ปรับโฉมเรือนจำปลอดควันบุหรี่

ที่มา : หนังสืพิมพ์ไทยโพสต์ 


ปรับโฉมเรือนจำปลอดควันบุหรี่ thaihealth


แฟ้มภาพ


จากผลสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของผู้ต้องขังในเรือนจำทั่วประเทศ พบผู้ต้องขังมากกว่าร้อยละ 75 สูบบุหรี่ ซึ่งนอกจากจะทำลายสิ่งแวดล้อมในเรือนจำแล้ว ยังทำลายสุขภาพของผู้ต้องขัง เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคเรื้อรัง เพื่อเป็นการสร้างสิ่งแวดล้อมปลอดบุหรี่ในเรือนจำทั่วประเทศ


สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมเรือนจำกลางกำแพงเพชร ในฐานะเป็นเรือนจำที่ประสบความสำเร็จแห่งแรกของไทยในการดำเนินโครงการสิ่งแวดล้อมปลอดบุหรี่ในเรือนจำ วันนี้สามารถพัฒนาเป็นพื้นที่ต้นแบบให้แก่เรือนจำอื่นๆ ต่อไปได้ โดยเป็นโครงการความร่วมมือระหว่าง สสส. กรมราชทัณฑ์ และเครือข่ายพยาบาลเพื่อการควบคุมยาสูบแห่งประเทศไทย


การสร้างสิ่งแวดล้อมปลอดบุหรี่ในเรือนจำเป็นหนึ่งในความพยายามที่เรือนจำกลางกำแพงเพชรต้องการให้ผู้ต้องขังเลิกสูบบุหรี่ นอกจากความห่วงใยในสุขภาพของผู้ต้องขังแล้ว ยังเป็นการคุ้มครองสุขภาพของผู้ต้องขังรายอื่นที่ไม่ได้สูบบุหรี่ด้วย


ปรับโฉมเรือนจำปลอดควันบุหรี่ thaihealth


โศรยา ฤทธิ์อร่าม ผู้บัญชาการเรือนจำกลางกำแพงเพชร เผยว่า ที่ผ่านมาได้จัดกิจกรรมให้ความรู้พิษภัยบุหรี่แก่ผู้ต้องขัง พร้อมกับกำหนดมาตรการควบคุมผู้ต้องขังที่ยังไม่พร้อมที่จะเลิก แต่พร้อมที่จะลดการสูบบุหรี่ ทั้งกำหนดวันจำหน่ายบุหรี่เหลือเพียงสัปดาห์ละ 2 วัน กำหนดจุดสูบบุหรี่แดนละ 1 จุด และกำหนดพื้นที่ห้ามสูบ ได้แก่ สถานพยาบาล โรงอาหาร แดนหญิง แดนควบคุมพิเศษ ห้องเยี่ยมญาติและเรือนนอน  รวมถึงกำหนดบทลงโทษชัดเจนเป็นปัจจัยที่มีส่วนสำคัญต่อการลดและเลิกบุหรี่ได้


ทุกวันนี้ สถานที่ต่างๆ ได้รับการส่งเสริมให้เป็นเขตปลอดบุหรี่ แต่ "เรือนจำ" ยังคงเป็นสถานที่ที่ไม่ได้ถูกจัดให้เป็นสถานที่ปลอดบุหรี่ตามกฎหมายกำหนด สสส.จึงส่งเสริมและพัฒนาให้เรือนจำเป็นเขตปลอดบุหรี่ ประเด็นนี้ ดร.นพ.บัณฑิต ศรไพศาล รองผู้จัดการกองทุน สสส. ให้ข้อมูลว่า สถานการณ์การสูบบุหรี่ในประเทศไทย ปี 2558 มีผู้สูบบุหรี่ 10.9 ล้านคน โดยกลุ่มอายุ 30 ปีขึ้นไป ตายจากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ 50,710 คน เป็นผู้ชาย 42,989 คน และผู้หญิง 7,721 คน ขณะที่ผลสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของผู้ต้องขังในเรือนจำทั่วประเทศ พบผู้ต้องขังมีพฤติกรรมสูบบุหรี่ มากกว่าร้อยละ 75


