ปลูกฐานคิดเยาวชนดูแลถิ่นเกิด
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
สร้างพลเมืองรุ่นใหม่ดูแลถิ่นเกิด รับมือสังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด
จากข้อมูลของมูลนิธิสถาบัน วิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย คาดการณ์ว่า ในปี พ.ศ.2564 ประเทศไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ และต่อจากนี้ไปอีก 10 ปี หรือ พ.ศ.2574 ก็จะเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอด (Super-aged society) นั่นคือมีประชากรวัย 65 ปี ถึงร้อยละ 20 ตัวเลขนี้สะท้อนให้เห็นว่าเป็นสถิติที่เร็วมาก ถือเป็นปรากฏการณ์ของผู้สูงอายุที่มีสัดส่วนมากขึ้นเมื่อเทียบกับประชากรทั้งหมด ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างของประชากรไทย จากข้อมูลดังกล่าวสู่ฐานคิดกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมระหว่างกลุ่มแกนนำเด็ก เยาวชน ผู้ปกครอง ผู้นำชุมชน และพี่เลี้ยง เพื่อเตรียมความพร้อมให้เยาวชน รุ่นใหม่ในการขับเคลื่อนสังคม โดยใช้ เวทีพิจารณากลั่นกรองโครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ ปี 3 ที่สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
รุ่งวิชิต คำงาม หัวหน้าโครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ กล่าวถึงภารกิจส่งต่อบทบาทและวางรากฐานของการ "สร้างพลเมืองรุ่นใหม่" ให้มีคุณภาพสู่การพัฒนาประเทศจึงเป็นสิ่งสำคัญ การทำงานในโครงการดังกล่าวเป็นการปูฐานคิดให้เยาวชนได้เรียนรู้ทักษะชีวิตที่ฉีกกรอบคิดแบบเดิมๆ สู่การลงมือทำงานเป็นทีม โดยมีชุมชนเป็นห้องเรียน เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้ บริบทความเป็นอยู่ของชุมชนตัวเอง หรือการเห็น "ทุกข์และทุน" ของชุมชนที่ตนอาศัยอยู่นั่นเอง ในปีนี้มีเยาวชนส่งโครงการเข้าร่วมถึง 20 โครงการ แบ่งเป็น 3 ประเด็น ดังนี้
ประเด็นโครงการด้านวัฒนธรรมและภูมิปัญญา ได้แก่ 1.โครงการโกนเจา เล่าขาน ตำนานปราสาทตาเล็ง 2.โครงการเยาวชนขามใหญ่ อนุรักษ์ภูมิปัญญา พัฒนาการทอเสื่อกก 3 โครงการเศษผ้าสืบสาน เล่าขานตำนานบ้านดู่ 4.โครงการอนุรักษ์สืบสานการละเล่นกันตรึมพื้นบ้าน สานความรู้สู่มือน้อง 5.โครงการสะเองสืบสานจัดกระบวนการลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้สู่ รุ่นน้องนอกห้องเรียน 6.โครงการ ย้อนรอยศึกษาสืบสานภะซากวยโทร๊ะ อึมเพิ๊ต และ 7.โครงการศึกษาเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นการใช้ประโยชน์จากทางมะพร้าว
ประเด็นโครงการด้านสัมมาอาชีพได้แก่ 1.โครงการสร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ ของกลุ่มเยาวชนบ้านแสนแก้ว 2.โครงการ Spy kids รุ่นใหม่ ถักทอใจสู่ผลิตภัณฑ์ 3.โครงการทอรักร่วมกัน Product สร้างสรรค์แปรรูปผลิตภัณฑ์กอนกวย Sodlaway 4.โครงการไก่ไข่เพื่อการเรียนรู้ 5.โครงการมะพร้าววัยใสสร้างเศรษฐกิจชาวทุ่งมน และ 6.โครงการเรียนรู้ และทดลองแปรรูปหัวปลาให้เป็นอาหารไก่โดยเยาวชนบ้านดงตาดทอง
ประเด็นโครงการด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ 1.โครงการสร้างฐานเรียนรู้สมุนไพรไปร่ตาจู เพื่อการจัดการป่าชุมชน 2.โครงการเยาวชนร่วมใจแก้ไขปัญหาขยะเพื่ออนุรักษ์ฟื้นฟูป่าชุมชนบ้านกระโพธิ์ 3.โครงการการจัดการพื้นที่และลำห้วยหนองบัวบานเพื่อใช้ประโยชน์ในการประกอบอาชีพแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 4.โครงการเยาวชนศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าบุ่งป่าทามเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูแหล่งอาหารของบ้านเหล่าโดน 5.โครงการ ยุวชนอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าหนองแสนแสบ 6.โครงการน้ำประปาใสด้วยแรงใจฟ้าผ่าสามัคคี และ 7.โครงการ ชาสมุนไพรพื้นบ้านสร้างองค์ความรู้ให้กับชุมชน
รุ่งวิชิต ยังกล่าวอีกว่า ตลอดระยะเวลา 6 เดือนของการทำโครงการ กระบวนการหนุนเสริมของทีมพี่เลี้ยงมีความสำคัญไม่แพ้กัน เนื่องจากเป็นกลุ่มคนสำคัญที่จะคอยเชื่อมโยงระหว่างเด็กและชุมชน ในทุกมิติผ่านเครื่องมือต่างๆ ทั้งการ จัดระบบการทำงาน การเติมทักษะ องค์ความรู้ของบริบทชุมชนในภาพรวม โดยมีผู้รู้และผู้ทรงคุณวุฒิเข้าไปเติมเต็มเป็นระยะๆ เพราะสิ่งสำคัญคือการให้เยาวชนทำงานอย่างมีความสุข เพื่อพัฒนาคนรุ่นใหม่เหล่านี้สู่การเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนชุมชนต่อจากผู้ใหญ่นั่นเอง ชุมชนเป็นห้องเรียนเพื่อให้เด็กและเยาวชน ได้เรียนรู้บริบท ความเป็นอยู่ของชุมชนตัวเอง