ปลูกข้าวพื้นเมือง เพื่อรักษาแผ่นดินเกิด

ชาวบ้าน อ.คลองเหนือ จ.กระบี่ ร่วมกันรักษาผืนดินบ้านเกิดโดยปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมืองตามแนวชีววิถี รื้อฟื้นอาชีพดั้งเดิม คนในชุมชนสนใจบ้านเกิดมากขึ้น


ปลูกข้าวพื้นเมือง รักษาแผ่นดินเกิด thaihealth


 “คุณจะซื้อที่ทำสนามกอล์ฟก็ได้นะ จะตีกอล์ฟก็ได้ แต่คุณอย่างตีผ่านที่ดินของผม ซึ่งถ้าเป็นอย่างนี้แล้ว ใครจะซื้อ นอกจากว่ามาฆ่าผม หรือยอมจ่ายซื้อที่ดินผมในราคาแพง แต่ผมจะไม่มีวันขายที่ดินแปลงนี้แน่ เพราะนี่คือตู้เย็นตู้สุดท้าย ของคนคลองหมาก” สุเมศ บินระหีม เขยบ้านคลองหมากกล่าวด้วยใจที่เด็ดเดี่ยว หลังรู้ดีว่า พื้นที่บนเกาะทุ่งท่าไร่ บ้านคลองหมาก หมู่ที่ 3 ตำบลคลองขนาน อำเภอคลองเหนือ จังหวัดกระบี่ เปรียบเหมือนเพชรเม็ดงาม ที่ถูกนายทุนหวังจับจ้องสร้างสนามกอล์ฟ


สุเมศ บินระหีม แกนนำโครงการปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมืองตามแนวชีววิถี บ้านคลองหมาก เล่าให้ฟังว่า ผืนดินแห่งเกาะทุ่งท่าไร่ 1,500 ไร่เคยเป็นผืนดินที่รกร้างว่างเปล่า เนื่องจากอดีตคนในชุมชนประสบปัญหาขาดทุนจากการทำนา จนต้องหันไปประกอบอาชีพอื่นเลี้ยงตนเองและครอบครัวแต่ตนเองซึ่งได้รับมรดกจากพ่อตา ที่มอบที่ดินเมื่อปี 2549 ให้จำนวน 20 ไร่ กลับมองปัญหาและโอกาส จึงนำความรู้ความสามารถ ที่ร่ำเรียนด้านเกษตร ตัดสินใจลาออก จากตำแหน่งนักวิชาการสวนปาล์มในกระบี่ ด้วยปณิธานที่จะรักษาผืนแผ่นดินนี้ให้คงอยู่


ปลูกข้าวพื้นเมือง รักษาแผ่นดินเกิด thaihealthปลูกข้าวพื้นเมือง รักษาแผ่นดินเกิด thaihealth


โดยช่วงแรก สุเมศ ตัดสินใจยอมเป็นหนี้เป็นสินหาเงินซื้อที่ดินผ่าเกาะ เพื่อป้องกันนายทุนครองครองดินผืนใหญ่ แต่หากจะต่อสู้กับอำนาจทุนเพียงลำพังนั้น คำว่า “ตู้เย็นแห่งบ้านคลองหมาก” มีวันอวสานเป็นแน่ เขาจึงคิดกุศโลบาย การมีส่วนร่วมในการปกป้องรักษาชุมชน ไม่ให้ถูกอำนาจเงิน กลืนวิถีชีวิตคน เกาะทุ่งท่าไร่ด้วยการชักชวนคนในชุมชนเข้ามาทำนาในพื้นที่ที่ถูกทิ้งร้างมานานกว่า 50 ปี โดยปี 2552 มีชาวบ้านสนใจเข้าร่วม 7 ครอบครัว ฤดูกาลถัดมา มีเพิ่มมาเรื่อย จนในปัจจุบันมีชาวบ้านเข้าร่วมทำนาแล้ว 40 ครัวเรือน


