ปราชญ์เกษตรอินทรีย์ ร่วมปั้นเยาวชนสู่สังคมสุขภาวะ
ที่มา : ข่าวสดออนไลน์
แฟ้มภาพ
ในเวทีระดมความคิดเห็น Together : Make it Happen "โครงการศิลปินแห่งชาติ ปราชญ์ ปัญญาชน สร้างพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเยาวชนเพื่อลดปัจจัยเสี่ยง" สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดที่สวนสามพราน จ.นครปฐม เมื่อเร็วๆ นี้ มีปราชญ์เกษตรอินทรีย์ 3 คนเข้าร่วมด้วย
ประกอบด้วย ครูเสริม คำแปง วัย 76 ปี อดีตครูร.ร.บ้านนาวงค์ อ.ปัว จ.น่าน ประธานศูนย์เรียนรู้เสริมทรัพย์ อ.ปัว นางประหยัด ปานเจริญ ประธานศูนย์การเรียนรู้ชุมชนบ้านหัวอ่าว อ.สามพราน และ น.ส.อรุณี พุทธรักษา ประธานศูนย์การเรียนรู้วิสาหกิจชุมชนเกษตรทฤษฎีใหม่หัวใจอินทรีย์ ต.ทัพหลวง อ.เมือง จ.นครปฐม
สาเหตุที่ทางโครงการชักชวนปราชญ์ 3 รายนี้เข้าร่วม เพราะการดำเนินงานของแต่ละศูนย์ ถือเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ที่ผู้คนทุกเพศทุกวัยมีโอกาสมาเรียนรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์ และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง รัชกาลที่ 9 ซึ่งหลังจากที่ทั้ง 3 เข้าร่วมกับโครงการดังกล่าว ต่างพร้อมใจกันประกาศว่าจะเดินหน้าชักชวนเด็กและเยาวชนให้มาเข้าร่วมเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้การทำเกษตรในบ้านเรา ลด ละ เลิก ในการใช้เคมี ซึ่งใช่เพียงจะทำเรื่องเกษตรอินทรีย์เท่านั้น ยังรวมถึงการทำให้เด็กมีวินัยในการเก็บออมเพื่ออนาคตด้วย
ครูเสริมบอกว่า หลังจากมาร่วมประชุมเวทีนี้เมื่อปีที่แล้วก็กลับไปทำกิจกรรม โดยเน้นอบรมบุคคล 3 วัย คือเยาวชน บุคคลกลางวัย และบุคคลสูงอายุ ซึ่งได้อบรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องปุ๋ย น้ำหมักและการปลูกพืชผักสวนครัว โดยทางศูนย์จะส่งเสริมการทำเกษตรระบบอินทรีย์ ไม่ใช้เคมี มีการผลิตปุ๋ย ทำน้ำหมัก และทำฮอร์โมนเอง จึงอยากให้กลุ่มที่มาอบรมไปปฏิบัติเหมือนกับทางศูนย์ แบบไม่ต้องพึ่งเคมี จากนั้นก็มีการติดตามผล ปรากฏว่ากลุ่มที่มาอบรมรู้สึกภาคภูมิใจที่ทางศูนย์ไปต่อยอดให้ ในปีนี้ก็มีโครงการอบรมกลุ่มเดิมและกลุ่มใหม่ อีกทั้งทางสวนยังทำเรือนพักสร้างด้วยไม้ไผ่สำหรับ ผู้ที่ต้องการมาพักค้างคืน
ปราชญ์เกษตรอินทรีย์ผู้นี้ย้อนเล่าที่มาที่ไปของการทำเกษตรอินทรีย์ว่า เริ่มทำเกษตรอินทรีย์ตั้งแต่ปี 2527 โดยทำสวนแบบผสมผสาน ซึ่งตนเองมีความรู้ในการทำปุ๋ยหมัก น้ำหมัก สารไล่แมลง และสารกำจัดวัชพืชที่เป็นอินทรีย์ทั้งหมด หลังจากที่ได้อบรมเรียนรู้เรื่องเกษตรมา อีกทั้งก่อนหน้านี้เคยเป็นนายกอบต.เจดีย์ชัยอยู่ 1 สมัย ในขณะที่ เป็นนายกอบต.ได้เข้าอบรมการเกษตรมาเรื่อยๆ ทางอบต.เองมีโครงการ ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นำงบประมาณมาพัฒนาต.เจดีย์ชัย และชักชวนมาร่วมโครงการ หลังจากนั้นไปอบรมให้ความรู้เกษตรอินทรีย์ แล้วตั้งเป็นศูนย์การเรียนรู้เกษตรอินทรีย์ระดับตำบล ระดับอำเภอ ต่อมามีกลุ่มต่างๆ เข้ามาศึกษาดูงานที่นี่ ขณะที่อยู่ในโครงการสสส. ตนก็ได้เป็นหมอดินในหมู่บ้าน ได้อบรมความรู้เกี่ยวกับดิน การทำปุ๋ยต่างๆ พร้อมนำมาปรับปรุงที่สวน
