ปลดล็อก…ความคิดต่างวัยสร้างความเข้าใจในครอบครัว

/data/content/24676/cms/e_cgjoprsvwx47.jpg


          ผลการศึกษาวิจัย เรื่อง "ตระหนักถึงคุณค่าและศักดิ์ศรีของผู้สูงอายุ" ของสถาบันประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี 2556 พบว่า คนไทยอายุ 18-59 ปี ราว 1 ใน 3 มีทัศนคติเชิงลบต่อผู้สูงอายุ เห็นว่า ผู้สูงอายุตามโลกไม่ทัน เป็นภาระบุตรหลาน น่าเบื่อ ขี้บ่นและมีประโยชน์น้อย แต่หากลองเปิดใจมองความเป็นจริงของชีวิตและทำความเข้าใจต่อ ผู้สูงอายุให้ลึกขึ้น จะทำให้รับรู้ความต่างของช่วงวัย และอยู่ร่วมกันด้วยความรักอย่างมีความสุข โดยเฉพาะครอบครัวที่มีคนหลากหลายวัยอยู่ในครอบครัวเดียวกัน


          ระหว่างการเสวนาส่งเสริมความเข้มแข็งของครอบครัว "กุญแจเปิดใจสู่ความสัมพันธ์หลากวัยในครอบครัว" จัดโดยสถาบันรักลูก กลุ่มบริษัทอาร์แอลจี พญ.ลัดดา ดำริการเลิศ รองเลขาธิการมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย(มส.ผส.) ฉายภาพสถานการณ์ผู้สูงอายุไทยว่า ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุราวปี 2548 คือมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปเกิน 10% และข้อมูลล่าสุดของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่าปี 2554 ผู้สูงอายุไทยมีมากถึง 16.9% หรือราว 8-9 ล้านคน


          แต่ละปีจะมีผู้เข้าสู่วัยสูงอายุราว 5 แสนคน และประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอด หมายถึง จำนวนผู้สูงอายุเป็น 25% ในปี 2573 ทั้งนี้ ผู้สูงอายุไทย แบ่งได้เป็น 3 กลุ่มหลัก 1.ดูแลตนเองได้มีราว 85.3% ของจำนวนผู้สูงอายุ ราว 6.8 ล้านคน 2.เริ่มมีภาวะพึ่งพา ต้องการคนดูแลบางอย่าง ราว 13.8% หรือ 1.1 ล้านคน และ 3.ราว 7 หมื่นคน คิดเป็น 0.9% ต้องพึ่งพาผู้ดูแล


          การจะเข้าใจผู้สูงอายุ ดร.อุทัย ดุลยเกษม อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร มองว่า ต้องเริ่มจากการเข้าใจว่าผู้สูงอายุหรือคนแก่ ไม่ใช่คนอีกประเภทหนึ่ง แต่เป็นมนุษย์เหมือนกับคนในวัยอื่นๆ เช่น มีความคิด ความรู้สึก ต้องการการยอมรับ ความอบอุ่นเช่นเดียวกัน เพียงมีอายุ 60 ปีเท่านั้น จึงควรเข้าใจว่าคนแก่เป็นพัฒนาการของมนุษย์ที่ไม่มีใครเลี่ยงได้ เว้นแต่จะเสียชีวิตไปก่อน ซึ่งคนแก่บางคนจะปรับตัวไม่ทัน ทำให้เกิดความรู้สึกว้าเหว่ และอ้างว้าง บางครั้งจึงบำบัดความว้าเหว่ด้วยการดื่มหรือการเข้าวัด เป็นต้น


          คนในครอบครัวหรือชุมชนต้องเข้าใจสิ่งเหล่านี้ว่า คนแก่คาดหวังการดูแลจากครอบครัว โดยส่วนใหญ่จะคาดหวังกับลูกสาวมากกว่าลูกชาย อย่างไรก็ตาม คนแก่บางคนถือตัวว่าพึ่งพาตัวเองได้ ไม่อยากพึ่งพาลูกหลาน เพราะฉะนั้น จังหวะการเข้าไปช่วยเหลือดูแลต้องทำอย่างระมัดระวัง อาทิ การไปจ่ายตลาดแทนที่ลูกหลานจะไปจ่ายตลาดก็อาสาพาคนแก่ไปจ่ายตลาดเอง เรียกว่า ต้องอ่านใจคนแก่ให้ทะลุ นอกจากนี้ ต้องทำให้ยอมรับว่าคนแก่เป็นแหล่งองค์ความรู้ที่มีอยู่ในตัวเอง ที่ล้วนเป็นความรู้ที่เกิดจากประสบการณ์ ผ่านการทดสอบ ทดลองใช้ได้ผลแล้ว เป็นคุณค่าต่อสังคม เหล่านี้จะช่วยให้คนแต่ละวัยเข้าใจผู้สูงอายุมากขึ้น


