ปรับพฤติกรรม นั่ง นอน ทำงาน ป้องกันปวดหลัง
ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า
แฟ้มภาพ
ปัญหาเรื่องอาการปวดหลังนับว่าเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยที่สุดอย่างหนึ่งในปัจจุบัน อย่างน้อยครั้งหนึ่งในชีวิตของทุกคนคงเคยมีปัญหาเรื่องอาการ ปวดหลัง สาเหตุส่วนใหญ่เกิดเนื่องมาจากกระบวนการเสื่อมของหมอนรองกระดูกสันหลังและบริเวณข้อต่อของกระดูกสันหลัง
ผศ.นพ.ธนินนิตย์ ลีรพันธ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โรคกระดูกและข้อ อาจารย์ประจำภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ให้ความรู้ว่า ในวัยหนุ่มสาวหมอนรองกระดูกทำหน้าที่ในการลด แรงกระแทกระหว่างกระดูกสันหลังในแต่ละระดับ เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น หมอนรองกระดูกจะเกิดการเสื่อม ปริมาณน้ำที่อยู่ภายในหมอนรองกระดูกจะลดปริมาณลง ทำให้ความยืดหยุ่นและการทำงานของหมอนรองกระดูกไม่ดี ร่วมกับการเสื่อมของข้อต่อกระดูกสันหลัง ปัจจัยในเรื่องของน้ำหนักร่างกายก็มีผลเป็นอย่างมาก ในคนที่มีน้ำหนักมากจะทำให้ข้อต่อกระดูกสันหลัง และหมอนรองกระดูกสันหลังรับน้ำหนักมากกว่าปกติจึงมีผลทำให้อุบัติการณ์ในการปวดหลังเพิ่มมากขึ้นในผู้ที่มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นมาก
นอกจากนี้เรื่องของพฤติกรรมต่างๆ ของคนไทย ทั้งในเรื่องของการนั่ง การนอน การทำงาน ก็จะมีผลโดยตรงกับอาการปวดหลัง ผมก็อยากแนะนำวิธีการบางประการในการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่อการเกิดอาการปวดหลัง พฤติกรรมที่ควรปฏิบัติสำหรับผู้ที่มีอาการปวดหลัง และป้องกันอาการปวดหลังได้แก่
* การนั่งไม่ควรนั่งกับพื้น ทั้งในท่านั่ง ขัดสมาธิ คุกเข่า พับเพียบ เพราะการนั่งกับพื้นจะทำให้น้ำหนักส่วนใหญ่ไปลงที่กระดูกสันหลังบริเวณบั้นเอว ทำให้กระดูกหลังรับน้ำหนักมากและทำให้ปวดหลังเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้การนั่งกับพื้นในท่าคุกเข่า ขัดสมาธิ พับเพียบ เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม หลีกเลี่ยงการนั่งเก้าอี้ต่ำ เพราะการนั่งเก้าอี้ต่ำๆ มีลักษณะคล้ายกับการนั่งพื้น จะทำให้มีอาการปวดมากขึ้น เช่นการนั่งซักผ้าเป็นระยะเวลานาน การนั่งทอผ้า การนั่งปลูกดอกไม้ ทำสวนเป็นระยะเวลานาน จะมีผลทำให้เกิดอาการปวดหลังเพิ่มมากขึ้น ควรนั่งเก้าอี้ที่มีพนักพิงอย่างถูกวิธี โดยชิดขอบในของเก้าอี้โดยหลังไม่โก่งและให้หลังชิดพนักพิง ระดับความสูงของเก้าอี้นั่งให้เท้าแตะพื้น รองรับก้นละโคนขาได้ทั้งหมด ในกรณีที่ต้องนั่งทำงานเป็นเวลานานไม่ควรนั่งเก้าอี้ที่ไม่มีพนักพิงหลัง เพราะจะทำให้กล้ามเนื้อหลังทำงานหดเกร็งอยู่ตลอดเวลาเป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งของอาการปวดหลัง
