ปรับวิถีชีวิตสมดุล ห่างไกล‘โรคไม่ติดต่อ’
เมื่อการดำรงชีวิตของประชากรโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ย่อมต้องส่งผลต่อคุณภาพชีวิต และสุขภาพอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เป็นเหตุให้ประชากรทั่วโลกเจ็บป่วยด้วย “โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง”
ล่าสุด ข้อมูลองค์การอนามัยโลก เผยว่าประชาชนทั่วโลกมีอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคไม่ติดต่อมากถึงปีละ 36 ล้านคน คิดเป็น 60 เปอร์เซ็นต์ของการเสียชีวิตทั้งหมด
ทั้งนี้ นายแพทย์วิชช์ เกษมทรัพย์ ผู้จัดการแผนงานเครือข่ายควบคุมโรคไม่ติดต่อ ให้ข้อมูลว่า โรคไม่ติดต่อ (Non-communicable diseases) หรือ NCDs คือ โรคที่เกิดจากความผิดปกติหรือความเสื่อมโทรมของร่างกายและจิตใจ ไม่สามารถที่จะติดต่อไปหาบุคคลอื่นได้ เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง โรคความดันเลือดต่างๆ เป็นต้น
“หลายๆ ประเทศให้ความสำคัญของโรคไม่ติดต่อกำลังเพิ่มมากขึ้น ไม่เฉพาะประเทศไทย แต่รวมถึงประเทศที่กำลังพัฒนาจำนวนมาก สำหรับประเทศไทยโรคติดต่อลดลงเหลือเพียง 3 โรคใหญ่ คือ โรคเอดส์ วัณโรค และไข้เลือดออก แต่โรคไม่ติดต่อกำลังมีบทบาทในการเป็นภัยต่อสุขภาพของประเทศ โดยเฉพาะโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง”
สำหรับกลุ่มเสี่ยงของโรคไม่ติดต่อ ได้แก่ วัยทำงาน เพราะมีความเครียด ขาดการออกกำลังกาย เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง แต่ปัจจุบันวัยเด็กเริ่มเป็นอีกวัยที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เด็กไทยมีแนวโน้มเป็นโรคอ้วนมากขึ้น และเด็กที่อ้วนเมื่อเติบโตก็จะเป็นคนอ้วน มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ เบาหวาน ซึ่งขณะนี้เด็กไทยที่เป็นโรคเบาหวานก็มีอายุน้อยลงเรื่อยๆ
“โรคไม่ติดต่อ เกิดจากพฤติกรรมการดำรงชีวิตที่ไม่ถูกต้อง และอิทธิพลของสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม ซึ่งไม่มีการติดต่อและแพร่กระจายของโรคแต่สามารถป้องกันได้ หากรู้เข้าใจ และปฏิบัติตนในการดูแลสุขภาพได้ถูกต้องเพราะจะช่วยให้สามารถหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่จะนำไปสู่การเกิดโรคได้”
การดูแลสุขภาพให้ห่างไกลโรคไม่ติดต่อ ผู้จัดการแผนงานเครือข่ายควบคุมโรคไม่ติดต่อ บอกว่า ต้องเริ่มจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเอง ด้วยการมีวิถีชีวิตที่สมดุล ทั้งทางร่างกายและจิตใจ ดังนี้
1. เลือกกินอาหารอย่างมีสติ รับประทานอาหารในปริมาณที่พออิ่ม เลือกอาหารที่มีไขมันต่ำ ปรุงรสชาติหวานและเค็มน้อย โดยวันหนึ่งควรรับประทานผักและผลไม้ที่รสไม่หวาน เมื่อซื้อผลิตภัณฑ์อาหารที่มีฉลากโภชนาการ ควรเลือกที่มีปริมาณเกลือ และน้ำตาลต่ำ
2. ออกกำลังกายให้สมดุลกับปริมาณอาหารที่เรารับประทานในแต่ละวัน ในวันหนึ่งควรออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาที ถ้าไม่มีเวลาออกกำลังกายได้นานในแต่ละครั้ง ก็ใช้การออกกำลังกายสะสม เช่น ช่วงเช้าออกกำลังกายได้ 10 นาทีช่วงเย็นออกเพิ่มอีกสัก 20 นาที
3. สำหรับคนทำงาน ควรหาเวลาว่างลุกเดิน หรือออกกายบริหาร เช่น บริหารคอ แขน ขา พยายามหลีกเลี่ยงสิ่งอำนวยความสะดวก ได้แก่ เดินขึ้นบันได 1-2 ชั้นแทนการขึ้นลิฟต์
4. ไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ เกิดโรคซึ่งบุหรี่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งปอด โรคหัวใจ และหลอดเลือด เกิดจาก สารนิโคตินในบุหรี่ ซึ่งเป็นสารที่มีพิษ และอันตรายทำให้หัวใจ หลอดเลือด ส่วนเหล้าก่อให้เกิด โรคมะเร็งลำไส้ มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งตับ มะเร็งเต้านมในผู้หญิง และมะเร็งรังไข่ ซึ่งในผู้ชายส่วนใหญ่ที่เป็นนักดื่มมักป่วยเป็น มะเร็งตับ
5. ด้านจิตใจ ควรทำจิตใจให้แจ่มใส กรณีเครียดจากการทำงาน ให้หาทางผ่อนคลาย เช่นเมื่อทำงานที่ต้องใช้สายตานานๆ ให้หลับตาสักครู่ หรือมองสำรวจสิ่งรอบๆ ตัว โดยเฉพาะพื้นที่สีเขียว อาจฟังเพลง นั่งสมาธิ หรือหาที่ปรึกษาที่ไว้ใจได้ในการระบายความเครียดหรือหาทางออกในการแก้ปัญหา อย่าปล่อยให้เกิดความเครียดเรื้อรังเป็นเวลานาน สร้างเสริมชีวิตครอบครัวให้มีความสุขเพราะการมีครอบครัวดีมีความอบอุ่น เป็นการรักษาสุขภาพจิตเบื้องต้น
นอกจากนี้ นพ.วิชช์ ย้ำว่า การมีวิถีชีวิตที่รีบเร่ง ประกอบกับมีการออกกำลังกายน้อยลง แต่มีความเครียดเพิ่มขึ้น สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังซึ่งเป็นโรคที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้น
“การรักษาพยาบาลถือเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แต่สิ่งที่ทุกคนต้องตระหนักคือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หันมาใส่ใจสุขภาพ รู้จักการกินให้ถูก รู้จักออกกำลังกายให้เหมาะสม และรู้จักสร้างเสริมสุขภาพจิตให้ดี เพราะร่างกายของเราไม่มีใครดูแลได้ดีไปกว่าตนเองแน่นอน”
การมีวิถีชีวิตที่สมดุลวิถี เป็นหนทางสู่สุขภาพดี ฉะนั้นการหันมาใส่ใจในวิถีชีวิต โดยปรับให้เกิดความสมดุลทั้งทางร่างกายและจิตใจ ย่อมช่วยให้ ‘ตัวเรา’ ห่างไกล ‘โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง’ ได้เป็นแน่
เรื่องโดย : กิดานัล กังแฮ Team Content www.thaihealth.or.th