นอกจากนี้ทางชุมชนเห็นว่าสวนทำเรื่องเกษตรอินทรีย์ จึงมาตั้งศูนย์การเรียนรู้ หลังจากนั้นก็มีการส่งเสริมมาเรื่อยๆ และได้รับการแต่งตั้งเป็นปราชญ์เกษตรของตำบล ต่อมาสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย อ.ปัว (กศน.อ.ปัว) เชิญไปเป็นกรรมการ และแต่งตั้งเป็นปราชญ์ชาวบ้าน
พร้อมกันนั้นได้รับคัดเลือกจากชาวบ้านต.เจดีย์ชัย เป็นสภาเกษตรของหมู่บ้าน ตำบล และอำเภอ ทำงานหลายอย่างผสมผสาน จนปี 2558-2559 เริ่มมีคนรู้จักมากขึ้น กศน.อ.ปัวส่งไปอบรมเรื่องต่างๆ และมีการคัดเลือกระดับจังหวัดผู้ที่มีความรู้หลายๆ ด้าน เชิญไปเป็นวิทยากร การทำเห็ดโคนน้อย การเลี้ยงกบ การทำไม้กวาดดอกหญ้า ทุกวันนี้ยังเป็นวิทยากรของกศน. หลังจากนั้นกศน.มาคัดเลือกปราชญ์ชาวบ้านเลยส่งเป็นตัวแทนอ.ปัว ไปแข่งในสายของสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จ.น่าน ทางคณะกรรมการก็ได้มาประเมินสวน สุดท้ายได้รับการคัดเลือกให้เป็นปราชญ์เกษตรเศรษฐกิจพอเพียงของจ.น่าน
ปัจจุบันเปิดให้หน่วยงาน ชุมชน และบุคคลต่างๆ เข้ามาศึกษาดูงานในพื้นที่ทั้งหมดเกือบ 10 ไร่ เพื่อนำความรู้ไปปรับเปลี่ยนคุณภาพชีวิตของแต่ละคน แต่ละพื้นที่ และได้ขยายพันธุ์พืชแจกจ่าย รวมทั้งจำหน่ายให้กับชุมชนที่เข้ามาศึกษาดูงาน
สำหรับศูนย์นี้ปลูกผักผลไม้แบบหลากหลาย ที่ทำเงินคือมะนาวพันธุ์ตาฮิติเป็นมะนาวไร้เมล็ด ปลูกประมาณ 200 ต้น นอกนั้นเป็นไม้ผลต่างๆ มีกระท้อน มะยงชิด มะไฟ มะม่วง เป็นต้น
ครูเสริมอธิบายถึงเทคนิคการทำมะนาวให้ออกลูกตลอดปีว่า เป็นการบังคับให้ออกลูกนอกฤดู โดยงดน้ำและอาหารในช่วงเดือนส.ค.และก.ย. จะทำให้ต้นโทรม ใบร่วง และหลังจากนั้นจะผลิดอกหรือยอดอ่อน ต้องให้น้ำทันที จะออกดอกในเดือน ต.ค.
ราคาที่ส่งมะนาวที่บ้านช่วงนี้ประมาณก.ก.ละ 50 บาท มะยงชิดปลูกไว้ 12 ต้น ขายก.ก.ละ 80-100 บาท ส่วนใหญ่จะขายในเฟซบุ๊ก ในไลน์ พวกข้าราชการที่รู้จักจะโทรศัพท์เข้ามาสั่ง
จุดเด่นของศูนย์อีกอย่าง คือการทำปุ๋ยด่วน ทำวันนี้พรุ่งนี้ใช้ได้เลย วัตถุดิบ ประกอบด้วย ลำละเอียด แกลบดำ และขี้วัว อัตราส่วนคือ มีขี้วัว แกลบ และลำละเอียด 1 กระสอบ น้ำหมัก 500 ซีซี กากน้ำตาล 500 ซีซี ผสมน้ำ 500 ลิตร แล้วคลุกเคล้าให้เข้ากัน ให้มีความชื้น 50 เปอร์เซ็นต์ โดยนำผ้าพลาสติกคลุมไว้ 8 ชั่วโมง วันรุ่งขึ้นกลับด้านปุ๋ยแล้วนำไปใช้ได้เลย ปุ๋ยสูตรนี้คล้ายปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 ใช้ได้กับพืชทุกชนิด ใช้ตอนไหนก็ได้ แต่การใช้ควรระมัดระวัง ต้องดูตามขนาดต้นไม้ พอโรยปุ๋ยแล้วก็รดน้ำทันที เพื่อให้ดูดซึมได้เลย
นอกจากทางศูนย์จะจัดอบรม และเปิดให้ผู้คนเข้ามาศึกษาดูงานแล้ว ยังอยู่ในระหว่างก่อสร้างเรือนพัก เพื่อให้ผู้มาเยือนได้พักช่วงที่มาอยู่ศูนย์ เนื่องจากบ้านคนมาจากต่างจังหวัด บางคนอยากมาเรียนรู้วิถีการทำเกษตรแบบพอเพียง โดยทางศูนย์คาดว่าจะสร้างให้ได้ประมาณ 10 หลัง ถ้าใครสนใจติดต่อสอบถามได้ที่โทร. 08-7999-6287
ทั้งหมดนี้ คงทำให้ได้เห็นกันแล้วว่า เกษตรอินทรีย์สามารถเชื่อมโยงกับหลายเรื่องหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว วิถีชีวิต อาหารการกิน จนถึงเรื่องสุขภาพอนามัย ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดสังคมสุขภาวะที่ดี