ปลุกพลัง 5A 5R ขับเคลื่อน สังคมไทยปลอดบุหรี่
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
บุหรี่เป็นพิษภัยอันตรายที่ทำลายสุขภาพ และยังเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร
ในงานประชุมวิชาการบุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15 เรื่อง "นโยบายควบคุมยาสูบ กับ เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs)" จัดโดยศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบ ทำให้สังคมได้รับรู้ถึงพิษภัยของยาสูบที่น่าวิตกว่า "ยาสูบ" เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เพราะการบริโภคยาสูบ เป็นสาเหตุของปัญหาความยากจน และเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร
ดร.นิมา แอสการี่ รักษาการผู้แทนองค์การอนามัยโลก ประจำประเทศไทย ได้กล่าวไว้ในงานประชุมวิชาการครั้งนี้ว่า การลดการบริโภคยาสูบ คือ หนทางในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนา ที่ยั่งยืนที่สำคัญที่สุดของสังคม
เช่นเดียวกับ นพ.สุเทพ เพชรมาก รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวเปิดการประชุมวิชาการบุหรี่ กับสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15 ได้ย้ำเรื่องของอัตราการสูบบุหรี่ และการควบคุมยาสูบของไทย จากภาพรวม 20 ปีที่ผ่านมา ว่า ปริมาณการสูบในปี 2558 ปริมาณลดลงเหลือ 10.9 ล้านคน เมื่อเทียบกับปี 2534 ที่มีประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป สูบบุหรี่ถึง 12.26 ล้านคน โดยที่ผ่านมาเน้นมาตรา 3 ลด 3 เพิ่ม ทั้งลด ผู้เสพรายใหม่ ลดผู้เสพรายเก่า ลดควันบุหรี่มือสอง เพิ่มการป้องกันกลไกแทรกแซงธุรกิจบุหรี่ เพิ่มผู้ขับเคลื่อนนโยบายระดับจังหวัด และนวัตกรรมควบคุมยาสูบ
สำหรับนโยบายในการควบคุมยาสูบ ปี 2558-2561 จะเน้นการขับเคลื่อนจังหวัดปลอดบุหรี่ โดยนำมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติมากำหนดเป็นนโยบาย การปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตยาสูบ จำกัดการเข้าถึงเยาวชน ขยายบริการการเลิกสูบบุหรี่ ลดควันบุหรี่มือสองและสาม ด้วยการปฏิรูปกฎหมาย ให้ทันสถานการณ์ โดยจะต้องเร่งผลักดัน ร่างพ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ให้ออกมาโดยเร็วที่สุด
ดร.นพ.บัณฑิต ศรไพศาล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. กล่าวย้ำว่า การทำเรื่องลดการบริโภคยาสูบเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง เพราะหากทำเรื่องบุหรี่ ไม่สำเร็จการพัฒนาที่ยั่งยืนก็จะไม่เกิด
ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ที่ สสส. ได้กำหนดไว้ใน "เรื่องยุทธศาสตร์ เหล้า-บุหรี่ เดินหน้าป้องกันนักดื่ม-นักสูบหน้าใหม่" โดยได้กำหนดทิศทางเป้าหมายการดำเนินงานช่วง ปี 2558-2560 ให้มีการลดปริมาณผู้สูบเดิมและป้องกันนักสูบหน้าใหม่ โดยใช้โครงการนำร่องการลดผู้สูบหน้าใหม่ที่ทดลองได้ผลดีมาขยายผล และสร้างแรงจูงใจในการเลิกบุหรี่ของ นักสูบเดิม ด้วยการเพิ่มการเข้าถึงบริการการเลิกบุหรี่
