ปลุกความคิด รู้การกิน ผ่านนวัตกรรม “พลังระบบอาหารสู้วิกฤต”
เรื่องโดย ณัฏฐา สงวนวงศ์ Team Content www.thaihealth.or.th
ข้อมูลจาก เวทีบูรณาการและนวัตกรรมสังคม “พลังระบบอาหารสู้วิกฤต”
ภาพโดย ฐิติชญา สัมปุรณะพันธุ์ Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ
แม้หลายคนรู้ว่าอาหารเป็นต้นน้ำสำคัญของสุขภาพ แต่ในทางกลับกันสถานการณ์อาหารของคนไทยกลับกำลังเผชิญภาวะจากหลายมิติ ตั้งแต่รูปแบบการใช้ชีวิตที่บริโภคอาหารรสจัดทั้งหวาน เค็ม ในปริมาณมาก ขาดการบริโภคผักผลไม้ ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อ (NCDs) ที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปี
นอกจากนี้ด้านการผลิตอาหารยังได้รับผลกระทบจากสภาวะอากาศแปรปวน รวมถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำทั้งเศรษฐกิจและสังคม ส่งผลต่อการเข้าถึงอาหารคุณภาพได้ลำบาก มีแนวโน้มเกิดผลกระทบต่อสุขภาพ
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในพิธีเปิดเวทีบูรณาการและนวัตกรรมสังคม “พลังระบบอาหารสู้วิกฤต” ที่มีภาคีเครือข่ายฯร่วมแสดงความคิดเห็นและนำสินค้าตัวอย่างทางเกษตรในชุมชนที่ไร้สารเคมี จัดจำหน่าย ณ โรงแรมแกรนด์ ริช มอนด์ กรุงเทพมหานคร ว่า
“การขับเคลื่อนงานด้านอาหาร เป็น 1 ใน 7 ประเด็นของการทำงานตามทิศทางและเป้าหมายของแผนระยะ 10 ปี ซึ่งในปี 2567 สสส. มุ่งให้ความสำคัญกับการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพอย่างสมดุล เน้นขับเคลื่อนตามเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ 4 ประเด็นสำคัญ ได้แก่
1.ส่งเสริมความรอบรู้ด้านอาหารให้เกิดความเข้าใจและตระหนัก เพื่อปรับพฤติกรรมการบริโภคอาหาร 2.ผลักดันนโยบายสาธารณะส่งเสริมการบริโภคอาหาร เพื่อสุขภาวะและปกป้องระบบอาหาร 3.สร้างสภาพแวดล้อมด้านอาหารที่เอื้อต่อการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาวะ และ 4.ขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจอาหารชุมชน สร้างความเข้มแข็งต่อกระบวนการผลิตอาหารในระดับครัวเรือน ชุมชน และอุตสาหกรรมอาหาร โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มเปราะบาง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สอดรับเป้าหมายระดับโลกที่ครอบคลุมและเชื่อมโยงทั้งระบบห่วงโซ่อาหาร”
ด้านนางอิรีน่า กอร์ยูโนว่า รักษาการผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme : UNDP) ประจำประเทศไทย หน่วยงานการพัฒนาขององค์การสหประชาชาติ เพื่อสนับสนุนงานของประเทศต่าง ๆในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน กล่าวบนเวทีเสวนาฯถึงเป้าหมายการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนในประเทศไทยที่ยั่งยืน (SDGs) ปี 2566 ที่น่าสนใจว่า
