ปลุกคนรุ่นใหม่จุดประกาย พลังสื่อพลเมือง
“พลเมืองตื่นรู้” หรือ คือการเป็นพลเมืองที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม มีความรู้ และแสดงออกถึงความเป็นพลเมืองที่มีความกระตือรือร้น โดยอาศัยคน “รุ่นใหม่” ที่มีจิตสำนึกสาธารณะ หรือ Change Agent เป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมในอนาคตให้ดีขึ้น
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงได้เปิดตัว “โครงการพลังสื่อพลเมืองเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง” (Active Citizen and Media for Change) เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชน คนรุ่นใหม่ ร่วมแสดงความรักความห่วงใยต่อสังคมไทยผ่านการสร้างสรรค์ “สื่อ” เพื่อกระตุ้นให้เกิดการปรับเปลี่ยนทัศนคติ พฤติกรรม อันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ‘ชุมชน’ และ ‘สังคม’ ในทิศทางสุขภาวะ พร้อมจุดประกายการเป็น ‘พลเมืองที่มีคุณภาพ’ (Active Citizen) ในหัวใจของคนไทย
นางเพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์ ผู้อำนวยการสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สสส. กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดโครงการว่า โครงการนี้ต้องการให้คนรุ่นใหม่ที่กำลังเรียนอยู่ในวิชาชีพของการสร้างสรรค์สื่อ ได้รวมตัวศึกษาและหาประเด็นนำเสนอที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคม โดยตั้งอยู่บนความเชื่อมั่นว่า “เราเชื่อว่าเด็กทุกคนมีพลังสร้างสรรค์อยู่ในตัวเอง”
ผอ.สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สสส. อธิบายถึงโครงการเพิ่มเติมว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่สำนักรณรงค์สื่อสารสังคม และสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรมของ สสส. ร่วมกันทำงานอย่างบูรณาการ โดยตั้งใจให้โครงการนี้เป็นพื้นที่กับเยาวชนรุ่นใหม่ที่กำลังเรียนในระดับมหาวิทยาลัย สาขาการสร้างสรรค์สื่อ อย่างนิเทศศาสตร์ หรือวารสารศาสตร์ ฯลฯ ร่วมศึกษาและลงพื้นที่ทำงานกับชุมชน สะท้อนประเด็นปัญหาเพื่อสร้างสรรค์การเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในสังคมไทย โดยนิสิตนักศึกษาสามารถเลือกผลิตและเผยแพร่สื่อได้ทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็น สปอตวิทยุ สปอตโฆษณา ภาพยนตร์ แอนิเมชั่น หนังสั้น ศิลปะ หรืองานเขียน ฯลฯ
“เรามองว่าการสร้างสรรค์ “สื่อ” เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง หรือจุดประกายพลังพลเมืองคุณภาพนี้ ไม่ควรจะถูกจำกัดแค่ในวงการของสื่อมืออาชีพที่ทำงานอยู่ในกระแสหลักเท่านั้น แต่เราอยากให้คนรุ่นใหม่เข้ามาสร้างสื่อเพื่อ “สื่อสาร” ในประเด็นของการสร้างสุขภาวะแก่สังคมบ้าง เพราะไม่เพียงแต่เขาจะได้สื่อสารกับสังคมเท่านั้น การทำงานตรงนี้จะทำให้พวกเขาเกิดกระบวนการเรียนรู้ในตัวเองด้วย”
ด้านตัวแทนเยาวชนมากความสามารถที่ผ่านเวทีสร้างสรรค์ผลงานทั้งหนังสั้นและหนังสั้นประเภทสารคดี “น้องไท” ไท ประ ดิษฐเกสร นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ วิชาเอกภาพยนตร์ ชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ให้ความเห็นเกี่ยวกับโครงการการสร้างสรรค์สื่อในครั้งนี้ว่า เป็นอีกหนึ่งโครงการที่น่าสนใจ เพราะประเด็นในการสะท้อนเรื่องราวของสุขภาพหรือสุขภาวะในชุมชน ปัจจุบันมี “มุม” ให้มองหามากขึ้น
“ถ้าพูดถึงเรื่องประโยชน์จากการเข้าร่วมโครงการประกวดสร้างสื่อใดๆ ก็ตาม อันดับแรกผมมองว่าได้กับตัวคนทำเอง เพราะการจะทำงานให้ออกมาได้ผลดีนั้น จะต้องมีการศึกษา เก็บข้อมูลจนเกิดเป็นความเข้าใจ ต่อทอดที่ 2 คือให้ประโยชน์แก่สังคมที่คนทำอยู่ อาจจะเป็นในมหาวิทยาลัยหรือเพื่อนที่ร่วมกันทำงาน แล้วจึงจะค่อยๆ กระจายออกไปสู่วงกว้าง ส่วนการทำแล้วคนดูจะเกิดการเปลี่ยนแปลงเลยหรือไม่ ก็คงจะไม่ใช่ในทันที แต่อย่างน้อยก็ทำให้พวกเขาเห็นประเด็นที่เราต้องการสื่อสาร”
สำหรับการหาข้อมูลในการทำงาน “ไม่ยากครับ ถ้าเราเริ่มต้นที่ความสนุกกับมันก่อน” ไทตอบสั้นๆ ดังนั้น หากคุณเป็นคนหนึ่งที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรี สาขานิเทศศาสตร์ ศิลปกรรมศาสตร์ นิเทศศิลป์ สถาปัตยกรรม มัณฑนศิลป์ จิตรกรรม วิจิตรศิลป์ หรือสาขาอื่นๆ ที่สนใจ ร่วมสร้าง “สื่อสุขภาวะ” ที่กระตุ้นให้เกิดการพัฒนา “ชุมชน” หรือ “สังคม” ให้น่าอยู่ “โครงการพลังสื่อพลเมืองเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง” เป็นอีกหนึ่งโอกาสให้คุณแล้ววันนี้
โดยสามารถรวมกลุ่มเพื่อน 3-5 คน แล้วส่งแนวความคิดในการนำเสนอโดยไม่จำกัดรูปแบบ เพื่อสะท้อนปัญหา การเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชุมชนหรือสังคม จากนั้นทีมเยาวชนที่ผ่านการคัดเลือกจะได้เข้าร่วมรับการอบรมเชิงปฏิบัติการ เพื่อเสริมความรู้และพัฒนาทักษะการผลิตสื่อร่วมกับนักผลิตสื่อมืออาชีพ
ผู้ที่สนใจติดต่อขอรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คุณฐิติพร/ คุณตรีทิพย์นิภา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โทร.0-2343-1500 ต่อ 1604-1605 มือถือ 08-1773-8336 หรือดูรายละเอียดและดาวน์โหลดข้อมูลได้ที่ www.thaihealth.or.th ภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ศกนี้
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์