ปลุกพลังนักศึกษารั้วเอกชนร่วม “จิตอาสา” เปลี่ยนประเทศ

“จิตอาสา” ไม่ใช่แค่สิ่งที่ทำตามกระแสแต่ควรทำให้เป็นเรื่องพื้นฐานและต้องส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นใหม่ที่กำลังเป็นอนาคตของประเทศ


ปลุกพลังนักศึกษารั้วเอกชนร่วม


จึงเป็นที่มาของ โครงการ “พลังเครือข่ายนักศึกษาสถาบันอุดมศึกษาเอกชน เพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย” จัดโดย สมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย หรือ สสอท. และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. มีสถาบันอุดมศึกษาเอกชน จำนวน 16 สถาบันเข้าร่วม


งานนี้ สสอท.และ สสส. ปลุกพลังนักศึกษาในการทำกิจกรรมจิตอาสาด้านพัฒนาชุมชนและการดูแลสุขภาวะ ด้วยการส่งผู้นำนักศึกษากว่า 300 ชีวิต ลงพื้นที่ศึกษาดูงาน “เรียนรู้วิถีชีวิตชุมชน” เพื่อให้นักศึกษาได้เห็นสภาพความเป็นจริง และเกิดแรงบันดาลใจในการสร้างพื้นที่สุขภาวะที่เหมาะสมกับชุมชนในพื้นที่บริเวณชุมชนริมคลองบางซื่อรัชดาภิเษก แขวงสามเสนนอก กทม.


เริ่มจาก ไห่เหวิน …จารุเกียรติ ศรีสุวรรณ นักศึกษาชั้นปี 4 คณะเศรษฐศาสตร์ นายกสโมสรนักศึกษามหา-วิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ อาสาเปิดประเด็นว่า “ต้องยอมรับว่าวัยรุ่นสมัยนี้รักสบาย หลายคนติดโซเชียลมีเดียจนเกินพอดี และขาดการปลูกฝังอุดมการณ์ความเสียสละเพื่อส่วนรวม ซึ่งจุดนี้เป็นหน้าที่ของสถาบันการศึกษาและครอบครัวที่ต้องช่วยกันอบรม การลงพื้นที่ เรียนรู้วิถีชีวิตชุมชนได้เห็นการนำแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงมาประยุกต์ใช้ในชุมชน เช่น เรื่องการจัดการขยะในรูปแบบสหกรณ์ชุมชน


ได้เห็นการร่วมแรงร่วมใจที่ทำให้ชุมชนเข้มแข็ง ส่วนตัวเกิดแรงบันดาลใจที่จะนำไอเดียที่ได้เรียนรู้ เช่น การแยกขยะไปปรับใช้กับที่มหาวิทยาลัย อยากให้คนรุ่นใหม่ลองเปิดใจมาทำกิจกรรมจิตอาสากันเยอะๆ เพราะทำให้เข้าใจผู้คนที่อยู่ร่วม กันในสังคมมากขึ้น”


ตามมาด้วย กอล์ฟ…พงษ์เทพ เลิศกิจมั่นคง นักศึกษาชั้นปี 3 คณะบริหารธุรกิจนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ รับช่วงสานต่อว่า “การเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ทำให้พวกเราได้เรียนรู้ถึงบทบาทหน้าที่ของเยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่สามารถมีส่วนช่วยในการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้ดีขึ้นได้ โดยทุกคนต้องรวมพลังทำงานจิตอาสาเพื่อประเทศชาติและส่วนรวมให้สำเร็จ ยอมรับว่าในปัจจุบันยังมีปัญหาว่าเยาวชนคนรุ่นใหม่ยังบกพร่องเรื่องจิตอาสา อาจเป็นทัศนคติและ ค่านิยมที่ยังไม่ค่อยเห็นความสำคัญของการเสียสละแก่ส่วน รวมเท่าที่ควร จึงอยากให้เยาวชนไทยนึกถึงประ-โยชน์ของส่วน รวมกันมากๆ หลัง จบโครงการนี้ผมตั้งใจว่าจะกลับไปบอกต่อเพื่อนที่มหาวิทยาลัยให้ลองมาทำกิจกรรมอาสาดูบ้าง”