แม้เกาะทุ่งท่าไร่จะอยู่ติดกับทะเล แต่น้ำจืด มีมากเพียงพอที่จะทำนา สุเมศ จึงเดินหน้าของบจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เมื่อปี 2555 สานต่อการทำนาสภาพของเกาะทุ่งท่าไร่ ด้วยการปลูกข้าวพื้นเมืองตามแนวชีววิถี หรือเกษตรอินทรีย์ และถึงแม้จะมีความลำบากในการขนย้ายรถไถนา ซึ่งต้องถอดชิ้นส่วนลงเรือหางยาวข้ามน้ำข้ามทะเล ก็ตาม แต่เป็นสิ่งที่ สุเมศ ภูมิใจยิ่งนัก เพราะเชื่อว่าไม่มีที่ใดในโลก


ความล้มเหลวของบรรพบุรุษสอนให้สุเมศ รู้จักการทำนามากขึ้น เขาเล่าว่า เรียนรู้การทำนาโยน มาจากจังหวัดสุพรรณบุรี แทนการดำนา ที่มีต้นทุนสูง และเลือกที่จะใช้ ข้าวสังข์หยด พันธุ์ข้าวชั้นดีของจังหวัดพัทลุงในการเพาะปลูก ซึ่งนอกจากจะบริโภคภายในครัวเรือน ปลอดภัยไร้สารพิษแล้ว คุณภาพข้าวยังเป็นที่ต้องการของตลาด ที่ทำราคาได้ถึงกิโลกรัมละ 80 บาท และขณะนี้อยู่ในช่วงพัฒนาผลัตภัณฑ์ข้าวสังข์หยดอินทรีย์ในรูปแบบของ ข้าวยำแห้ง อาหารกินเล่น สร้างมูลค่าเพิ่มอีกด้วย


แต่ด้วยปัญหาที่เชื่อว่าจะไม่มีคนสืบสานการทำนาแบบบรรพบุรุษ สุเมศ จึงพุ่งเป้าไปที่หนุ่มสาวคนรุ่นใหม่ ว่าจะทำอย่างไรถึงจะนำพวกเขาและเธอกลับมาปกป้องแผ่นดินเกิด ในที่สุด จึงมองไปถึงการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรสร้างกิจกรรม และต่อยอดที่ไม่ได้หวังพึ่งอาชีพทำนาเพียงอย่างเดียว เพื่อต้องการดึงคนรุ่นใหม่ เข้ามามีส่วนร่วม โดยประสานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ช่วยประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเรียนรู้การใช้ชีวิตกับชาวบ้าน กินข้าวในนา เปิบด้วยมือ ท่ามกลางธรรมชาติ เสียงนก สายน้ำ และท้องทุ่ง โดยไม่ต้องพึ่งพาโรงแรมหรู หรือ รีสอร์ทราคาแพง


ทวีชัย อ่อนนวน พี่เลี้ยงติดตามสนับสนุนโครงการ ของ สสส. มองว่า การทำโครงการฯนี้ ส่งผลให้คนในชุมชนหันกลับมาสนใจบ้านเกิด รื้อฟื้นการทำนาอาชีพดั้งเดิม ต่อยอดเพื่อสร้างคุณค่าให้ชุมชน ท้องถิ่น เป็นแหล่งศึกษา เรียนรู้ ส่งผลให้คนจากนอกพื้นที่ หน่วยงานราชการ ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมือง เดินทางมาเยี่ยมชม สร้างรายได้ให้ชุมชน ได้อยู่ดีกินดี โดยไม่ทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิด


เกาะทุ่งท่าไร่ ถือเป็นแบบอย่างชุมชนที่เน้นการมีส่วนร่วม ทำงานอย่างโปร่งใส วางแผนเป็นขั้นเป็นตอน วิเคราะห์พูดคุย และลงมือปฏิบัติจนเป็นรูปธรรม สร้างความเข้มแข็งเป็นที่ยอมรับของชาวบ้าน โดยมีผู้นำชุมชนที่เข้มแข็ง ที่วางแผนป้องกันไม่ให้กลุ่มนายทุนกลืนกินรากเหง้าแต่เก่าก่อน


 


 


ที่มา: สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