ปรับพฤติกรรม ‘ดื่มแล้วขับ’ ไม่ทำซ้ำ ลดอุบัติเหตุ
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
การศึกษาหลายเรื่องแสดงให้เห็นว่า การดื่มแอลกอฮอล์สัมพันธ์กับความเสี่ยงการเกิดโรค อุบัติเหตุ และสอดคล้องกับข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก ปี 2556 พบว่า คนไทยดื่มแอลกอฮอล์สูงเป็นอันดับที่ 3 ของทวีปเอเชีย ทำให้มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนเป็นอันดับ 3 ของโลก หรือเฉลี่ย 2 คนต่อชั่วโมง เกิดผลกระทบในสังคมตามมา เช่น ผู้พิการจากอุบัติเหตุ ครอบครัวแตกแยกจากการดื่มสุราจนขาดความรับผิดชอบต่อหน้าที่ และปัญหาครอบครัวขาดผู้นำ
ความเคลื่อนไหวจากศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) มูลนิธินโยบายถนนปลอดภัย (มนป.) สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่เห็นถึงความสำคัญได้ด้านการแก้ไขปัญหาการเกิดอุบัติเหตุและความปลอดภัยทางถนน มีการจัดงานสัมมนาระดับชาติ เรื่อง ความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 13 ภายใต้แนวคิด "ลงทุนเพื่อความปลอดภัยทางถนนที่ยั่งยืน" (Invest for Sustainable Road Safety) ระหว่างวันที่ 6-7 ธันวาคม 2560 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุม ไบเทค บางนา กรุงเทพฯ นับเป็นเวทีที่ได้ประโยชน์ มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย และนำเสนอผลงานวิจัยระดับชาติด้านวิชาการ ด้านวิจัย-โครงการ และนวัตกรรมของเยาวชนโดยเฉพาะ รวมถึงการมอบรางวัล Prime Minister Road Safety Awards เพื่อเป็นการให้กำลังใจแก่บุคคลและองค์กรที่ดำเนินงานด้านความปลอดภัยทางถนนของประเทศไทย ช่วยกันลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุ
ซึ่งมีเวทีเสวนาหัวข้อ "แนวทางการพัฒนาหลักสูตรอบรมเพื่อฟื้นฟูและปรับพฤติกรรมผู้กระทำผิดกฎหมาย กรณีดื่มแล้วขับ" มีจุดประสงค์เพื่อฟื้นฟูผู้ทำผิดกฎหมายเมาแล้วขับ นายพยนต์ สินธุนาวา รองอธิบดีกรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า โครงการ "ดื่มแล้วขับ ถูกจับคุมประพฤติ" กรมควบคุมความประพฤติ มีบทบาทหน้าที่และภารกิจที่สำคัญในการฟื้นฟูผู้กระทำผิดในชุมชน ซึ่งจะดำเนินการในส่วนของศาลที่สั่งให้มีการคุมประพฤติ และกำหนดเงื่อนไขการทำงานในคดีที่ผิดพระราชบัญญัติจราจรทางบก โดยเฉพาะการรณรงค์แก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดในคดีเมาแล้วขับ ซึ่งเป็นการนำมาตรการบังคับใช้กฎหมาย "คุมความประพฤติ" มาใช้ในการลดปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนน เช่น กรณีขับรถขณะเมาสุรา ผู้กระทำผิดต้องรายงานตัวเพื่อให้พนักงานควบคุมประพฤติได้สอบถามถึงพฤติกรรมเสี่ยงต่อการกระทำผิด ให้ผู้กระทำผิดทำงานบริการสังคม เพื่อกระตุ้นให้เกิดจิตสำนึก ให้เกิดความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม
นายพยนต์ อธิบายต่อว่า จากชุดข้อมูลของกรมคุมประพฤติ สถิติการขับรถขณะเมาสุราในปี 2558 มีผู้ที่พ้นการคุมประพฤติจำนวนทั้งหมด 46,494 คดี และนับตั้งแต่ปี 2558-2560 มีผู้ที่พ้นคดีแล้วกลับมากระทำผิดซ้ำ จำนวน 2,160 คน คิดเป็นร้อยละ 5 ในช่วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมายังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี ซึ่งในแต่ละปีมีคดีเข้าสู่การคุมความประพฤติเป็นจำนวนมาก รวมทั้งคดีเมาแล้วขับ โดยในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา คดีเมาแล้วขับมีจำนวนสูงขึ้นเป็นอันดับที่ 2 ของคดีทั้งหมดจากสถิติล่าสุดในช่วงปีใหม่
