ปรับพฤติกรรมขับขี่ สร้างถนนสายปลอดภัย ไร้เสี่ยงอุบัติเหตุ

เรื่องโดย : พงศ์ศุลี จีระวัฒนรักษ์ Team Content www.thaihealth.or.th

ข้อมูลจาก : ลงพื้นที่ของคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 1 งานบูรณาการความปลอดภัยทางถนน ณ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตำบลสุเทพ จ.เชียงใหม่ และศูนย์ปฏิบัติการจราจรตำรวจภูธร จ.เชียงใหม่ วันที่ 22 มกราคม 2567

ภาพโดย ฐิติชญา สัมปุรณะพันธุ์ Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ

                    WHO หรือองค์การอนามัยโลก เปิดรายงาน Global Status Reports on Road Safety 2023 พบ “อุบัติเหตุทางถนน” คร่าชีวิตคนทั่วโลก 1.19 ล้านราย สูญเสีย 63 ล้านล้านบาท ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในประเทศรายได้ต่ำและปานกลาง ขณะที่ประเทศไทยแม้แนวโน้มดีขึ้น แต่ยังห่างเป้าลดตายลง 50%

                    รายงานองค์การอนามัยโลกฉบับล่าสุด 2023 ดังกล่าวใช้ข้อมูล ปี 2021 พบว่า “คนไทยเสียชีวิต 18,218 ราย หรือคิดเป็น 25 ต่อแสนประชากร จากอุบัติเหตุทางถนน ติดอันดับที่ 18 ของโลก โดยมีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนประมาณ 25.4 คนต่อแสนประชากร ในขณะที่ผู้ขับขี่จักรยานยนต์ มีอัตราการสวมหมวกกันน็อกไม่ถึง 50% ของผู้ขับขี่…”

                    จากการลงพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ของ นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย ประธานกรรมการบริหารแผน คณะที่ 1 สสส. นำคณะบริหารแผนงานบูรณาการความปลอดภัยทางถนน ณ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตำบลสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ และ ศูนย์ปฏิบัติการจราจรตำรวจภูธร จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา กล่าวว่า

                    …ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่อันตรายมากเมื่อวัดจากสัดส่วนการเสียชีวิต จากอุบัติเหตุทางถนน ในรายงานระดับโลก ปี ค.ศ.2018 องค์การอนามัยโลกได้จัดให้ประเทศไทย มีอัตราการเสียชีวิต จากอุบัติเหตุทางถนนสูงสุดเป็นอันดับที่ 9 ของโลก โดยมีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 32.7 ต่อหนึ่งแสนประชากร …

                    เทียบได้ว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จะมีการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนทุกๆปี ราว 20,000 คน หรือมากกว่านั้น ส่วนอีกหลายพันคนได้รับบาดเจ็บสาหัสจนพิการไปตลอดชีวิต ล้วนเกิดจากพฤติกรรมเสี่ยงในการขับขี่ อาทิ โดยประมาท ไม่ชำนาญเส้นทาง ไม่รู้จักสภาพแวดล้อมของถนนดีพอ โดยเฉพาะการไม่สวมหมวกกันน็อก ที่พบว่ามีผู้ขับขี่จักรยานยนต์เพียงไม่ถึง 50% จากทั้งหมดที่สวมหมวกกันน็อกในการขับขี่

                    เพื่อลดความสูญเสียที่เกิดจากปัจจัยเสี่ยงบนท้องถนน สสส. จึงสานพลังภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ปลูกฝังพฤติกรรมการมีวินัย รู้กฎจราจรแก่เด็กปฐมวัย และมุ่งปรับพฤติกรรมการขับขี่ของผู้ใช้รถบนท้องถนน ผ่านศูนย์พัฒนาเด็กเล็กใน 4 ภูมิภาค 13 จังหวัดทั่วประเทศทั้งหมด 105 แห่ง

                    กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ สามารถปลูกจิตสำนึกสร้างวินัยจราจรให้กับเด็กปฐมวัย และยกระดับงานป้องกันอุบัติเหตุ ลดปัจจัยเสี่ยงทางท้องถนน สร้างตำบลขับขี่ปลอดภัยได้ถึง 21 ตำบล  ได้อย่างดี