มีบทพิสูจน์ที่ปรากฏออกมาเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า ปัญหาการสูบบุหรี่ และติดสิ่งเสพติดของเยาวชนไทยเป็นเรื่องที่ต้องได้รับการดูแลและแก้ไขอย่างเร่งด่วน ซึ่งต้องทำอย่างต่อเนื่อง เพราะเด็กและเยาวชนจะเริ่มต้นจากการลองสูบบุหรี่เป็นด่านแรก จากนั้น จะลองใช้สิ่งเสพติดและอบายมุขชนิดอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ยาเสพติด การดื่มสุรา การเล่นพนัน ภาวะท้องไม่พร้อม ซึ่งในปัจจุบันมีเด็กและเยาวชนไทย ติดบุหรี่มากถึงเกือบสองล้านคน และในเด็กไทย 10 คน ที่ติดบุหรี่ 7 คน จะเป็นทาสของการเสพติดบุหรี่ไป ตลอดชีวิต
ภายในงานนายทักษิณ ถิ่นเมือง นักวิชาการสาธารณสุข อ.แม่สรวย จ.เชียงราย ได้เล่าถึงการถอดบทเรียนประสบการณ์การ ช่วยเลิกบุหรี่ ของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ต.ศรีถ้อย อ.แม่สรวย จ.เชียงราย จากการสนับสนุนของ สสส. ว่า การจัดบริการคลินิกช่วยเลิกบุหรี่โดยอาศัยโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเป็นหลัก สามารถนำเอากระบวนการ 5A5R มาช่วยทำให้เลิกบุหรี่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายทักษิณ ขยายความของกระบวนการ การใช้หลัก 5A 5R ในการช่วยเลิกบุหรี่ของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เมื่อมีผู้เข้ามาใช้บริการคลินิกเลิกบุหรี่ ว่า กระบวนการ 5A มีดังนี้ Ask การสอบถามข้อมูลเบื้องต้น ถึงพฤติกรรมการสูบบุหรี่, Advise การให้คำแนะนำถึงอันตราย ความเสี่ยง วิธีลด เลิกบุหรี่, Assess การประเมิน ว่าบุคคลนั้นติดบุหรี่เพราะความเคยชิน หรือติดจริง ควรบำบัดรักษาด้วยวิธีใด, Assist การช่วยเหลือ สร้างแรงจูงใจ ในการบำบัดรักษา และ Arrange follow up การติดตามผล ทั้งระหว่างการรักษาและหลังการรักษา
“ส่วนกระบวณการ 5R ได้แก่ Relevance สร้างกิจกรรมจูงใจเลิกบุหรี่ ให้สอดคล้องกับสิ่งที่เป็นจุดสนใจของ ผู้สูบบุหรี่, Risks ให้ข้อมูลเสี่ยงกับผู้สูบบุหรี่และคนรอบตัว เพื่อให้ตระหนักถึงความเสี่ยงอันตรายจากบุหรี่, Rewards บอกข้อดีที่จะได้รับจากการหยุดสูบบุหรี่, Road blocks ค้นอุปสรรค ปัญหา และให้คำแนะนำวิธีการช่วยเหลือผู้สูบบุหรี่ที่ต้องการเลิกอย่างถาวร และ Repetition ปฏิบัติซ้ำๆ หรือนัดซ้ำ ให้มาบำบัดรักษา อย่างต่อเนื่อง จะสามารถให้ความรู้แก่ผู้สูบบุหรี่ และช่วยเลิกบุหรี่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยกระบวนการทั้ง 5 อย่างจะได้รับการติดตามกระตุ้นอย่างต่อเนื่องในระยะ 6 เดือน และ 1 ปี ซึ่งจะช่วยให้นักสูบสามารถเลิกสูบบุหรี่ได้อย่างถาวร อันจะส่งผลต่อสุขภาวะที่ดีของคนไทยอย่างยั่งยืนตลอดไป” นายทักษิณ เผย
จากงานประชุมในครั้งนี้ นับได้ว่าก่อให้เกิดความมุ่งมั่นและเอาจริงต่อการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตได้อย่างน่าประทับใจเป็นอย่างยิ่ง