          สำหรับมิติของวัยเด็กและพ่อแม่ นพ. สุริยเดว ทรีปาตี  ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็ก/data/content/24676/cms/e_fghjlmowz159.jpgและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล บอกว่า จากการทำงาน เรื่อง "แม่สู้ชีวิต" ของ ม.มหิดลทำให้สรุปได้ 3 เรื่องเพื่อสังคมไทย ได้แก่ 1.แม่ทำดีให้ลูกดูต่อเนื่อง เป็นเบ้าหลอมที่ดี ผลลัพธ์ลูกจะมีจิตสำนึกที่ดี 2.ไม่มีใครไม่เจอความผิดหวัง โดยแม่นำลูกสู้ชีวิตไปด้วยกัน ผ่านความยากลำบากบนพื้นฐานตามวัยของเขา เผชิญปัญหาอุปสรรคและเอาชนะ ทำให้ลูกมีพลังอึด อดทน ฮึดสู้ และ 3.เมื่อผ่านวิกฤติ ชุมชน สังคมเอื้ออาทรกันและกัน ลูกจะกลายเป็นผู้ให้แก่สังคม


          ทักษะการเลี้ยงลูกมี 3 แบบ ประกอบด้วย สร้างการมีส่วนร่วม โดยดำเนินการได้ตั้งแต่เด็กเริ่มคิดเหตุผลและไต่ถามได้ ซึ่งก็คือวัยอนุบาล แต่หากเล็กกว่านี้อำนาจทั้งหมดอยู่ที่พ่อแม่ ในการดูแลให้ลูกปลอดภัยและเกิดวินัยเชิงบวก, การใช้อำนาจเข้าจัดการ ซึ่งคนที่แบกอำนาจไว้ทั้งพ่อ แม่ ครูจะเครียด เพราะฉะนั้น หากลูกลองดี ลองของจะเกิดความไม่ลงตัวในหลากหลายรูปแบบ และการเลี้ยงดูแบบปล่อยปละละเลย


          "การเปิดใจยอมรับแล้วล้อมวงคุยกันของคนแต่ละวัยไม่ว่าใครจะอยู่ในบทบาทไหน พ่อ แม่ ลูก จะเป็นการสร้างการแลกเปลี่ยน ก่อให้เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้กันและกัน ช่วยลดแรงกดดันในเรื่องต่างๆ ลงทันที  แต่ปัจจุบันสิ่งที่เป็นตัวขวางระหว่างลูกกับพ่อแม่คือสื่อทุกรูปแบบทั้งคอมพิวเตอร์ มือถือ เฟซบุ๊ค ไอแพด ไลน์ ถ้าใช้ในทางดีจะเป็นตัวเสริมความสัมพันธ์ เช่น ใช้ไอแพดประกอบการเล่านิทาน หากใช้ไม่ดีจะกลายเป็นตัวขวางความสัมพันธ์ จึงขึ้นอยู่กับการหาความพอดีในการเทคโนโลยี ไม่ให้ตกเป็นทาสและกลายเป็นกรอบใสๆ รอบตัวลูกที่จะดึงพ่อแม่เข้าหาหรือผลักออกไป ส่วนสิ่งที่จะทำให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างผู้สูงอายุกับคนในวัยอื่นๆ คือ ต้องทำให้ผู้สูงอายุเป็นคลังสมองให้คนวัยอื่นๆ" นพ.สุริยเดว เสนอแนะ


           ครอบครัวไทยมีจำนวนไม่น้อยที่คนวัยหนุ่มสาว วัยทำงานจะต้องดูแลทั้งลูกและพ่อแม่ของตนเอง มีคนหลากวัยอยู่ร่วมกัน การเข้าใจความรู้สึก ความคิดและความต่างของช่วงวัย จะช่วยสร้างความสุขให้แก่คนในครอบครัว


 


 


           ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก


           ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