ปลุกสังคม ปกป้องสิทธิ์ร่วมต้านภัยเหล้ามือสอง
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
แฟ้มภาพ
"ขอโทษค่ะเราเคยรู้จักกันมาก่อนหรือเปล่าค่ะ" "แล้วคุณมาทำร้ายฉันทำไม" คงเป็นประโยคชวนคิดทางโฆษณาผ่านโทรทัศน์เมื่อหลายปีก่อน ที่ออกมาจุดประเด็นเตือนภัยเกี่ยวกับควันบุหรี่มือสอง จนสร้างความเปลี่ยนแปลงสังคมไปในทิศทางที่ดีขึ้น
ระยะเวลาผ่านสถานการณ์ภัยจากควันบุหรี่มือสองค่อยๆ เบาบางลง แต่กลับมีอันตรายเข้ามาแทนที่คือ "ภัยจากเหล้ามือสอง" ไม่เพียงแค่คุกคามสุขภาพนักดื่มเท่านั้น แต่ยังสร้างผลกระทบวงกว้างไปสู่สังคมไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุบนท้องถนน เหตุการณ์ทะเลาะวิวาท ปัญหาอาชญากรรม และครอบครัวโดยเฉพาะเด็กเยาวชนและสตรีถูกทำร้ายร่างกายและจิตใจ นำมาซึ่งความสูญเสียและเศร้าสลดเกือบทุกวัน จึงถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่ทุกคนในสังคมจะต้องลุกขึ้นปกป้องสิทธิ์ตัวเองอีกครั้งเพื่อความปลอดภัยจากสุรามือสอง ที่วนเวียนอยู่รอบๆ ตัว
ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงร่วมกับสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กระ ทรวงสาธารณสุข และศูนย์วิจัยปัญหาสุรา(ศวส.) จัดแถลงข่าว "เหล้ามือสอง ผล กระทบของการดื่มแอลกอฮอล์ในยุคโลกเสรีและสังคมไทย" ภายใต้ความร่วมมือระหว่างองค์การอนามัยโลก และ สสส.
ดร.บัณฑิต ศรไพศาล รองผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า ประเทศไทยยังขาดความรู้เรื่องผลกระทบของเหล้ามือสอง จึงต้องกระตุ้นทุกภาคส่วนและสังคมไทยให้เห็นความสำคัญของความรุนแรงของเหล้ามือสอง เรื่องผลกระทบต่างๆ รัฐจะต้องให้การสนับสนุนการศึกษาวิจัยและนำมาบอกให้ประชาชนได้รู้ และให้สังคมตระหนักถึงพิษภัยจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะที่ผ่านมาได้สร้างปัญหามากมาย ทั้งการดื่มแล้วขับรถ ทะเลาะวิวาท รวมทั้งก่อความรุนแรงในครอบครัว
"ต้องการให้สังคมเปลี่ยนแนวคิดที่บอกว่า ดื่มเหล้าแล้วสร้างมิตรภาพ ซึ่งเชื่อว่าไม่ใช่ความจริงเพราะเราก็ได้เห็นกันแล้วว่า ที่ผ่านมามีงานเลี้ยงฉลองหรือสังสรรค์ที่ใด มีหลายเหตุการณ์จบด้วยความเศร้าสลด โดยมีเหล้าและเบียร์เป็นองค์ประกอบทั้งสิ้น" รองผู้จัดการ สสส. กล่าวเรียกร้อง
ด้าน ภญ.อรทัย วลีวงศ์ นักวิจัยสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ สะท้อนปัญหาผ่านผลสำรวจสถานการณ์ภัยเหล้ามือสองต่อสังคมไทยโดยเก็บข้อมูลจากประชาชนไทยอายุ 18 ปีขึ้นไป 1,695 คน ในจังหวัดเชียงใหม่ ขอนแก่น สุราษฎร์ธานี ชลบุรี และกรุงเทพฯ พบว่า คนไทยร้อยละ 79 เคยได้รับผลกระทบจากการดื่มของคนอื่น หรือภัยเหล้ามือสอง