                    ไม่เพียงเท่านั้น สสส. ยังร่วมสร้างวัฒนธรรมขับขี่ปลอดภัย ป้องกันด้วยมาตรการทางกฎหมายในการใช้กล้องวงจรปิด เพิ่มระบบ AI หรือปัญญาประดิษฐ์ ตรวจจับผู้ไม่สวมใส่หมวกกันน็อก พร้อมส่งใบสั่งเปรียบเทียบค่าปรับถึงบ้าน สามารถเปลี่ยนพฤติกรรม ลดอัตราสูญเสียจากการขับขี่ได้เป็นอย่างมาก

                    จากการแบ่งปันประสบการณ์ทำงาน ของ เทศบาลตำบลสุเทพ นายพศิน อัคเดชธนโชติ นายกเทศมนตรีตำบลสุเทพ จ.เชียงใหม่ บอกว่า ภายในเขตเทศบาลได้ติดตั้งเนินชะลอความเร็ว ปรับระบบสัญญาณจราจรไฟกระพริบ กระจกนูนสะท้อนบริเวณทางแยก ส่วนศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ก็มีการปลูกฝัง เรียนรู้ถึงกฎ วินัยจราจร โดยบูรณาการไปกับการใช้ในชีวิตประจำวันอีกด้วย

                    คุณครูอรชีรา อาศนะ ครูวิทยฐานะชำนาญการประจำศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลสุเทพ กล่าวด้วยความภาคภูมิใจ ว่า “ ในการจัดการจุดเสี่ยงศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก มีการสร้างความเข้าใจให้ผู้ปกครองได้ตระหนักและสร้างวินัยการสวมหมวกกันน็อกขณะเดินทางมารับ-ส่งด้วยจักรยานยนต์ หากไม่สวมหมวกกันน็อก ผู้ปกครองยินดีให้ปรับเงินตามข้อตกลง ทำให้เห็นพฤติกรรมเปลี่ยนไปเป็นสวมหมวกกันน็อกแบบ 100 %

                    นอกจากนี้ ยังมีแผนการเรียนการสอนวินัยจราจรที่สอดคล้องกับเนื้อหาตามชั้นเรียน มีวิทยากรจากกองงานจราจรตำรวจภูธร จ.เชียงใหม่ เข้ามาให้ความรู้ที่เด็กสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะเรื่องการข้ามถนน ที่จะต้องพบเจอในชีวิตประจำวันในอนาคต

                    ขณะที่การปรับพฤติกรรมสวมหมวกกันน็อกของผู้ขับขี่ด้วยมาตรการทางกฎหมาย นพ.ธีรวุฒิ โกมุทบุตร ที่ปรึกษา สอจร.ภาคเหนือตอนบน จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า จากข้อมูลสถิติปี 62 พบผู้ขับขี่เสียชีวิตในเขตอำเภอเมือง และอำเภอใกล้เคียง ส่วนใหญ่มาจากการดื่มแล้วขับ ไม่สวมหมวกกันน็อกและใช้ความเร็วเกินกฎหมายกำหนด

                    ที่สำคัญยิ่ง การไม่สวมหมวกกันน็อก พบว่ามีอัตราไม่เกิน 30% ของผู้ขับขี่ จึงจำเป็นต้องมีนวัตกรรมสำหรับปรับลดพฤติกรรมเสี่ยง ด้วยการใช้ระบบกล้องวงจรปิดในการตรวจจับผู้ขับขี่ พร้อมมาตรการทางกฎหมายส่งใบสั่งเปรียบเทียบปรับถึงบ้าน พบผลลัพธ์ประชาชนในพื้นที่สวมหมวกกันน็อก เพิ่มขึ้นกว่า 20% ภายใน 1 เดือน

                    ยืนยันจาก พ.ต.อ. ไพศาล นันตา รองผู้บังคับการตำรวจภูธร จ. เชียงใหม่ กล่าวว่า “เนื่องจากกลัวการถูกจับปรับ ประชาชนจึงปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหันมาสวมหมวกนิรภัยเพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่ อีกทั้งยังใช้โซเชียลมีเดีย สื่อสังคมออนไลน์ในพื้นที่นำเสนอ ทำให้สังคมเข้าใจถึงอันตรายและกฎหมายมากขึ้น ซึ่งสามารถลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ลดลงกว่า 50% เลยทีเดียว”

                    สสส. มุ่งเน้นการลดปัจจัยเสี่ยงบนท้องถนน เสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ ด้านการขับขี่ปลอดภัย เพื่อลดสูญเสียจากอุบัติเหตุ สร้างสังคมบนท้องถนนที่ดีต่อไป

 

Shares:
QR Code :
QR Code