วิธีการนั่งใช้งานคอมพิวเตอร์ที่ถูกต้อง ต้องนั่งหลังตรง เพื่อลดอาการตึงที่ช่วงหลัง วางเท้าให้ราบไปกับพื้นทั้ง 2 ข้าง ถ้านั่งไขว่ห้างหรือวางขาไว้ข้างเดียวก็จะส่งผลในเรื่องความดันที่ส่งลงไปที่ขา ทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก ปรับระดับหน้าจอให้อยู่ตรงหน้าพอดี ให้สายตามองตรงไปด้านหน้า ไม่เงย ไม่ก้ม จะช่วยลดอาการตึงหรือเมื่อยล้าบริเวณกล้ามเนื้อช่วงคอ, ไหล่ได้ แขน ช่วงที่ใช้งานพิมพ์คีย์บอร์ด ให้เก็บศอกใกล้ตัว เพื่อช่วยผ่อนคลายหัวไหล่และแขน ลดอาการตึงและเมื่อยล้าจากงานได้ ควรลุกเปลี่ยนอิริยาบถ ยืดเส้นยืดสายทุกๆ 30-45 นาที
* เรื่องของการรับประทานอาหาร ควรหลีกเลี่ยงอาหารประเภท แป้งโดยเฉพาะอาหารประเภท ข้าวเหนียว ขนมปัง ข้าวเจ้า ควรรับประทานในปริมาณที่ไม่มาก หรือควรหลีกเลี่ยง อาหารประเภททอด และที่มีกะทิ เช่น ข้างเหนียวทุเรียน หรือรับประทาน ในปริมาณที่ไม่มาก หลีกเลี่ยงผลไม้ที่มีรสหวานมากๆ เพราะน้ำตาลที่อยู่ในผลไม้จะทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นได้ โดยเฉพาะผลไม้ที่เป็นสีเหลืองเช่นทุเรียน มะม่วง ขนุน สับปะรด รวมทั้งองุ่น ควรรับประทานผลไม้เช่น มะละกอ ฝรั่ง ชมพู่ รับประทานผัก หรือในบางครั้งก็อาจจะรับประทานผลไม้และผัก ก่อนรับประทานอาหารหลัก จะช่วยทำให้เรารู้สึกอิ่มไวกว่าปกติ
* ท่านอน ห้ามนอนคว่ำ เพราะจะทำให้กระดูกสันหลังแอ่นมากที่สุด โดยเฉพาะระดับเอวทำให้ปวดหลังได้ ควรนอนตะแคงโดยให้ขาล่างเหยียดตรง เข่างอ สะโพกและเข่ากอดหมอนข้างไว้ เลือกที่นอนแบบแน่น ยุบตัวน้อย ไม่ควรใช้ฟูก ฟองน้ำหรือเตียงสปริง เพราะหลังจะจมอยู่ในแอ่งทำให้กระดูกสันหลังแอ่น จนทำให้เกิดอาการปวดหลังได้ และสำหรับท่านที่ชอบไปนวด ไม่ควรนอนคว่ำแล้วให้นวดหลังเพราะจะทำให้หลังแอ่นและมีอาการปวดเพิ่มมากยิ่งขึ้น
การใช้รองเท้าส้นสูง การยืนส้นสูงแบบเขย่งเท้าตลอดเวลาจะทำให้หลังแอ่นมากขึ้น น้ำหนักของร่างกายกระจายตัวผิดปกติ กล้ามเนื้อหลังเกร็งทำงานมากขึ้น ทำให้เกิดอาการปวดหลัง ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้รองเท้าส้นสูง
นอกจากนี้ การงดสูบบุหรี่ การออกกำลังกายที่ถูกวิธี และหลีกเลี่ยงการก้มตัวทำงาน เพราะจะทำให้กระดูกสันหลังบริเวณส่วนเอวรับน้ำหนักเพิ่มมากขึ้น และมีอาการปวดโดยเฉพาะท่านผู้สูงอายุ และโดยเฉพาะท่านที่เป็นโรคกระดูกพรุนร่วมด้วยควรต้องหลีกเลี่ยง เพราะในโรคกระดูกพรุนจะมีกระดูกที่บางตัวลง การก้มมากๆ อาจจะทำให้เกิดการยุบตัวของกระดูกสันหลังลงได้
อาการปวดหลังสามารถป้องกันและหลีกเลี่ยงได้ ถ้าหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่มีความเสี่ยง ก็จะทำให้ห่างไกลจากโรคปวดหลัง ชีวิตมีความสุขครับ