โดยร้อยละ 76.8 ได้รับผลกระทบทางด้านจิตใจและความรู้สึกไม่ปลอดภัย เช่น รู้สึกไม่ปลอดภัยเมื่ออยู่ในสถานที่สาธารณะ เพราะการดื่มของคนแปลกหน้า รู้สึกหวาดกลัวเมื่อต้องเผชิญกับคนแปลกหน้าที่ดื่มตามถนน หรือสถานที่สาธารณะต่างๆ ถูกรบกวนหรือคุกคามโดยคนที่ดื่มหรือเมา เป็นต้น ร้อยละ42 ได้รับผลกระทบทางสังคมและการดำเนินชีวิต เช่นคนในครอบครัวหรือเพื่อนไม่ทำงานตามที่ได้รับมอบหมายเพราะการเมา มีปัญหากับเพื่อนหรือเพื่อนบ้านจากการดื่มของเขา มีปัญหาครอบครัว ชีวิตสมรส จากการดื่มของคนอื่น เป็นต้น
ร้อยละ 22.6 ได้รับผลกระทบทางการเงินและการสูญเสียทางเศรษฐกิจ เช่นบ้าน รถ ได้รับความเสียหายจากการดื่มของคนอื่น ถูกคนดื่มทำลายข้าวของในบ้าน หรือถูกขโมย เป็นต้น และร้อยละ 6.2 ได้รับผลกระทบทางร่างกายหรือเพศ แม้จะมีสัดส่วนที่น้อย แต่ผลกระทบรุนแรงมากที่สุด เช่นถูกคนดื่มผลัก ทำร้ายร่างกาย หรือถูกข่มขืน กดขี่ทางเพศจากคนในครอบครัวหรือเพื่อน
นอกจากนี้ยังพบว่า เด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี ยังได้รับผลกระทบจากเหล้ามือสองถึงร้อยละ 24.6 เช่น ถูกดุด่าอย่างรุนแรง ถูกทอดทิ้งในสถานการณ์ที่ไม่ปลอดภัย ถูกตีทำร้ายร่างกาย เคยอยู่ในเหตุการณ์ความรุนแรงของครอบครัว เป็นต้น ซึ่งความรุนแรงเหล่านี้ส่งผลเสียต่อทั้งสุขภาพกายและใจ คุณภาพชีวิตและพัฒนาการของเด็ก ตลอดจนผลต่อการมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมต่างๆ เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ด้วย โดยการมีคนดื่มหนักในครอบครัวเพิ่มโอกาสที่เด็กจะได้รับผลกระทบจากแอลกอฮอล์ 3.3 เท่า ซึ่งมักจะได้รับผลกระทบจากการดื่มของพ่อแม่มากที่สุด 5.7% คนแปลกหน้า หรือคนในชุมชน 5.7% ญาติพี่น้อง 3.5% และเพื่อน 1.4% จะเห็นได้ว่าผล กระทบจากการดื่มเกิดขึ้นได้หลากหลายเป็นวงกว้างและรอบด้าน 360 องศา สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่อยู่ซ่อนอยู่ในรั้วบ้าน กลุ่มเพื่อน ที่ทำงาน หรือในชุมชน จนถึงความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยในสังคม
ภญ.อรทัย กล่าวต่อว่า จากการศึกษาในภาพรวมพบว่า การดื่มแอลกอฮอล์เพียง 1 คน ส่งผลกระทบต่อคนรอบข้างเฉลี่ย 2.4 คน ซึ่งประเทศ ไทยมีนักดื่ม 33% ของประชากร ดังนั้นจะส่งผลกระทบต่อผู้คนรอบข้างมากถึงเกือบ 56 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 80 ของคนไทย และผู้ได้รับผลกระทบจะมีการจ่ายค่าเสียหายที่เกิดขึ้นเฉลี่ยคนละ 8,500 บาทต่อปี
ทั้งนี้ เรื่องควันบุหรี่มือสองยังมีการออกกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ เรื่องภัยเหล้ามือสองก็ควรมีมาตรการ โดยจำเป็นต้องสร้างความตระหนักในเรื่องนี้แก่สังคมมากขึ้น และมีมาตรการป้องกัน ลดจำนวนและความรุนแรงของปัญหาที่เกิดต่อทั้งตัวผู้ดื่มและผู้อื่น ไม่ใช่แค่การจัดการรายเหตุการณ์ปัญหา เช่นการกำหนดบทลงโทษต่อผู้ดื่มที่กระทำผิด
