ปลุกพลังวัยเก๋า เปลี่ยนภาระเป็นพลังสูงวัยอย่างสตรอง

ที่มา : เว็บไซต์เดลินิวส์

ภาพโดย สสส. และเว็บไซต์เดลินิวส์


ปลุกพลังวัยเก๋า เปลี่ยนภาระเป็นพลังสูงวัยอย่างสตรอง thaihealth


โครงสร้างประชากรไทยกำลังจะเปลี่ยนโฉมในระดับที่ประวัติศาสตร์ต้องจารึก! เพราะ ในปี 2564 ประเทศไทยจะเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์” นั่นหมายความว่า คนสูงวัยจะครองสัดส่วนเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ ขณะที่กลุ่มเจนวายเป็นต้นไป เรื่อยมาถึงเจนแซด และเจนอัลฟ่าจะต้องกลายเป็นพลเมืองกลุ่มน้อยในสังคมไทย


การเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญที่กำลังจะมาถึงอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงนี้ ส่งผลให้ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชนต้องเร่งหาทางรับมือกับโครงสร้างทางสังคม ผลักดันสังคมไทยก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน หนึ่งในหน่วยงานผู้ขับเคลื่อนกระตุ้นเตือนสังคมคือ สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่มุ่งทำงานเชิงรุก เพื่อจุดประกาย กระตุ้น สานและเสริมพลังบุคคลและองค์กรทุกภาคส่วนให้มีขีดความสามารถและสร้างสรรค์ระบบสังคมที่เอื้อต่อการมีสุขภาวะอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี


ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สะท้อนถึงสถานการณ์ผู้สูงอายุว่า จากสถิติพบว่า 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุไทยมีความเปราะบางทางจิตใจ เนื่องมาจากหลายปัจจัย ทั้งความเสื่อมถอยของร่างกายจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ภาวะการพึ่งพาตัวเองลดลง จากเคยเป็นผู้นำครอบครัวกลับกลายเป็นต้องพึ่งลูกหลาน รู้สึกว่าตัวเองเป็นภาระจนนำมาซึ่งความวิตกกังวล และอาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า และการฆ่าตัวตายได้ในที่สุด


ปลุกพลังวัยเก๋า เปลี่ยนภาระเป็นพลังสูงวัยอย่างสตรอง thaihealth


เพื่อเปลี่ยนความรู้สึกเป็น “ภาระ” ของกลุ่มผู้สูงอายุให้เป็น “พลัง” จึงกลายเป็นที่มาแห่งภารกิจของสสส.ในปีนี้ที่เน้นส่งเสริมคุณภาพชีวิตกลุ่มผู้สูงอายุวัย 60-72 ปีที่ยังแอคทีฟห่างไกลจากภาวะซึมเศร้าและติดบ้าน ด้วยการสนับสนุนกลุ่ม Young Happy ธุรกิจเพื่อสังคมที่มุ่งส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้ผู้สูงวัย ก่อตั้งโดยสตาร์ทอัพรุ่นใหม่แต่เข้าใจหัวอกของผู้สูงอายุอย่างถึงแก่น ภายใต้กิจกรรมที่ชื่อ แอคทีฟ ซิกตี้ (Active 60)     


“จุดเด่นของ Young Happy คือ การออกแบบแพลตฟอร์มและกิจกรรมที่เข้าใจผู้สูงอายุอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมให้ความรู้ เวิร์กช็อปเก๋ๆที่เป็นสะพานลดช่องว่างแห่งวัยในสังคมยุคดิจิทัล ตลอดจนพัฒนาแอพพลิเคชั่น ใช้ช่องทางออนไลน์เผยแพร่ข่าวสาร ช่วยสร้างคอมมูนิตี้ให้ผู้สูงอายุรู้สึกว่าตัวเองยังมีคุณค่า ไม่ใช่ภาระของลูกหลาน สามารถออกมาใช้ชีวิต มีสังคม และ มีไฟที่จะทำประโยชน์ให้กับสังคม”


ทั้งนี้ เพื่อให้เห็นภาพของผู้สูงวัยที่ยังมีไฟ และเห็นคุณค่าของตัวเองโดยไม่ปล่อยให้ร่างกายที่ร่วงโรยมาบั่นทอนจิตใจ จากนี้คือ 2 ตัวแทนวัยเกษียณที่จะมาปลดล็อกความรู้สึกเปลี่ยน ภาระ ให้เป็น พลัง


ปลุกพลังวัยเก๋า เปลี่ยนภาระเป็นพลังสูงวัยอย่างสตรอง thaihealth


ภาพประกอบจากเว็บไซต์เดลินิวส์


อุษาวดี สินธุเสน อดีตบรรณาธิการบริหารคนแรกของ Secret วัย 60 ปี และ ยังเป็นคุณแม่ของขุนเขา สินธุเสน เขจรบุตร นักจิตวิทยาพัฒนาสมองและนักเขียนชื่อดัง ได้มาร่วมสะท้อนมุมมองแห่งวัยว่า ไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองแก่ หรือ ไม่มีคุณค่าจนทำอะไรไม่ได้ เพียงแต่เราอาจไม่มีเวทีให้ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเหมือนสมัยก่อน


