ปลูกต้นกล้านวัตกรรุ่นใหม่ สร้างเสริมสุขภาพ
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
แฟ้มภาพ
การปลูกฝังคนรุ่นใหม่ ให้หันมาสนใจร่วมกันผลิตนวัตกรรม เปรียบเสมือน การเพาะเมล็ดพันธุ์ เป็นอีกโอกาสที่จะสร้างทิศทางใหม่ของอนาคตประเทศไทย ให้ขับเคลื่อนประเทศด้วยการผลิตนวัตกรรม
"โครงการประกวดนวัตกรรม สร้างเสริมสุขภาพ: THAIHEALTH INNO AWARDS ครั้งที่ 2" เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องเข้าสู่ปีที่ 2 โดยเปิดโอกาสให้เยาวชนทั้งในระดับมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษาได้คิดสร้างสรรค์พัฒนาเป็นนวัตกรรมที่ตอบโจทย์การสร้างเสริม สุขภาพให้เกิดขึ้นในสังคมไทย
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยว่าในโครงการดังกล่าว ชิ้นรางวัลไม่ใช่เพียงปลายทางเท่านั้น แต่สิ่งที่ได้คือการสร้างเมล็ดพันธุ์นวัตกร คนรุ่นใหม่ และการบ่มเพาะนักสร้างนวัตกรรม ซึ่งมีความสำคัญอย่างมาก ในการจะสร้างนวัตกรรมในการสร้างเสริม สุขภาพของไทย โดยปัจจุบันมีความต้องการนวัตกรรมการสร้างเสริมสุขภาพมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะโลกทุกวันนี้มีการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เครื่องมือเทคโนโลยีต่างๆ ที่มีประโยชน์และโทษต่อสุขภาพ อย่าง บุหรี่รุ่นใหม่ๆ ก็ทำให้ติดเร็วและเลิกได้ยากขึ้น หรือ มีการพัฒนาบุหรี่ไฟฟ้า
รวมถึงบางเรื่องอาจจะไม่จงใจทำลายสุขภาพ เครื่องมือยุคดิจิทัลตามข้อมูลทุกคนอยู่หน้าจอ 12 ชั่วโมง หรือครึ่งหนึ่งของเวลาตื่นทุกคน จะอยู่กับหน้าจอ กับข้อมูลในโซเซียล และ มีสิ่งที่ทำร้ายสุขภาพทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจ หรือแม้แต่การเคลื่อนไหวร่างกาย พฤติกรรม เนือยนิ่งของคนเราเพิ่มขึ้น ทุกคนออกกำลังน้อยลง ทำให้โรคต่างๆ เกิดขึ้น เป็นต้น
"นวัตกรรมสร้างสุขภาพเป็นทางเลือกที่จะทำให้ทุกคนมีสุขภาพที่ดีขึ้น และเราต้องมีนวัตกรมากขึ้น โดยเฉพาะนวัตกร คนรุ่นใหม่ที่เข้าใจวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ วิถีชีวิตใหม่ๆ ในการสร้างเสริมสุขภาพ และลดภัยที่ทำลายสุขภาพ ดังนั้น สสส. เชื่อมั่นในพลังคนรุ่นใหม่ ที่จะสร้างสรรค์ สิ่งใหม่เพื่อเปลี่ยนสุขภาวะของคนในสังคมให้ดียิ่งขึ้น โครงการดังกล่าว คือ ความอยาก ที่จะเปลี่ยนสังคมรอบตัวด้วยแนวคิดนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ เพื่อแก้ปัญหาหรือส่งเสริมสุขภาพของชุมชน หรือในเชิงประเด็นทางสังคมที่สามารถขยายผล ในวงกว้างได้" ดร.สุปรีดา กล่าว
สำหรับการประกวดดังกล่าวแบ่งออกเป็น 2 ระดับคือ ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช. หรือเทียบเท่า) โดยมีผลงานจากนักเรียนระดับมัธยมและอาชีวศึกษา ร่วมส่งเข้า ผลงานทั้งสิ้น 132 ทีม และมีทีมที่ผ่านเข้ารอบสุดท้าย 18 ทีม ซึ่ง สสส. ไม่ได้มุ่งหวัง เพียงแค่การประกวดเพื่อให้ได้ชิ้นงานนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ แต่มุ่งหวังที่จะ สร้าง "เมล็ดพันธุ์นักนวัตกรรมสร้างเสริม สุขภาพ" ที่เกิดขึ้นทั้งลูกศิษย์และครู เพื่อบ่มเพาะแนวคิดของการเป็นนักนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพอย่างต่อเนื่อง รวมถึง การต่อยอดผลงานให้สามารถขยายผล ในวงกว้างเพื่อสร้างเสริมสุขภาพให้กับ ทุกคนในสังคมไทย