หมิง…ธนัตถ์ วิภารักษ์ นักศึกษาชั้นปี 3 คณะมนุษยศาสตร์และประยุกต์ศิลป์ นายกสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยหอการค้าไทย บอกว่า “ส่วนตัวเห็นว่าเยาวชนรุ่นใหม่ยังไม่ค่อยสนใจทำกิจกรรมเพื่อสังคมเท่าที่ควร จึงอยากให้ลองหาโอกาสเข้าร่วม เพราะสิ่งที่จะได้คือมิตรภาพ ขณะเดียวกันยังได้เรียนรู้เรื่องการเสียสละต่อส่วนรวม คนรุ่นใหม่ เป็นวัยที่มีพลัง มีความคิดสร้างสรรค์ มีศักยภาพ หากเห็นความสำคัญของส่วนรวมมากขึ้น ในอนาคตก็อาจจะต่อยอดพัฒนาเป็นผู้นำที่มีจิตอาสาได้ และจะเป็นกำลังสำคัญในการริเริ่มโครงการจิตอาสาเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น โดยเริ่มจากพื้นที่ใกล้ตัวในชุมชนเราจะได้เห็นถึงปัญหาต่างๆ ที่อยู่ใกล้ตัว แต่ถูกมองข้ามมาตลอด”


ขณะที่ อ๊อด…วุฒินันท์ ษรีหานนท์ นักศึกษาชั้นปี 4 คณะนิติศาสตร์ นายกสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยศรีปทุม เล่าว่า “วัยรุ่นสมัยนี้หลายคนติดหรูอยู่สบาย สนใจแต่ตัวเองไม่ค่อยคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม จึงอยากจะเชิญชวนให้ลองมาทำกิจกรรมที่เป็นจิตอาสา เพราะจะได้เรียนรู้ชีวิตจริง การลงพื้นที่ในชุมชนรู้สึกประทับใจวิถีบริหารจัดการ เพราะไม่คิดว่าชุมชนทหารที่มีภารกิจหลักในการปกป้องประเทศ จะสามารถทำเรื่องละเอียดอ่อนแบบนี้ได้ ทำให้ได้แรงบันดาลใจในการนำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงไปปรับใช้กับชุมชนที่ผมอาศัยอยู่ด้วย”


ปิดท้ายด้วย ตู๋…ศศิธร ใหม่น้อย นักศึกษาชั้นปี 2 คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ บอกว่า “รู้สึกประทับใจกับกิจกรรมที่โครงการจัดขึ้น และรู้สึกว่าเด็กวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้า ดังนั้นต้องเริ่มปลูกฝังจิตอาสากันตั้งแต่เด็กก่อนจะเติบโตเป็นเยาวชน เพราะเมื่อโตขึ้นก็จะรู้โดยอัตโนมัติว่า ควรทำอะไรให้ส่วนรวมและประเทศชาติบ้าง และเห็นว่าเป็นเรื่องที่เร่งด่วน เพราะสังคมไทยยังขาดแคลนเยาวชนที่มีจิตอาสาอย่างแท้จริง ซึ่งการสร้างเด็กรุ่นใหม่ที่มีจิตอาสาขึ้นมา ก็เปรียบเสมือนการปลูกเมล็ดพันธุ์ใหม่ๆที่ดีให้กับสังคมไทยนั่นเอง”


ฟังเสียงสะท้อนจากบรรดาตัวแทนผู้นำนักศึกษาที่เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้แล้ว พลังแห่งจิตอาสาในตัวของน้องๆได้ถูกปลุกให้ตื่นขึ้นแล้ว ยิ่งได้รับการกระตุ้นอย่างต่อเนื่องจะยิ่งเกิดแรงขับให้คิดทำอะไรเพื่อส่วนรวมมากกว่าส่วนตนอย่างแน่นอน


      


 


ที่มา: เว็บไซต์ไทยรัฐ


ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code