"การใช้มาตรการทางสังคมในเรือนจำเป็นวิธีช่วยให้การควบคุมดีขึ้น ถ้ามีการแอบสูบบุหรี่จะต้องรับผิดชอบร่วมกันด้วยการถูกปิดทีวี มาตรการนี้ทำให้ผู้ต้องขังเตือนกันเอง หากผู้ต้องขังเลิกบุหรี่ได้ด้วยตนเอง รู้จักเคารพสิทธิผู้อื่น ประโยชน์จะเกิดกับตัวผู้ต้องขังเอง มีสุขภาพที่ดีขึ้นและไม่ทำร้ายคนอื่นด้วยการสูบบุหรี่" รองผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าว


นอกจากเรือนจำกลางกำแพงเพชรแล้ว ยังมีเรือนจำหล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ และเรือนจำกลางมหาสารคาม ที่สามารถพัฒนาสู่การเป็นต้นแบบเรือนจำปลอดบุหรี่ รศ.ดร.สุรินธร กลัมพากร ผู้รับผิดชอบโครงการสร้างสิ่งแวดล้อมปลอดบุหรี่ในเรือนจำ เผยภาพรวมการดำเนินงานของเรือนจำทั้ง 13 แห่ง พบว่า มีผู้ต้องขังได้รับการช่วยเหลือให้เลิกบุหรี่จำนวน 750 คน ในจำนวนนี้มี 258 คน หรือร้อยละ 34.4 ที่สามารถเลิกบุหรี่ได้ต่อเนื่องเกิน 6 เดือน เรือนจำที่เข้าร่วมโครงการมีนโยบายการควบคุมยาสูบและการพัฒนาสถานที่ปลอดบุหรี่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน สสส.เตรียมขยายผลเรือนจำปลอดบุหรี่ทั่วประเทศอีกไม่น้อยกว่า 10 แห่ง


ปรับโฉมเรือนจำปลอดควันบุหรี่ thaihealth


สอดคล้องกับ เศกสรรค์ จันทรปราสาท พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ หัวหน้าโครงการสร้างสิ่งแวดล้อมปลอดบุหรี่ เรือนจำกลางกำแพงเพชร เล่าว่า การสูบบุหรี่ในเรือนจำส่งผลกระทบต่อสุขภาพผู้ต้องขังอย่างมาก ซึ่งการจัดทำกลุ่มสมัครใจเลิกสูบบุหรี่แบบมีพี่เลี้ยง โดยมีผู้ต้องขังที่เลิกสูบบุหรี่ได้แล้วเป็นพี่เลี้ยงดูแลอย่างใกล้ชิด เป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้ผู้ต้องขังสามารถเลิกบุหรี่ได้ ที่ผ่านมามีผู้ต้องขังสมัครใจเข้าร่วมโครงการทั้งหมด 6 รุ่น จำนวน 140 ราย ในจำนวนนี้สามารถเลิกบุหรี่ได้ 82 ราย และอีก 24 รายสามารถลดปริมาณการสูบลง


ขณะที่ ผู้ต้องขังที่เข้าร่วมโครงการเลิกบุหรี่ เปิดใจว่า การเลิกบุหรี่ในช่วงเดือนแรกๆ ถือว่ายากมาก แต่พอโครงการนี้เข้ามาทำให้สามารถเลิกได้ง่ายกว่าที่เราเลิกเอง เพราะมีพี่เลี้ยงให้คำแนะนำและชวนทำกิจกรรม เพื่อเบนความสนใจไม่ให้กลับไปสูบบุหรี่อีก เช่นเดียวกับผู้ต้องขังที่เลิกบุหรี่อีกรายบอกว่า สูบบุหรี่จัดตั้งแต่อยู่นอกเรือนจำ ส่งผลทำให้สมองเชื่องช้าและสุขภาพย่ำแย่ จึงอยากเลิกบุหรี่ โดยเริ่มจากเปิดใจรับฟังคำแนะนำจากพี่เลี้ยง ที่สำคัญเราต้องเอาชนะใจตัวเองให้ได้


เชื่อว่า การรณรงค์ป้องกันของโครงการนี้จะช่วยให้ผู้ต้องขังและเจ้าหน้าที่เลิกบุหรี่ได้ และพัฒนาให้เรือนจำทั่วประเทศเป็นเขตปลอดบุหรี่

Shares:
QR Code :
QR Code