“ประทับใจกลุ่ม Young Happy เพราะนอกจากนำเสนอคอนเทนต์ที่ตรงกับวัย มีกิจกรรมที่ออกแบบมาอย่างเข้าใจผู้สูงอายุ พอได้มีโอกาสมาช่วยทำคอนเทนต์ให้ ยิ่งดีใจที่ได้กลับมาทำสิ่งที่รัก ใช้ความสามารถที่มีสร้างประโยชน์ให้กับคนวัยเดียวกันและขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อสังคมของกลุ่มคนรุ่นใหม่”


ทั้งนี้ อุษาวดี ยังฝากถึงมนุษย์ลูกทั้งหลายที่มักหัวเสียเวลาเห็นผู้สูงวัยในบ้านก้าวไม่ทันโลกว่า “คนแก่ทุกคนเคยผ่านช่วงเวลาเป็นเด็ก จึงพอจะเข้าใจความเป็นเด็กได้เป็นอย่างดี แต่เด็กทุกคนไม่เคยแก่ เพราะฉะนั้น อย่ารอให้ถึงวันที่แก่จริงๆจึงเข้าใจหัวอกพ่อแม่ในวันที่เขาไม่อยู่แล้ว เช่นเดียวกับผู้สูงวัย อย่าท้อแท้มองว่าตัวเองไร้ค่า เพราะคุณค่าในตัวเองไม่ได้ต้องรอให้ใครมาชื่นชม แต่สามารถค้นหาหรือสร้างได้ด้วยตัวเอง”


ปลุกพลังวัยเก๋า เปลี่ยนภาระเป็นพลังสูงวัยอย่างสตรอง thaihealth


ภาพประกอบจากเว็บไซต์เดลินิวส์


ปิดท้ายด้วย คเณศร์ เจริญจิตต์ อดีตพนักงานไทยออยล์ กรุ๊ป ปัจจุบันเป็นอาสาสมัคร “ตากล้องวิดีโอ” ของกลุ่ม Young Happy บอกว่า เริ่มวางแผนชีวิตเกษียณเมื่อมีลูกคนแรกตอนอายุ 34 ปี ด้วยการดูแลสุขภาพ วางแผนการเงิน จนถึงวันนี้ แม้ร่างกายจะร่วงโรย แต่สิ่งที่ไม่เคยลดลง คือ คุณค่าในตัวเอง


“ผมวาดภาพชีวิตเกษียณไว้แล้วว่า คงไม่อยู่เฉยๆ ทำให้ตัวเองไร้ค่า ผมเลือกทำในสิ่งที่ยังทำได้ ด้วยการเป็นจิตอาสา เทกคอร์สเสริมความรู้ให้ไม่ตกยุค จนเมื่อ 2 ปีที่แล้วได้พบกับกลุ่ม Young Happy ผมชอบกระบวนการออกแบบเวิร์กช็อปของเขาที่ไม่ได้แค่สอนให้ผู้สูงอายุมีความรู้ แต่ออกแบบเครื่องมือ และกระบวนการสอนที่เข้าใจผู้สูงอายุอย่างแท้จริง ซึ่งผมเองได้เข้ามาเรียนและมาช่วยสอนเพื่อนร่วมชั้นตามกำลังที่ทำได้” คเณศร์ เล่าอย่างมีความสุข ก่อนใช้พื้นที่ตรงนี้จูนความคิดของเด็กรุ่นใหม่ที่มองว่าผู้สูงอายุเป็นภาระ


“ผมอยากบอกกับเพื่อนวัยเดียวกัน รวมถึงเจนวาย คือ คนแก่ก็เหมือนซีพียูที่ไม่ได้ผ่านการอัพเกรด ถึงจะยังใช้งานได้ แต่พอมาเจอกับระบบปฏิบัติการใหม่ๆ ก็ช้าบ้าง เออเร่อบ้าง ทางเดียวที่จะอัพเกรดซีพียูนี้ คือ หาอินเตอร์เฟซที่เชื่อมระบบเก่าเข้ากับระบบใหม่ ซึ่งอินเตอร์เฟซระหว่างวัยรุ่นกับคนสูงวัย คือ ความเข้าใจในความแตกต่างของวัยนั่นเอง” คเณศร์ทิ้งท้ายอย่างอารมณ์ดี


ปลุกพลังวัยเก๋า เปลี่ยนภาระเป็นพลังสูงวัยอย่างสตรอง thaihealth

Shares:
QR Code :
QR Code