที่มีคนพิการ หรือบ้านที่มีผู้ป่วยครับ"
หลังจากนั้น ทางหมู่บ้านและเครือข่ายการจัดการภัยพิบัติ จึงประสานขอความช่วยเหลือสนับสนุนไปยังเครือข่ายชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ของ สสส. ในการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ในการสร้างบ้านชั่วคราวเพิ่ม ทำให้ปัจจุบันหมู่12 ตำบลดงมะดะ มีบ้านชั่วคราวที่สร้างเสร็จสิ้นจำนวน 9 หลัง ส่วนวัสดุที่เหลือทางเครือข่ายชุมชนกำลังจัดสร้างที่อยู่อาศัยให้กับชาวบ้านเพิ่มเติม
"กิจกรรมสร้างบ้านชั่วคราว ช่วยให้ความทุกข์ของชาวบ้านเบาบางลง สิ่งที่เราเห็นคือความร่วมมือกันของคนในหมู่บ้าน ตั้งแต่ระดับผู้นำอย่างผู้ใหญ่บ้านจนถึงชาวบ้านทุกเพศทุกวัย บ้านทุกหลังที่สร้างจนเสร็จสิ้น แม้จะไม่ใช่บ้านของตัวเอง แต่ชาวบ้านต่างเต็มใจมีน้ำใจช่วยเหลือกันสร้างขึ้น เกิดเป็นรอยยิ้มและเสียงหัวเราะจากคนในหมู่บ้านที่กลับคืนมา ซึ่งในสถานการณ์เลวร้ายแบบนี้ หากไม่มีผู้นำที่ดีพร้อมให้ความร่วมมือ คอยช่วยเหลือคนในชุมชน และชาวบ้านความรักใคร่สามัคคีกัน การช่วยเหลือต่างๆ ก็คงไม่สำเร็จลุล่วงได้ในระยะเวลาอันรวดเร็วแบบนี้ เพราะในยามเกิดภัยพิบัติคนที่จะช่วยเหลือได้ดีที่สุดก็คือผู้ประสบภัยนั่นเอง" ประธานเครือข่ายการจัดการภัยพิบัติ ให้คำแนะนำเพิ่มเติม
ไม่ใช่แค่การร่วมแรงร่วมใจแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าระยะสั้น แต่ทาง ผู้ใหญ่บ้านพงศกร ยังมองถึงความยั่งยืนของชุมชนในระยะยาวไว้อีกด้วย โดยเจ้าบ้านมีแผนพัฒนาชุมชนหมู่ 12 ด้วยการปลูกป่า อย่าง ไม้ประดู่ ไม้ยูคาลิปตัส ตามหัวไร่ปลายนา เพื่อใช้เป็นไม้ค้ำยันในอนาคต เพราะไม้เหล่านี้เมื่อโตขึ้นสามารถนำมาสร้างบ้านเรือนให้กับชาวบ้านในชุมชนได้ นอกจากนี้จะจัดทำนโยบายให้ชาวบ้านปลูกผักสวนครัวปลอดสารพิษ เพื่อให้คนในชุมชนได้มีผักผลไม้ที่ปลอดภัยจากสารเคมีไว้รับประทาน และยังเป็นการสร้างรายได้เสริมด้วยการนำผักสวนครัวปลอดสารไปขายได้อีกด้วย
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์