ทีม Safe Zone ไอเดียของ ศรันย์รักษ์ ฐิติกุลนิธิ นพกฤษฏิ์ นิธิชัยสถิต และพันธบัตร ใบบุตร จากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ธนบุรี กรุงเทพฯ เจ้าของผลงาน "D&C Air pollution" ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ระดับมัธยมศึกษาช่วยกันเล่าว่าพวกเขา ได้ร่วมกันสร้างสิ่งประดิษฐ์ D&C Air pollution ที่มีความสามารถตรวจจับ ความหนาแน่นของฝุ่น PM2.5 และ แก็สคาร์บอนมอนอกไซด์ โดยจะทำการ ติดตั้งที่รถมอเตอร์ไซค์ และเมื่อเข้าไปใน
พื้นที่ที่มีค่าฝุ่นเกินมาตรฐานจะมีการแจ้งเตือน แก่ผู้ใช้งานผ่านระบบแจ้งเตือน 4 ระบบ คือ ผ่านลำโพง ผ่านหลอด RGB LED ผ่านจอ LCD และผ่านแอพพลิเคชั่นของโทรศัพท์มือถือ ซึ่งผลงานดังกล่าวเพื่อต้องการแก้ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 และสร้างความตระหนักให้แก่คนในชุมชน เพราะคนส่วนใหญ่ในชุมชนจะใช้มอเตอร์ไซค์ วินมอเตอร์ไซค์อย่างเดินทางมาโรงเรียน ดังนั้น ถ้ามีเครื่องมือตรวจวัดและแจ้งเตือนจะช่วยป้องกันได้มากขึ้น
"จริงๆ โครงงานของพวกเราได้ทำมาตั้งแต่ปี 2562 แต่ตอนนั้นจะเป็นการใช้ องค์ความรู้จากตำราเรียน และคำแนะนำจากครูที่ปรึกษา แต่เมื่อได้เข้าร่วมการ ประกวดของสสส.ได้รับคำแนะนำจากพี่ๆ วิทยากรนอกจากพวกเราร่วมกันสร้างแล้ว ยังได้คำแนะนำจากครูที่ปรึกษา และได้ เรียนรู้ทั้งการทำงานเป็นทีม การแก้ปัญหา เฉพาะหน้า การรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น การนำเสนอ การคิดวิเคราะห์ คิดสร้างสรรค์ ที่สำคัญทำให้ได้องค์ความรู้ใหม่ๆ นอกเหนือจากในห้องเรียน" น.ส.ศรันย์รักษ์ กล่าว
เช่นเดียวกับทีมต้นยางสารภี จอมขวัญ ลุงต๋า และเทพพิทักษ์ อินคำ จากวิทยาลัยเทคนิคสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ผลงาน เครื่องสลัดน้ำมันจากการทอดที่ได้รับรางวัล ชนะเลิศระดับอาชีวศึกษา เล่าว่ารู้สึกดีใจมาก ที่ได้เข้าร่วมโครงการดังกล่าว เพราะเป็นครั้งแรกที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมการประกวดสิ่งประดิษฐ์ สร้างนวัตกรรมเกี่ยวกับสุขภาพ ซึ่งผลงานที่พวกเรา สร้างสรรค์ขึ้นนั้น เนื่องจากเห็นพฤติกรรมการกินอาหารของเพื่อนๆ ที่ชอบอาหารทอด และคนไทยส่วนใหญ่ ก็ชอบของทอด จึงได้ออกแบบเครื่องสลัดน้ำมัน
ซึ่งใช้ต้นแบบจากการ ปั่นผ้าแห้งของเครื่องซักผ้า ใช้แรงเหวี่ยง หมุนสะบัดเพื่อให้เหลือน้ำมันตกค้าง ในอาหารน้อยที่สุด ตอนแรกเราก็ผลิตชิ้นใหญ่และใช้เป็นแรงจากเท้า แต่เมื่อได้มาเข้าร่วมการประกวด ได้รับคำแนะนำจากพี่ๆ วิทยากร จึงเปลี่ยนมาเป็นใช้มือหมุนเพื่อรักษาความสะอาด และสามารถผลิตได้ขนาดเล็กลง ราคาถูกลง สามารถใช้ได้ในครัวเรือน สะดวกมากขึ้น และช่วยลดน้ำมันในอาหารได้ดียิ่งขึ้น
"สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการเข้าร่วมโครงการคือการเป็นนักนวัตกรที่ดี เพราะที่ผ่านมาเราก็ทำสิ่งประดิษฐ์ตามโจทย์ที่อาจารย์ใหม่ แต่เครื่องสลัดน้ำมัน เป็นการผลิตจากปัญหาจริงและสามารถใช้ได้จริง อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริม ให้ทุกคนตระหนักถึงการดูแลสุขภาพ และลดโรคต่างที่เกิดจากการรับประทานอาหารที่มีน้ำมันมากๆ โครงการ สสส.เป็นเวทีที่ดีช่วยให้พวกผมได้ลองเรียนรู้ ฝึกฝนเป็นนักนวัตกรในการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อประโยชน์ส่วนร่วม กล้าคิด กล้าประดิษฐ์ และนึกถึงโจทย์สุขภาพที่ครอบคลุมทุกคนได้มากขึ้น อยากให้เยาวชนทุกคนที่สนใจพัฒนา ผลิตสิ่งประดิษฐ์เข้าร่วมการประกวด ครั้งนี้ เพื่อได้เรียนรู้การสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่เพื่อสุขภาพและสังคมไทย" 2 หนุ่มช่วยกันเล่า