ปรับมาตรฐานความปลอดภัยรถสาธารณะ
ลดอุบัติภัย แก้ไขปัญหาจราจร (2)
ปัญหาทุกอย่างย่อมมีทางออก ปัญหาเรื่องอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะก็เช่นกัน แต่อยู่ที่ความจริงจังในการแก้ไขปัญหา การศึกษาบทเรียนจากนานาอารยประเทศว่าเขาใช้กลยุทธ์อย่างไรกันบ้างก็เป็นประโยชน์ทางหนึ่ง
ในฐานะที่ทำงานวิจัยเรื่องเกี่ยวกับรถโดยสารสาธารณะ นพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลขอนแก่น หนึ่งในคณะวิจัยเรื่องระบบโดยสารสาธารณะปลอดภัยกล่าวว่า ในต่างประเทศที่พัฒนาแล้วจะมีระบบเข้มงวดในเรื่องกฎหมายและมาตรฐานของตัวรถอุปกรณ์ความปลอดภัย เทคโนโลยี เช่น ระบบจีพีเอส เหมือนกับบางบริษัทในไทยได้เริ่มนำเข้ามาใช้กันแล้ว และการตรวจสภาพรถ
“ส่วนข้อกำหนดสำหรับพนักงานขับรถ ต้องผ่านการตรวจร่างกาย เช่น สายตา จิตประสาท พนักงานขับต้องผ่านช่วงทดลอง ประเมินผลก่อนปฏิบัติงานจริง หากขับรถเสี่ยงอันตรายก็จะได้รับโทษอย่างรุนแรง และมีการตรวจระดับแอลกอฮอล์ที่ระดับ 0 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ซึ่งเข้มงวดกว่าผู้ขับขี่ทั่วไปที่มีมาตรฐานอยู่ที่ 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์”
หลายประเทศใช้ระบบขนส่งสาธารณะความเร็วสูง เช่น Bus Rapid Transport หรือบีอาร์ที เชื่อมโยงกับระบบรถโดยสารสาธารณะ ทำให้สามารถเพิ่มปริมาณการเดินทางที่สะดวก รวดเร็ว ลดการใช้รถส่วนบุคคลส่งผลต่อการลดอุบัติเหตุจราจร
แต่การสร้างระบบขนส่งมวลชนที่ดีความเร็วสูงต้องควบคู่ไปกับมาตรการจูงใจลดการใช้รถส่วนบุคคล เช่น รถไฟความเร็วสูงของญี่ปุ่นเปิดใช้มาแล้วกว่าหนึ่งล้านเที่ยว แต่ไม่มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุเลยแม้แต่คนเดียว
หันกลับมามองดูประเทศไทย จริงแล้วไทยมีมาตรฐานของตัวรถอยู่ แต่ขณะนี้ถือว่าล้าสมัยไปมากแล้ว จำเป็นต้องมีการทบทวนกันครั้งใหญ่อีกทั้งควรมีการตรวจสอบคุณภาพรถโดยสารสาธารณะก่อนขึ้นทะเบียน รวมถึงการตรวจคุณภาพในช่วงการเสียภาษียานพาหนะในแต่ละปี
นพ.วิทยา บอกต่อไปว่า ในส่วนคนขับรถ ควรมีการระบุมาตรฐานของผู้ขับรถโดยสารสาธารณะว่าจะต้องมีคุณสมบัติอย่างไร เช่น ระดับการศึกษา ความชอบธรรม จริยธรรม จำนวนของผู้ขับขี่หากต้องขับในระยะทางไกล ๆ รวมถึงมาตรการในการตรวจสอบภายหลังว่าจะดำเนินการตามข้อกำหนดอย่างเคร่งครัด เพราะความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจะเกิดความเสียหายมากกว่าหนึ่งชีวิตที่เป็นผู้ขับขี่เท่านั้น แต่ยังเป็นชีวิตอีกมากมายของผู้โดยสารด้วย
“ถัดมาในเรื่องของถนน ความมีมาตรฐานความปลอดภัยต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นลักษณะของถนน แม้ว่าบนท้องถนนจะได้มาตรฐาน แต่บริเวณข้างถนน หากมีวัตถุที่อยู่ในระยะที่ใกล้กับถนนมากเท่าใด ความรุนแรงที่เกิดกับอุบัติเหตุในครั้งนั้นจะแรงขึ้นหลายเท่าทวีคูณ”
สอดคล้องกับข้อมูลของสถิติอุบัติเหตุบนถนนทางหลวงของกรมทางหลวงทั่วประเทศ ตลอดปี 2549 มีทั้งสิ้น 12,918 ครั้ง ในจำนวนนี้มีถึง 43% เกิดจากอุบัติเหตุรถชนกับวัตถุอันตรายข้างทาง คือ รถยนต์ชนวัตถุ 3,695 ครั้ง โดยวัตถุข้างทางที่อันตรายที่สุดคือ เสาไฟฟ้า เสาโทรศัพท์ รองลงมาคือ คูน้ำและต้นไม้ข้างทาง อุปกรณ์ป้องกันชน เช่น แผงกั้นริมถนน สายเคเบิ้ลกั้นถนน และความชั้นของขอบทาง ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้รถยนต์พลิกคว่ำมากที่สุด
นอกจากนี้พื้นที่ปลอดภัย ที่เป็นพื้นที่ว่างบริเวณไหล่ทางก็เป็นปัจจัยลดอุบัติเหตุได้ เพราะจากข้อมูลพบว่า พื้นที่ไหล่ทางควรมีขนาดน้อยที่สุดคือกว้าง 1.5 เมตร ซึ่งจะช่วยลดอุบัติเหตุในถนนทางตรงได้ 12% ทางโค้ง 9% พื้นที่ว่างขนาด 2.4 เมตร ลดอุบัติเหตุในถนนทางตรงได้ 21% ทางโค้ง 14% พื้นที่ว่างขนาด 3 เมตร ลดอุบัติเหตุในถนนทางตรงได้ 25% ทางโค้ง 17% พื้นที่ว่างขนาด 5 เมตร ลดอุบัติเหตุในถนนทางตรงได้ 35% ทางโค้ง 23%
โดยเขตปลอดภัยควรมีความกว้างตามลักษณะของถนน เช่น หากเป็นถนนที่ใช้ความเร็วสูงเช่น มอเตอร์เวย์ ควรมีระยะห่าง 15 เมตร ทางหลวงที่ใช้ความเร็วทั่วไป 9 เมตร ทางหลวงที่ใช้ความเร็วปานกลาง 5 เมตร และ 2-3 เมตร สำหรับถนนที่ใช้ความเร็วต่ำ
ข้อเสนอแนะจากการสังเคราะห์ความรู้ของงานวิจัยด้านการลดอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นกับนโยบายรถโดยสารสาธารณะ ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ ยังคงมีปัจจัยอื่นที่เป็นเรื่องที่น่าสนใจ
เพราะทุกชีวิต ล้วนมีความหมายทั้งสิ้น
เรื่องโดย : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ที่มา : หนังสือพิมพ์บ้านเมือง
ภาพประกอบ : อินเตอร์เน็ต
Update : 26-08-51