ปรากฏการณ์เรื่องเพศของเยาวชนไทย
“รักนวลสงวนตัว” ยุคสมัยหนึ่ง เสียงกระซิบนี้เป็น “ยันต์กันภัย” ให้ลูกหลานเผชิญหน้ากับความสัมพันธ์ทางเพศ กติกานี้ตกทอดผ่านคนในครอบครัว เครือญาติ ถือเป็นกติการ่วมทางสังคม หากมีใครทำสิ่งใดนอกครรลอง เสียงประนามจะเกิดขึ้นโดยเฉพาะกับผู้ที่มีพฤติกรรมทางเพศไม่ตรงกับความคาดหวัง
แต่กลไกเหล่านี้ยังคงมีประสิทธิภาพในการดูแลพฤติกรรมทางเพศของวัยรุ่นในศตวรรษนี้ได้จริงหรือ? ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ตั้งคำถามก่อนบอกเล่าเส้นทางแห่งพัฒนาการเรื่องเพศในสังคมไทย ผ่านปาฐกถา หัวข้อ “ปรากฏการณ์เรื่องเพศของเยาวชนไทยภายใต้การบ่มเพาะของสังคมไทย” ในงานประชุมเพศวิถีศึกษาภาคเหนือ ณ โรงแรมอัมมารินทร์ลากูน จ.พิษณุโลก เมื่อเร็วๆ นี้ โดยมีคนทำงานด้านสาธารณสุข บุคลากรการศึกษาและผู้เกี่ยวข้องกับงาน ด้านพัฒนาเยาวชนราว 400 คนได้รับรู้รับฟัง
“เพราะวิถีชีวิตเปลี่ยนไป ผู้หญิงต้องออกจากบ้าน ไปใช้ชีวิตทางสังคมมากขึ้น ระเบียบทางสังคมหลายๆ อย่างจึงใช้ไม่ได้ หรือหมดพลังไปแล้ว การสอนให้รักนวลสงวนตัว ก็เป็นหนึ่งในนั้น”
วิถีที่เปลี่ยนแปลงไป เกิดขึ้นตั้งแต่ระดับครอบครัวที่ถูกย่อให้เหลือเพียงพ่อแม่ลูก ระบบเครือญาติแทบจะสูญหายด้วยเหตุผลที่ต่างกัน เช่น สมาชิกครอบครัวไปมาหาสู่กันสะดวกขึ้น เคลื่อนย้ายไปมาง่าย มีความเป็นปัจเจกมากขึ้น ฯลฯ พลังครอบครัวในการควบคุมพฤติกรรมลูกหลานจึงเบาบางลง คำถามคือ เราจะเลือกกลับไปอ้างคำสอนในสมัยก่อนที่ผ่านมาหลายร้อยปี หรือทบทวนแล้วหันมาปรับกติกาสังคมให้สอดรับกับสภาพปัจจุบันให้มากขึ้น
เมื่อผู้หญิงจำนวนหนึ่งกำลังเผชิญกับความพิการ เสี่ยงชีวิตกับการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย ทั้งหมดนี้เชื่อมโยงมาจากสัมพันธภาพของผู้คนที่ลดลง อันเป็นผลกระทบสืบเนื่องจากสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว พ่อแม่ต้องทำงานวันละ 10 ชั่วโมง กระทบไปถึงการเลี้ยงลูกและการดูแลกันภายในครอบครัวด้วย
ในด้านกฎหมาย บางเรื่องยังไม่มีความเป็นธรรมระหว่างหญิงชาย เช่น กรณีการที่หญิงถูกใช้ความรุนแรงจากสามี เมื่อแจ้งความจะถูกเจ้าหน้าที่ไกล่เกลี่ยให้ยอมความ ตักเตือน และปล่อยตัวไป โดยยึดหลักว่ากฎหมายมีไว้เพื่อการรักษาสถาบันครอบครัว โดยไม่พูดถึงสิทธิมนุษยชนของฝ่ายหญิง จึงทำให้ผู้หญิงต้องกลายเป็นผู้เสียสละฝ่ายเดียว ซึ่งในต่างประเทศ จะแก้ปัญหาเรื่องนี้โดยใช้กลไกอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น มีข้อบังคับให้สามีต้องเข้าอบรม “การเป็นสามีที่ดี” เพื่อกลับสู่ครอบครัว ฯลฯ หรือกรณีหญิงม่าย ก็ต้องเผชิญกับการถูกตำหนิ นินทา ถูกลงฑัณท์จากสังคมเพราะรักษาครอบครัวไว้ไม่ได้