"ดังนั้น หน่วยงานต่างๆ ต้องให้ความร่วมมือกันในการสนับสนุน รวมทั้งเห็นความสำคัญในการแก้ไขปัญหาการเกิดอุบัติเหตุและความปลอดภัยทางถนน โดยผลักดันอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประเทศไทยสามารถลดจำนวนผู้กระทำผิดและลดปัญหาอุบัติเหตุทางถนนให้หมดไปได้" นายพยนต์ย้ำ
สำหรับกระบวนการคุมประพฤติกับผู้กระทำผิดประกอบด้วย การให้ความช่วยเหลือ แนะนำแนวทางการแก้ไข เพื่อลดอุบัติเหตุ และชี้ให้เห็นถึงผลกระทบที่ตามมาจากการดื่มสุรา พร้อมทั้งส่งเสริมให้ผู้ถูกคุมความประพฤติได้กลับตนเป็นพลเมืองดีโดยไม่หวนกลับไปกระทำความผิดซ้ำอีก แต่ต้องพิจารณาถึงความแตกต่างในด้านสถานะทางสังคม ประวัติส่วนตัว สภาวะอารมณ์ และฐานความผิดของผู้กระทำผิดด้วย จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขฟื้นฟูให้เหมาะสมตามความต้องการเป็นรายบุคคล เช่น การอบรมให้ความรู้ด้านกฎหมายที่เข้มงวดและจริงจังมากขึ้น เพื่อให้ผู้กระทำผิดเกิดความเกรงกลัว นอกจากนี้ยังมีการแก้ไขฟื้นฟูโดยใช้หลักธรรมทางศาสนา อาทิ อบรมธรรมะ เข้าค่ายจริยธรรม การบรรพชาและอุปสมบท สิ่งเหล่านี้จะช่วยขัดเกลาให้ผู้กระทำผิดไม่อยากกลับไปกระทำผิดซ้ำและเกรงกลัวต่อบาป มองเห็นความสุขในการทำความดีตอบแทนสังคมมากกว่าการดื่มสุราที่ไร้ซึ่งประโยชน์
ผศ.ดร.ทวีศักดิ์ แตะกระโทก คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ผู้ศึกษาโครงการศึกษาแนวทางพัฒนาหลักสูตรฟื้นฟูและปรับพฤติกรรม ผู้กระทำผิดกฎหมายกรณีเมาแล้วขับ ให้ข้อมูลว่า กระบวนการคุมประพฤติในต่างประเทศ สรุปผลจากการศึกษาบ่งชี้ว่า การคุมประพฤติเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการลงโทษ ซึ่งยังมีมาตรการอื่นๆ ที่ต้องใช้ประกอบกันเพื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้กระทำความผิด เช่น การตัดแต้ม ยึด-เบิกถอนใบขับขี่ ค่าปรับสูง การกักขัง การติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันเพิ่มเติม
"ประเทศไทยมีผู้ถูกคุมประพฤติทุกประเภทคดีมากถึง 431,000 รายต่อปี ขณะที่กรมคุมประพฤติมีเจ้าหน้าที่คุมประพฤติเพียง 4,470 คน ดังนั้นโจทย์ใหญ่ของการคุมประพฤติในประเทศไทยคือ การรับมือกับผู้ถูกคุมประพฤติจำนวนมากภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด และต้องทำอย่างมีคุณภาพ เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้กระทำผิด ดังนั้นจึงควรมีแนวทางเพื่อหนุนเสริมกระบวนการคุมประพฤติให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น เช่น ปรับเปลี่ยนภารกิจในการอบรม พัฒนาเครือข่ายภาครัฐ เอกชน ประชาสังคมในการทำกิจกรรมบริการสังคม" ผศ.ดร.ทวีศักดิ์ระบุ
แม้ว่าจะมีการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดมากขนาดไหน การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชนยังคงเป็นตัวแปรสำคัญในการลดอุบัติเหตุและความสูญเสียที่เกิดจากการดื่มสุราได้