ไทยมีความก้าวหน้าในการบรรลุเป้าหมายที่ดี หากแต่ยังต้องเผชิญความท้าทายในการเร่งการพัฒนาในหลาย ๆ ด้าน ท่ามกลางภาวะวิกฤตและการเปลี่ยนแปลง สถานการณ์ห่วงโซ่อาหารของโลกทำให้ต้องทบทวนนโยบายสาธารณะ ที่เชื่อมโยงกันระหว่างสิ่งแวดล้อมเป็นฐานของการผลิตและการกระจายอาหารสู่ผู้คนและกลุ่มที่เปราะบาง องค์กรและหน่วยงานที่มีพันธกิจจึงไม่จำกัดกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง จำเป็นต้องมองหาโอกาสในการทำงานร่วมกัน
“ดังนั้น UNDP จึงขอเป็นส่วนหนึ่งในการสานพลังทุกภาคส่วนในไทย ด้วยการนำนวัตกรรม เอาความรู้ ประสบการณ์และทรัพยากรต่างๆ จากมุมมองการพัฒนาระดับสากล ผสมผสานเข้ากับภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่มุ่งเน้นการเสริมสร้างศักยภาพและสร้างความตระหนักรู้ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนา ลดความเหลื่อมล้ำ และสมดุลในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพประเทศให้เข้มแข็งและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนในประเทศให้ดียิ่งขึ้น” นางอิรีน่า กอร์ยูโนว่า กล่าว
ขณะเดียวกันมีเวทีบูรณาการฯ เสมือนพื้นที่แลกเปลี่ยนผลงานความรู้ ความเข้าใจ พัฒนาความร่วมมือระหว่างภาคีเครือข่ายต่าง ๆ อาทิ เรื่องการจัดการระบบนิเวศอาหารเพื่อสุขภาวะที่ดีของโรงเรียนที่เมืองน่าน, เรื่องการขับเคลื่อนสถาบันอุดมศึกษา เพื่อสร้างพลเมืองอาหารของมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ และเรื่องการสร้างกระบวนการสภาอาหารและโภชนาการเพื่อการจัดการระบบอาหารโรงเรียนและชุมชนของจ.บุรีรัมย์ เป็นต้น
นอกจากนั้นไฮไลท์งานยังพูดถึง เรื่องตลาดเขียว ที่เป็นพื้นที่จัดจำหน่ายสินค้าทางเกษตรในชุมชนที่ปราศจากสารเคมี โดยผ่านการร่วมดูแลคุณภาพ มาตรฐานรวมถึงอาหารและผลิตภัณฑ์ที่เป็นอัตลักษณ์ท้องถิ่น มีการผลิตจนถึงการจัดจำหน่ายที่คำนึงถึงสุขภาพและสิ่งแวดล้อมในราคาที่เป็นธรรมทั้งต่อผู้ผลิตและผู้บริโภค ตลาดเขียวยังมีจุดเด่นในการเป็นพื้นที่ให้พบปะแลกเปลี่ยนพูดคุย ทำให้ผู้บริโภครู้แหล่งที่มาของอาหาร และความเอาใจใส่ของผู้ผลิต นำไปสู่การสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน
ทั้งนี้สรุปด้วยแพลตฟอร์มวงสนทนานโยบายอาหาร (Food Policy Dialogue Platform) ซึ่งเป็นกระบวนการทำแผนผังทบทวนโจทย์ปัญหาในระบบอาหาร เพื่อค้นหาโอกาสแนวทางพัฒนา ต่อยอด เชื่อมโยง ทลายกำแพงความรู้และศักยภาพระหว่างองค์กรที่เข้าร่วม รวมถึงร่วมค้นหาความท้าทายในการขับเคลื่อนเชิงนโยบาย ที่มีผลต่อการขยายผลลัพธ์ เพื่อสุขภาวะอย่างมีประสิทธิภาพ มุ่งเป้าสร้างเสริมภาวะผู้นำที่เข้มแข็งให้มีส่วนร่วมพัฒนาระบบอาหารที่ยั่งยืน
เมื่อไม่เจอวิกฤตจะมองไม่เห็นโอกาส ฉะนั้นวิกฤตหรือปัญหาเป็นสิ่งที่ดี ทำให้เห็นทางออกใหม่ๆ เริ่มจากพยายามสร้างความตระหนักให้เห็นว่าอาหารส่งผลกระทบต่อสุขภาพก่อน แล้วความเปลี่ยนแปลงจะค่อยๆเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนงานของแผนอาหาร สสส. เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงแหล่งอาหารปลอดภัยได้มากที่สุด รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดความรู้ถึงเรื่องพลเมืองอาหาร เราพร้อมส่งเสริมและฝ่าวิกฤตไปด้วยกันต่อไป