ในวงการแพทย์ เกี่ยวข้องในเรื่องที่ไม่สามารถผลิตหมอที่วินิจฉัยเรื่องที่นอกเหนือจากความรู้พื้นฐาน เช่น การอกหัก การมีเพศสัมพันธ์นอกสมรส มีกิ๊ก ฯลฯ อันเป็นสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นกับคนในสังคมยุคนี้
มิติทางศาสนา แม้พุทธศาสนาจะไม่มีข้อห้ามชัดเจนเรื่องเพศ แต่มี “ท่าที” ที่สื่อไปในทางให้ละเว้น เช่น ศีลห้า ระบุว่าไม่ควรผิดผัวผิดเมียคนอื่น หลายส่วนไม่ครอบคลุมถึงบริบทเกี่ยวข้อง เช่น กรณีการมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงาน เป็นสิ่งที่ยอมรับได้หรือไม่ ย้อนแย้งกับข้อมูลทางสถิติที่พบว่า ชายไทย อายุไม่เกิน 18 ปี เคยมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงาน 51% ส่วนผู้หญิงเคยมีเพศสัมพันธ์มาแล้ว 33-40% เป็นต้น
หากมองที่ สถาบัน “สื่อ” ซึ่งมีอิทธิพลในการเปิดทัศนคติของผู้คน ยังคงฉายภาพ “วิถีเพศ” ที่ไม่รอบด้าน สื่อเรื่องเพศส่วนใหญ่ปรากฏใน 3 ลักษณะ คือเรื่องความรุนแรงในครอบครัว อาชญากรรมทางเพศหรือการล่วงละเมิดทางเพศ และท้องไม่พร้อม ทั้งที่ คำว่า“เพศวิถี” ยังมีประเด็นอื่นๆ อีก เช่น เรื่องการค้าบริการทางเพศถูกให้ความสำคัญน้อยลง ทั้งที่ข้อเท็จจริง มีระบบและเครือข่ายการค้าบริการทางเพศในสังคมเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง เชื่อมขยายไปถึงประเทศเพื่อนบ้านและต่างประเทศ เดิมรูปแบบการค้าบริการเกิดขึ้นในกลุ่มเยาวชนจะอยู่ในกลุ่มคนจน ขณะนี้มีเยาวชนผู้ค้าเป็นนักเรียนที่มีอนาคตทางการศึกษารวมอยู่ด้วยและมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น มุมมองด้านหย่าร้างซึ่งบอกถึงความเปราะบางของครอบครัวไทยที่เพิ่มขึ้น ประเด็นเหล่านี้ยังถูกหยิบยกขึ้นในสื่อน้อยมาก เป็นต้น
ส่วนเรื่องที่ดูเหมือนจะสอดรับกับนโยบายภาครัฐที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาโดยตลอดคือ เรื่องการรณรงค์ให้ใช้ถุงยางอนามัย มีการโฆษณาสื่อสารให้คนเห็นว่า การใช้ถุงยางเป็นเรื่องปกติระหว่างหญิงและชาย ซึ่งถือเป็นข้อดี แต่การเลือกใช้หรือไม่ใช้ถุงยางเป็นเรื่อง “ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ” ระหว่างคนสองคน ดังนั้นการสอนให้ผู้หญิงรู้จักวิธีใช้ จะต้องทำให้ตระหนักด้วยว่า ตนเองมีอำนาจควบคุมและกำหนดเรื่องเพศสัมพันธ์ของตนเองได้หรือไม่ มีทักษะการต่อรองในขณะที่ตนเองอยู่ในภาวะไม่แน่ใจได้อย่างไร เช่น กังวลว่าจะท้อง กลัวติดโรค ซึ่งต้องยืนอยู่บนความเชื่อว่าผู้หญิงต้องไม่รู้สึกว่าตนเองด้อยกว่าชายเสียก่อน เป็นต้น