นายแด็ก เรคเว นักวิชาการอาวุโส ฝ่ายการจัดการปัญหายาเสพติด องค์การอนามัยโลก กล่าวว่า จากการศึกษางานวิจัยการขับเคลื่อนการควบคุมแอลกอฮอล์ โดยขณะนี้ทั่วโลกมีนักดื่มประมาณ 38% คนที่ไม่ดื่ม 62% ซึ่งเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ในโลก เพราะองค์การอนามัยโลกมียุทธศาสตร์ว่าด้วยการลดปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเน้นการปกป้องสิทธิและสุขภาพของผู้บริสุทธิ์ที่ได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งปัญหาสุขภาพ การบาดเจ็บ หรือถูกละเมิดสิทธิ์ต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชน ซึ่งผลกระทบของแอลกอฮอล์ต่อผู้อื่นเป็น 1 ใน 4 หัวข้อสำคัญที่องค์การอนามัยโลกเร่งให้ทำการศึกษาเพื่อนำไปพัฒนาการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้มีประสิทธิภาพ
ศ.โรบิน รูม ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยนโยบายแอลกอฮอล์ มหาวิทยาลัยลาโทรบ ประเทศออสเตรเลีย นักวิจัยอาวุโสระดับโลกในด้านปัญหาและนโยบายแอลกอฮอล์ กล่าวว่า การวิจัยเกี่ยวกับแอลกอฮอล์ที่ผ่านมาจะเน้นผลกระทบโดยตรงที่เกิดกับตัวผู้ดื่ม แต่ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากในทุกประเทศมีผู้ที่ไม่ดื่มได้รับผลกระทบ จึงมีกลุ่มนักวิจัยกว่า 30 ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ให้ความสำคัญกับการศึกษาผลกระทบของผู้ดื่มต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของคนในสังคมด้วย
อีกด้านหนึ่ง นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้แถลงข่าวเรื่อง "การจัดทำชุดข้อแนะนำสำหรับผู้ไม่สมควรดื่มสุรา" ว่าเป็นเอกสารที่จะอ้างอิงจากหลักวิชาการเพื่อเป็นแนวทางให้สังคมใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติตามเพื่อไม่ให้เกิดความสับสนเกี่ยวกับโทษพิษภัยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และยึดถือเป็นแนวทางในการปฏิบัติหรือกติกาในสังคม ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุข จะประกาศเป็นข้อแนะนำต่อไป โดยจะเน้นไปที่กลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เด็กและเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 20 ปี หญิงตั้งครรภ์ทุกระยะ หญิงที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ผู้ขับขี่ยานพาหนะทุกประเภท ผู้ที่ทำงานเสี่ยง ผู้ที่มีปัญหาโรคจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว
ถึงเวลาแล้วที่สังคมจะต้องทวงสิทธิ์จากภัยเหล้ามือสองอย่างจริงจัง รวมทั้งหามาตรการป้องกันลดจำนวนและความรุนแรงของปัญหาที่เกิดต่อทั้งตัวผู้ดื่มและผู้อื่นที่ได้รับผลกระทบ ไม่เพียงแค่บทลงโทษแก่ผู้ดื่มที่กระทำความผิดเท่านั้น