สรุปแล้วเรื่องเพศที่กล่าวมาทั้งหมดจึงมากกว่าเพศสัมพันธ์ มากกว่าความรู้ที่เกี่ยวกับสุขอนามัย แต่เกี่ยวกับเพศสภาพ และเพศวิถี การรู้จักเพศที่มากกว่าหญิงและชาย จะช่วยให้เราเข้าใจและหาวิธีสื่อสารกับเยาวชนคนรุ่นใหม่ในเรื่องเหล่านี้ ทำอย่างไรจะให้ผู้เรียนรู้จักแยกแยะ มีวิจารณญาณ ประเมินชั่งน้ำหนักเรื่องที่เกี่ยวข้องทางเพศได้ด้วยตนเอง การมองโลกที่ไม่ใช่มีแค่ขาวและดำ ถูกและผิดเท่านั้น แต่เด็กเยาวชนต้องมีความสามารถในการใช้เหตุผล มีทักษะการเลือก ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญในฐานะปัจเจกบุคคล หรือ individual ตามเป้าหมายของ “การจัดการศึกษาเพื่อความเปลี่ยนแปลง” เป็นการเปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนค่านิยม เปลี่ยนการให้คุณค่าในตนเองให้เท่าทันกับสถานการณ์ปัจจุบัน อย่างเรื่องหญิงและชายในสถาบันการแต่งงานมีบทบาทเปลี่ยนแปลงไป ที่ผู้หญิงต้องเล่นบทในเรื่องการจัดการด้านสาธารณูปโภค ติดต่อเรื่องน้ำ ไฟฟ้าต่างๆ มากขึ้น ความสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิงกับรัฐจึงมีมากขึ้นตามไปด้วย เด็กควรต้องรู้ในประเด็นเหล่านี้
ดังนั้นการเรียนการสอนเพศวิถีศึกษาเป็นเรื่องของการสนับสนุนให้เด็กรู้จักสิทธิ์ เข้าใจระบบสังคม และสามารถแก้ปัญหาหากต้องเข้าไปติดต่อและขอรับบริการจากรัฐตามสิทธิพื้นฐานของตนเอง สิ่งเหล่านี้ควรเป็นประเด็นที่ต้องนำมาจัดการเรียนรู้ เยาวชนจึงจะเข้าใจในสถานภาพตนเองได้ คำนึงถึงสิทธิและความเท่าเทียม และมีความสุขกับการใช้ชีวิตในสังคมในยุคสมัยที่ต่างออกไป เพศวิถีศึกษาจึงลุ่มลึกมากกว่าเรื่องเพศสัมพันธ์ดังที่ถกเถียงกันมาตลอดหลายสิบปี
“หัวใจของการสอนเพศศึกษาเป็นการทำให้เด็กได้วางตัวเองได้อย่างมีความสุข สร้างสรรค์ และควรเป็นส่วนหนึ่งของวิชาสังคมศึกษา เรียนเพศศึกษาไม่ใช่แค่รู้จักเพศสัมพันธ์แต่รู้จักเงื่อนไขที่อยู่เบื้องหลังการมีเพศสัมพันธ์ และยังจำเป็นต้องพิจารณาถึงเงื่อนไขทางสังคม และเลือกกระทำสิ่งต่างๆ ด้วยตนเองได้ และต้องรู้ว่าตัวเราจะยอมรับแค่ไหนไม่ยอมรับแค่ไหนในเรื่องเหล่านี้” อ.นิธิ กล่าวสรุป
ที่มา : แผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